วันที่ 21 มี.ค.68 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการฯ  นายแสวง  บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ให้สัมภาษณ์กรณีที่ถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ในการกำกับดูแลการจัดการเลือก สว.2567   ว่าตามที่สังคมเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าฮั้วหรือสมยอม  ซึ่งก่อนการเลือก สว.กกตได้ออกระเบียบให้แนะนำตัวเฉพาะทางเอกสาร ผู้สมัครไม่สามารถพูดคุยหรือขอคะแนนกันเองได้  และห้ามนำเอกสารเข้าสถานที่เลือก  แต่ในท้ายที่สุดศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าว ดังนั้นผู้สมัครทุกคน  จึงมีเสรีภาพตามคำพิพากษาศาลในการแนะนำตัวและนำเอกสารเข้าสถานที่เลือก   

นายแสวง  กล่าวต่อว่าเมื่อถามว่า กกต.ไม่ระงับยับยั้งเหตุการณ์ในวันที่มีการเลือกระดับประเทศ  ซึ่งศาลชี้เอาไว้ว่าสิ่งที่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย กกต.ไม่สามารถจะกระทำอันใดได้  โดยในวันเลือก กกต.ได้วางมาตรการป้องกันที่อาจจะเกิดเหตุไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มีการตั้งโต๊ะรับเรื่องคัดค้านกรณีที่มีการเห็นว่าอาจจะมีการกระทำที่ผิดปกติ ยืนยันการปฏิบัติหน้าที่สามารถตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดได้ ซึ่งในกรณีนี้มีคำร้อง กกต.มีคำวินิจฉัยแล้วและจะเผยแพร่คำวินิจฉัยในแอปพลิเคชั่นสมาร์ท โหวตวันนี้  

ส่วนข้อสังเกตการทำงานของ กกต.ในการตรวจสอบสำนวนล่าช้า  นายแสวง  กล่าวว่า มีสำนวน 577 เรื่อง  กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี   โดยพิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว 319 เรื่อง  พร้อมอธิบายว่าสำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาใน 2 ชั้น เรียกว่า 3+2 โดย 3 คือสำนวนปกติ  ซึ่งเป็นสำนวนเกี่ยวกับคุณสมบัติทั้งสิ้น  ส่วน 2 คือสำนวนพิเศษที่ตั้งรองเลขาธิการ กกต.กับตำรวจขึ้นมาดูแลเรื่องฮั้ว กับอีก 1 คณะที่ตั้งล่าสุด 2 คณะ  โดยคณะแรกดูเรื่องสำนวนฮั้วทั้งหมด  ส่วนคณะที่ 2 ดูเรื่องฮั้วที่รับมาจาก DSI  ในชั้นสอบสวนเหลือแค่นี้ 

ขณะที่ในชั้นสำนักงาน มี 77 เรื่อง คือสรุปสำนวนและทำความเห็นโดยเลขาธิการ กกต.  ซึ่งเลขา กกต.ก็ไม่ได้ทำสำนวนเองทุกสำนวน    เป็นหน้าที่ของรองเลขาธิการ กกต.ด้านการสืบสวนสอบสวน เป็นผู้ทำความเห็น  ขณะที่สำนวนนอกจากนั้นส่งไปให้คณะอนุวินิจฉัย 105 สำนวน และมีสำนวนที่อยู่ระหว่างการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. 60 สำนวน     เลขา กกต.มีหน้าที่เร่งรัดหากต้องทำสำนวนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี  

เลขาฯกกต. ยังชี้แจงย้ำว่า ผู้สมัครสามารถนำโพยเข้าไปได้  สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง และในทางปฏิบัติ  เมื่อมีโพยเข้าไปในสถานที่เลือก ศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่มีความผิด แต่ว่าเหตุของการเกิดโพย อาจเป็นความผิดได้ เป็นอีกการกระทำหนึ่ง 

"โพยอาจเป็นเรื่องของผู้มีสิทธิเลือก หรือบันทึกช่วยจำ เขาศึกษาจากเอกสารแนะนำตัว สว.3  เพราะการเลือกไม่ได้กากบาท เหมือนกันเลือกตั้ง สส. หมายเลขต้องเขียนเอง   เลือกรอบแรกต้องเขียน 40 คน ซึ่งบางคนอาจจะจำไม่ได้ มาจากต่างจังหวัด  ศาลคงเห็นตรงนี้ ถึงยกเลิกระเบียบ กกต.และให้สามารถนำเอกสารเข้าไปได้ " นายแสวง กล่าว 

เมื่อถามว่า กกต.ไม่ได้ระงับยับยั้ง  นายแสวง  กล่าวว่าอำนาจนั้น ไม่ใช่อำนาจของเลขาธิการ กกต. โดยเป็นอำนาจของ กกต. และศาลชี้ว่าการใช้อำนาจระงับยับยั้ง  ต้องมีมูลฐานข้อเท็จจริง มีหลักฐานอันควรสงสัย หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า โพยนั้นเกิดจากการกระทำผิดหรือไม่ การกระทำผิดจากโพยเกิดจากข้างนอก ต้องมีหลักฐาน   ในวันเลือกช่วงเช้าไม่มีใครรู้จักโพย และ กกต.ก็ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง  จากนั้นมีคนสงสัยว่าอาจมีโพย ทำให้การเลือกไม่สุจริต กกต.ก็ระงับยับยั้ง โดยให้เลขาธิการ กกต.ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยประกาศว่าห้ามนำเอกสารเข้าไปในสถานที่เลือกในช่วงบ่ายหรือรอบเลือกไขว้ 

เมื่อถามว่ากลุ่ม สว.สำรองอ้างว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งได้รับข้อมูลในวันเลือก สว.ว่ามีการทุจริตเลือกและได้แจ้งเลขาธิการ กกต.แล้ว  นายแสวง กล่าวย้ำว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ดูในคำวินิจฉัยของ กกต.ที่จะเผยแพร่ในวันนี้  ซึ่งข้อเท็จจริงจะบอกว่าใครให้การอย่างไรบ้าง ทั้งนี้นายแสวงปฏิเสธให้ความเห็นว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเลือก สว.หรือไม่ เพียงแต่ย้ำว่า กกต.ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย