หากกล่าวถึง “สหรัฐอเมริกา” กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยุโรปตะวันตก” แล้วหล่ะก็ อาจเปรียบเทียบว่า ไม่ผิดอะไรกับ “คอหอย” กับ “ลูกกระเดือก” เลยทีเดียว

อันมีความหมายว่า ใกล้ชิดสนิทสนมกันเป็นอย่างมาก นั่นเอง

โดยความเป็นพันธมิตรที่สนิทอย่างแนบแน่น ก็เริ่มมาตั้งแต่ช่วง “สงครามโลกครั้งที่ 1” แล้ว ที่สหรัฐฯ ส่งกองทัพเข้ามาร่วมรบ จนทำให้เหล่าชาติมหาอำนาจตะวันตก อันหมายถึง ประเทศในยุโรปตะวันตก ชนะสงครามโลกดังกล่าว

ตามมาด้วย “สงครามโลกครั้งที่ 2” ที่ปรากฏว่า สหรัฐฯ ยังคงกอดคอรบอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพของเหล่าชาติยุโรปตะวันตก จนส่งผลให้ได้ชัยในมหายุทธ์ดังกล่าวอีกคำรบ

แม้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นกันไปแล้ว สหรัฐฯ ก็ยังมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะในยามเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศอีกขั้วค่าย คือ โลกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่มีอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย เป็นผู้นำ สหรัฐฯ ก็มีบทบาทนำของกลุ่มโลกเสรีประชาธิปไตย ที่ส่วนใหญ่ประเทศระดับชั้นนำเหล่านี้ ก็อยู่ในพื้นที่ยุโรปตะวันตก

โดยสหรัฐฯ มีบทบาทนำและสำคัญในกลุ่มชาติมหาอำนาจยุโรปตะวันตกหลายประการ นับตั้งแต่เสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในองค์การระหว่างประเทศ อย่าง “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น”

องค์การความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศ ที่กล่าวกันว่า ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต เป็นต้น

การเสนอแผนการมาร์แชลล์ของสหรัฐฯ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก จากความเสียหายที่ได้รับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (Photo : AFP)

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็ยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศยุโรปตะวันตก หลังสงครามโลครั้งที่ 2 ยุติ นั่นคือ การนำดำเนินงานในแผนการที่เรียกว่า “แผนมาร์แชลล์” มาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปตะวันตก เศรษฐกิจกลับมาดีดังเดิม หวนกลับมาผงาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้อีกครั้ง เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันตะวันตก ก่อนรวมกับเยอรมันตะวันออก เป็นเยอรมนี อย่างทุกวันนี้ เป็นอาทิ

ส่งผลให้ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้รับความนิยมชมชอบจากบรรดาประเทศยุโรปตะวันตกเหล่านี้เป็นอย่างมาก

ทว่า หลังการตบเท้าเข้าสู่ทำเนียบขาว ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ที่ได้หวนมานั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ในสมัยที่ 2 สถานการณ์ก็ได้พลิกกลับตาลปัตรจากกาลก่อนแทบจะสิ้นเชิง

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ หารือผ่านทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (Photo : AFP)

จากยอดนิยมอยู่ดีๆ ก็กลายเป็นยอดยี้ด้วยความไม่ปลื้มที่มีต่อสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์เฉกเช่น ณ ชั่วโมงนี้

แถมมิหนำซ้ำ ความไม่ปลื้มที่ว่า ก็อาจจะหนักยิ่งกว่าเมื่อครั้งที่นายทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก คือ ระหว่างช่วงปี 2017 – 2021 (พ.ศ. 2560 – 2564) เสียอีก

ทั้งนี้ ก็ด้วยนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดำเนินไปในสมัยที่ 2 นี้ แม้เพียงเพิ่งเริ่มต้นการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้เอง เช่น นโยบายเกี่ยวกับการใช้กำแพงภาษีกับสินค้าของหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป ที่ปัจจุบันรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป หรืออียูแล้ว การดำเนินนโยบายในลักษณะคุกคามที่จะผนวกดินแดนอื่นๆ มาเป็นของสหรัฐฯ เช่น เกาะกรีนแลนด์ และแคนาดา ที่จะให้เป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ เป็นต้น

รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน และความพยายามที่จะไปฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัสเซีย ประเทศที่หลายชาติในยุโรป เห็นว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อภูมิภาค จากผลงานที่กรีธาทัพยกข้ามพรมแดนเข้ามารุกรานยูเครนเมื่อกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจนถึง ณ วินาที การสู้รบระหว่างกองทัพรัสเซียกับกองทัพยูเครน ก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยสถานการณ์และบรรยากาศของความไม่ปลื้มที่ผู้คนในหลายๆ ประเทศของภูมิภาคยุโรปมีต่อสหรัฐฯ ณ เวลานี้นั้น ก็ถึงขนาดสถาบันวิจัยได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็น หรือจัดทำโพลล์ออกมากันเลยทีเดียว

อาทิเช่น “ยูกอฟ” สถาบันวิจัยทางการตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตระดับนานาชาติ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนของประเทศชั้นนำของภูมิภาคยุโรป จำนวน 7 ประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้ได้ผลออกมาว่า ความเป็นปลื้มของชาวยุโรปที่มีต่อสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ ลดน้อยถอยลงกว่าแต่ก่อน จนต่ำกว่าร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

การแสดงออกถึงการสนับสนุนสหรัฐฯ และสเปน (Photo : AFP)

ไล่จากประเทศที่มีผู้ชื่นชอบสหรัฐฯ มากที่สุด ณ เวลานี้ ก็คือ “สเปน” แดนกระทิงดุ ที่ผลออกมาว่า มีผู้ที่ยังนิยมชมชอบต่อสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 43 ส่วนผู้ที่ไม่ปลื้มมีจำนวนที่ร้อยละ 49 และอีกร้อยละ 8 ไม่ขอแสดงความคิดเห็น

รองลงมาได้แก่ “อิตาลี” แดนมักกะโรนี ที่ปรากฏว่า ชาวอัสซูรี มีผู้ชื่นชอบต่อสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 42 แต่มีผู้ไม่ชอบน้อยกว่าสเปน ที่ร้อยละ 42 เท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ก็ยังถือว่า อิตาลีมีผู้ไม่ชื่นชอบสหรัฐฯ น้อยที่สุดในการสำรวจโพลล์ครั้งนี้อีกด้วย ส่วนผู้ที่ไม่ขอแสดงความคิดเห็นมีจำนวนที่ร้อยละ 17

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษ ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ และเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (Photo : AFP)

ตามมาด้วย “อังกฤษ” ประเทศที่แต่เก่าก่อนนับได้ว่า “คู่หู” ของสหรัฐฯ ขนานแท้ เพราะไปไหนไปกันในหลายเหตุการณ์โลก เช่น การร่วมทำสงครามอิรัก สงครามอัฟกานิสถาน เป็นต้น แต่ในการสำรวจโพลล์ครั้งนี้ ปรากฏว่า “อังกฤษ” มาเป็นอันดับ 3 ด้วยจำนวนผู้ที่นิยมชมชอบสหรัฐฯ เหลือเพียงร้อยละ 37 เท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ชื่นชอบก็มีมากกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 53 ซึ่งอาจเป็นด้วยในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ มีวิวาทะระหว่างผู้นำประเทศทั้งสองหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงรณรงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่นายทรัมป์กล่าวหาว่า พรรคแรงงาน อันเป็นพรรครัฐบาลของอังกฤษนั้น แทรกแซงเลือกตั้ง ส่วนผู้ที่ไม่ออกความเห็นในอังกฤษว่า ชอบหรือไม่ชอบนั้น มีจำนวนที่ร้อยละ 10

ขณะที่ ในการสำรวจโพลล์ที่ “ฝรั่งเศส” ปรากฏว่า มีผู้ชื่นชอบสหรัฐฯ จำนวนร้อยละ 34 ผู้ที่ไม่ชอบมีจำนวนร้อยละ 49 และร้อยละ 16 ไม่ขอออกความเห็น

ส่วนที่ “เยอรมนี” มีผู้นิยมชมชอบสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 32 ผู้ที่ไม่ปลื้มมีจำนวนร้อยละ 56 และร้อยละ 11 ไม่ขอออกความเห็น

ที่ “สวีเดน” มีผู้ชื่นชอบสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 29 ผู้ไม่ชอบที่ร้อยละ 63 และร้อยละ 8 ไม่ขอออกความเห็น

เกาะกรีนแลนด์ของเดนมาร์ก ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ สนใจอยากได้ครอบครอง จนสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเดนมาร์ก (Photo : AFP)

ปิดท้ายที่ “เดนมาร์ก” มีผู้ชอบสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุด และไม่ชอบที่ร้อยละ 74 มากที่สุดของการสำรวจครั้งนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะประเด็นเรื่องเกาะกรีนแลนด์ เขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก ที่ประธานาธิบดีทรัมป์หมายปอง ส่วนที่ไม่ออกความเห็นมีจำนวนที่ร้อยละ 7