เรียกจนฮิตติดปาก คุ้นลิ้น กันไปแล้ว สำหรับ “พีเอ็ม2จุด5 (PM2.5)” อันหมายถึง “ค่าฝุ่นละออง” ที่มี “ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน” ของสภาพอากาศเมืองไทยเรา ในหลายพื้นที่ ที่หลายฝ่ายส่งเสียงเพรียกเตือนว่า เป็น ปัญหามลภาวะทางอากาศ ณ ชั่วโมงนี้ โดยขนาดที่ว่า ก็กล่าวกันว่า หน้ากากอนามัยธรรมดาๆ นั้น “กรอง” กันไม่อยู่ ต้องใช้หน้ากากอนามัยที่มีศักยภาพด้านการกรองฝุ่นละอองละเอียดอย่างชนิดพิเศษโดยเฉพาะจึงจะเอาอยู่ ซึ่งก็มาพร้อมกับคำเตือนถึงพิษภัยที่มีต่อสุขภาพของประชาชนคนในพื้นที่ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหามลภาวะทางอากาศดังกล่าว ทั้งนี้ ปัญหามลภาวะทางอากาศข้างต้น ก็มิใช่ไทยเราเท่านั้นที่เผชิญ แต่ยังมีพื้นที่อีกหลายเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองใหญ่ ชุมชนเมือง นครหลวงหลายแห่ง ในประเทศต่างๆ ก็ผจญชะตากรรมเฉกเช่นไทยเรา โดยบางแห่งหนักหนาสาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่า อาทิ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน และกรุงนิวเดลี นครหลวงของอินเดีย โดยเฉพาะที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทางอากาศ ระบุว่า เลวร้ายเสียยิ่งกว่ากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยเราเป็นไหนๆ โดยมีค่าเฉลี่ยของ “ค่าฝุ่นละออง” หรือ “พีเอ็ม” ทั้งปีสูงถึง 85ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเทียบได้กับการสูบบุหรี่ถึงวันละ 4 มวนต่อวัน กันเลยทีเดียว ขณะที่ ในกรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรของไทยเรา ในพื้นที่ 17 แห่ง อยู่ที่ 56 – 99 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งแม้บางพื้นที่มีตัวเลขมากกว่าแต่ก็มิใช่ตลอดทั้งปี แตกต่างจากกรุงปักกิ่ง ทว่า ถึงกระนั้นการออกนอกเคหสถานในพื้นที่ดังกล่าว ก็ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยศักยภาพสูงสำหรับป้องกัน ส่วนเมืองใหญ่ๆ นครเอกของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ที่กรุงลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษ และเมืองซอล์คเลคซิตี รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เป็นต้น ก็ได้รับรายงานว่า เผชิญพิษภัยของมลภาวะทางอากาศ ที่หลายหน่วยงานต้องส่งเสียงเพรียกเตือนเช่นกัน ที่ผ่านมา ปัญหามลภาวะทางอากาศ ก็ได้รับการเตือนจาก “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่มักเรียกกันสั้นว่า “ฮู” ระบุให้เป็น “มหันตภัยร้าย มฤตยูเงียบ” ที่คร่าชีวิตประชากรโลกในแต่ละปี มากที่สุดปัญหาหนึ่ง โดยระบุตัวเลขว่า 7 ล้านคนที่ถูกมลภาวะทางอากาศปลิดชีวิตกันในแต่ละปี หรือคิดเป็น 1 ใน 9 ของสาเหตุของการเสียชีวิตในประชากรทั่วโลก ด้วยความที่เป็นมหันตภัยร้ายมฤตยูเงียบของปัญหามลภาวะทางอากาศข้างต้น ก็ถึงกับทำให้สำนักงานอัยการของบางประเทศ ได้แก่ อังกฤษ กำหนดให้มลภาวะทางอากาศระดับที่สูงเป็นสิ่งผิดกฎหมายกันเลยทีเดียว ถึงขนาดเปิดการสอบสวนกันใหม่ในกรณีของการเสียชีวิตของเด็กหญิงวัย 9 ขวบรายหนึ่ง ซึ่งถูกระบุว่า เพราะมีสาเหตุมาจากปัญหามลภาวะทางอากาศกันมาแล้ว ขณะที่ ทางฟากฝั่งสหรัฐฯ ล่าสุด โดย “มหาวิทยาลัยยูทาห์” รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐฯ ก็มีบทรายงานการศึกษาวิจัยออกมาว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศ สร้างอากาศที่เป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ จนอาจก่อให้เกิดการ “คลอดก่อนกำหนด” หรือถึงขั้น “แท้งลูก” ได้ พอๆ กับการสูบบุหรี่เลยทีเดียว เรียกว่า เสี่ยงเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ กันโดยแท้ สตรีกำลังตั้งครรภ์ รายงานของ “มหาวิทยาลัยยูทาห์” ยังระบุด้วยว่า ทารกที่คลอดออกมาก่อนกำหนด อันเป็นผลสืบเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหามลภาวะทางอากาศนั้น น้ำหนักตัวช่วงแรกเกิด ก็ “น้อยกว่าปกติ” อีกด้วย สอดรับกับผลการศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่พบว่า อนุภาคฝุ่นละอองจากอากาศที่เป็นพิษนั้น ส่งผลกระทบต่อทารกอย่างแน่นอน โดยคณะผู้ศึกษาวิจัยพบอนุภาคของฝุ่นละอองข้างต้นที่บริเวณ “รก” ในครรภ์ของมารดา ที่อยู่ในพื้นที่มีปัญหามลภาวะทางอากาศระดับรุนแรง ทารกในครรภ์และสายรก พร้อมแสดงตัวเลขของสตรีมีครรภ์ที่คลอดบุตรก่อนกำหนด เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหามลภาวะทางอากาศด้วยว่า มีมากกว่า 1,300 ราย นับตั้งแต่การศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2558 เปรียบเทียบกับสตรีมีครรภ์ที่พำนักอาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีมลภาวะทางอากาศในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ควันบุหรี่กับผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ในการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยยูทาห์ ยังเผยด้วยว่า “ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์” ซึ่งถูกปล่อยออกมาจากการเผาผลาญของน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลที่ใช้เคื่องยนต์ดีเซล เป็นภัยร้ายต่อทารกในครรภ์ระดับต้นๆ เช่นเดียวกับควันบุหรี่ โดยพบว่า ก๊าซมรณะที่ว่า เพิ่มความเสี่ยงการแท้งของทารกใครรภ์มากขึ้นถึงร้อยละ 16 ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องผลกระทบจากก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยออกมา ในหลายประเทศ เช่น ที่เยอรมนี ก็ได้เคยมีการรณรงค์ต่อต้านกันมาแล้ว การรณรงค์ต่อต้านการใช้เครื่องยนต์ดีเซล เพราะปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งของมหาวิทยาลัยยูทาห์ ตลอดจนสถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ เป็นต้น ได้เรียกร้องให้ทางการของประเทศต่างๆ เร่งคลอดมาตรการสำหรับแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศข้างต้นโดยเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม นักวิชาการที่นำการศึกษาวิจัยข้างต้นอีกส่วนหนึ่ง อย่าง ดร.แมทธิว ฟูลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยยูทาห์ ดูท่าจะหมดหวังต่อทางการในหลายประเทศ ก็ได้แนะนำแก่ครอบครัวที่ต้องการจะมีบุตรว่า คำนวณช่วงเวลาการตั้งครรภ์ให้ดีๆ “หลีกเลี่ยง” การตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่ปัญหามลภาวะทางอากาศกำลังรุนแรงอย่างในช่วงฤดูหนาวที่อากาศแห้งๆ ที่กำลังเป็นอยู่นี้ เพื่อสวัสดิภาพของทารกในครรภ์กันให้รู้แล้วรู้รอด