วันที่ 21 มีนาคม 2568 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สรุปผลการดำเนินโครงการพัฒนาผู้ประกอบการสิ่งทอด้วยนวัตกรรมความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีด้านนาโน วัสดุ ชีวภาพ และอิเล็กทรอนิกส์ สู่อุตสาหกรรม S-Curve ba& New S-Curve T 67
นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนงาน Innovation Driven Enterprises (IDEs) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการดังกล่าวต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย โดยการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึงสนับสนุนทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่ง บพข.ได้ให้การสนับสนุนผ่านสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในฐานะผู้ให้คำแนะนำ และคัดเลือกผู้ประกอบการด้านสิ่งทอของไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีสากล
โดยปี 2567 มี 5 ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก ภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการสิ่งทอด้วยนวัตกรรมความยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีด้านนาโน วัสดุ ชีวภาพ และอิเล็กทรอนิกส์ สู่อุตสาหกรรม S-Curve ba& New S-Curve T 67 ซึ่งได้รับการส่งเสริมนวัตกรรมใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product Innovation) 2.นวัตกรรมกระบวนการผลิต (Process Innovation) 3.นวัตกรรมการตลาด (Market Innovation) และ 4.นวัตกรรมองค์กร (Organization Innovation) โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้ทั้ง 5 ผู้ประกอบการดังกล่าวสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
สำหรับแนวทางการคัดเลือก สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องพร้อมให้ความร่วมมือกับคณะทำงานที่เข้าไปสำรวจ เก็บข้อมูล เพื่อแนะนำความรู้และช่วยกันวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งด้านต่าง ๆ ของแต่ละบริษัท ก่อนนำมาวางแผนพัฒนาปรับเปลี่ยนร่วมกันตามระเบียบขั้นตอนต่อไป ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 230 บริษัท มีผู้ประกอบการหลากหลายด้าน สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความรู้อุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ร่วมกันได้ ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลายที่กำหนดขึ้น โดยเป้าหมายในปี 2568 อยู่ระหว่างพิจารณาผลักดันอุตสาหกรรมสิ่งทอให้สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยและด้านอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ รวมถึงอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องงบประมาณในการสนับสนุน
"ตั้งแต่ปี 2566 มีผู้ผ่านการคัดเลือกแล้วเกือบ 15 บริษัท แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ มีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีฐานนวัตกรรมขนาดใหญ่ (IDEs) เพิ่มขึ้น มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีรายได้สูงขึ้นกว่าร้อยละ 20 ภายใน 3 ปี และเติบโตสู่การมีรายได้ 1,000 ล้านบาทในอนาคต เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสู่ความยั่งยืนต่อไป"
ด้าน ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึงเป้าหมายในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยว่า ในฐานะคนกลางในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ได้รวบรวม ติดตามสถานการณ์อุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลกเพื่อฉายภาพให้เห็นความเคลื่อนไหวของตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างต่อเนื่อง โดยปี 2567 การส่งออกสิ่งทอไทยเพิ่มขึ้น 2.7% หรือ 6,196.7 ดอลลาร์สหรัฐ มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาณ 9% ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน ซึ่งการจะลดการนำเข้าได้ต้องพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยให้มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น จึงเป็นที่มาในการสนับสนุนงบประมาณจาก บพข. เพื่อให้สถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นผู้คัดเลือกบริษัทต่าง ๆ เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลก
โดยเฉพาะการสนับสนุนความรู้ในการพัฒนาธุรกิจบนโลกออนไลน์ เป็นสิ่งสำคัญมากในปัจจุบัน ซึ่งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอยังต้องปรับตัวในเรื่องนี้ เพื่อสามารถให้ความรู้ผู้ประกอบการได้ครบวงจร ไม่ใช่ให้ความรู้ในด้านเทคนิคและนวัตกรรมอย่างเดียว เป้าหมายของสถาบันสิ่งทอคือ การพัฒนาสถาบันให้เป็นหน่วยงานที่สามารถช่วยหาทางออก และให้คำแนะนำผู้ประกอบการได้ในทุกมิติตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกลวิธีทางการตลาดต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยให้เป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ซึ่งโลกของอุตสาหกรรมสิ่งทอไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเสื้อผ้า หากครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์ อุตสาหกรรมด้านความมั่นคง และด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น ถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการ แต่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ไม่ดำเนินการแบบเดิม เพื่อรองรับตลาดที่กว้างขึ้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และนำมาใช้เพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไ่ทย
นอกจากนี้ เป้าหมายของสถาบันสิ่งทอยังสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลด้วย เนื่องจากสถาบันสิ่งทอเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ รับหน้าที่ผลักดันด้านแฟชั่น ซึ่งเป็น 1 ใน 12 สาขาของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ โดยมุ่งเน้นผลักดัน 3 เรื่อง คือ 1.พัฒนาบุคลากร สนับสนุนความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจแฟชั่น 2.พัฒนาภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทย สร้างการรับรู้ไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นขยายตลาดต่างประเทศเป็นหลัก 3.เชื่อมโยงนักออกแบบไทยและต่างประเทศ โดยในปี 2568 สถาบันสิ่งทอจะมีโครงการเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นประมาณ 6 โครงการ สนับสนุนงานหัตถกรรม เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องประดับ
"ถือเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมแฟชั่น สร้างความตื่นตัวในการพัฒนาการออกแบบผ่านอัตลักษณ์ของไทย รวมถึงการใช้วัสดุที่ประเทศไทยมี เช่น เส้นใยสับปะรด เส้นใยกัญชง รวมถึงสีย้อมธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวมาประเทศไทย ก็ต้องการสินค้าที่ผลิตในไทย มีอัตลักษณ์อย่างไทย เชื่อว่าจะช่วยให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโตขึ้น" ดร.ชาญชัย กล่าว