ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองของรัฐบาล “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร ที่มีคิวขึ้นเขียงของฝ่ายค้านในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 24-25 มีนาคม2568 ที่เริ่มเผาหัวกันด้วยอาการงึกๆงักๆชิงไหวชิงพริบกันในเรื่องเนื้อหาในญัตติและกรอบเวลาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านกำลังคุกรุ่น เหมือนโหมโรงเร้าอารมณ์คนดูอยู่นั้น

พลัน“นายใหญ่”ทักษิณ ชินวัตร ก็ไอเดียบรรเจิดล่าสุด  ซื้อหนี้ประชาชนออกจากระบบธนาคาร บนเวทีปราศรัยกับมวลชนคนเสื้อแดง ระหว่างไปช่วยหาเสียงนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ของผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ก็กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ลือลั่นสั่นสะเทือนทั้งแวดวงการเมืองและเศรษฐกิจ ช่วงชิงพื้นที่กลบทุกกระแสมาโฟกัสที่อดีตนายกรัฐมนตรีผู้พ่อเกือบหมด

“วันนี้หนี้ครัวเรือนเยอะเหลือเกิน จึงคิดกันว่าจะซื้อหนี้ทั้งหมด โดยการซื้อหนี้ของประชาชนออกจากระบบธนาคารดีหรือไม่ แล้วให้ประชาชนค่อยๆ ผ่อน ไม่ต้องชำระเต็มจำนวนแล้วให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ยกจากเครดิตบูโรให้หมด ให้เป็นคนบริสุทธิ์ผุดผ่องทำมาหากินใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องใช้เงินรัฐสักบาท เพราะผมสามารถให้เอกชนลงทุน” ทักษิณ ระบุ (17 มีนาคม 2568 ที่อาคารหอประชุมอนุสรณ์ 100 ปี  มหาวิทยาลัยพิษณุโลก อ.เมือง จ.พิษณุโลก)

บางช่วงบางตอนจากการปราศรัย แม้จะยังไม่มีรายละเอียดของโครงการว่าจะเป็นอย่างไร แต่ก็จุดประกายความหวังและเรียกเสียงปรบมือจากมวลชนได้ไม่น้อย

ด้วยในทุกครั้งที่ “นายใหญ่”โชว์สารพัดไอเดียในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยย่อมจะขานรับไอเดียดังกล่าวนำไปสู่นโยบายรัฐบาลและการปฏิบัติ ซึ่งแนวทางการให้เอกชนมาซื้อหนี้ประชาชนนี้ ก็มีความเคลื่อนไหวของ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่รับเอาแนวคิดของ “ทักษิณ” ไปหารือกับสมาคมธนาคารไทยแล้ว

 ขณะที่ “นายกฯอิ๊งค์” ก็ออกมาอธิบายถึงที่มาไอเดียซื้อหนี้ประชาชน ว่ามาจากประสบการณ์ของ “ทักษิณ”ที่เป็นนักธุรกิจมาก่อน และเป็นนายกฯมา 6 ปี

“ความจริงเราก็คุยเรื่องนี้กันมาอยู่แล้ว ซึ่งท่านก็เป็นคนสนใจเรื่องเศรษฐกิจ ท่านมองเห็นปัญหาเรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประชาชน ฉะนั้นท่านก็หาทางช่วยว่ามีอะไรบ้างที่จะสามารถคิดขึ้นมาได้ แต่แน่นอนว่าเป็นความคิด ของคนที่หวังดีกับประเทศ อย่าเพิ่งเล่นประเด็นการเมือง แต่ถ้ามองในทางการเมืองกระบวนการกว่าจะผ่าน จะต้องพูดคุยกัน นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเข้าที่ประชุมสภา มันมีอีกเยอะ มันไม่ใช่การครอบงำอะไร เป็นความคิดของคนที่มีความรู้เท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อจุดไอเดียดังกล่าวขึ้นมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายมองว่า นโยบายนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางที่เคยถูกนำเสนอหรือดำเนินการมาแล้วในอดีตในหลายรูปแบบ เช่น พักชำระหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน และโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ต่าง ๆ เข้าตำรา “ฉายหนังเก่า” วนซ้ำเดิมๆ ที่ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า  เป็นเพียงการนำไอเดียเก่ามาปรับปรุงต่อยอด เพื่อสร้างกระแสทางการเมือง หรือ “หาเสียง” มากกว่าจะมีแผนปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

อีกทั้งการซื้อหนี้  อาจช่วยแก้ไขปัญหา หรือลดภาระในระยะสั้น แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น รายได้ประชาชนที่ต่ำ วินัยแก้ปัญหาทางโครงสร้าง เช่น รายได้ประชาชนต่ำ วินัยทางการเงิน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ที่สำคัญการซื้อหนี้ ถูกกังขาว่าเป็นเพียงการ “ย้ายหนี้” ซึ่งปัจจุบันก็มีเอกชนดำเนินการรับหนี้เสียมาบริหารจากธนาคารอยู่แล้ว

ขณะที่อีกด้านหนึ่งมองว่า แม้จะเป็น “หนังเก่า” หรือเป็นแนวคิดที่มีมาก่อน แต่ยังมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในระดับสูง การกลับมาพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และสามารถนำมาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาได้

รศ.ดร.วิชัย วิทยาเกียรติเลิศ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า นโยบายซื้อหนี้เปรียบเสมือนดาบสองคม กล่าวคือหากดำเนินการได้ถูกทางก็จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้จริง จะช่วยลดภาระงบประมาณและหนี้สาธารณะ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งยังเปิดโอกาสให้ประชาชนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือจำเป็นต้องมีตัวเลข มีความโปร่งใส และมีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้

“เปรียบให้เห็นภาพจากฐานคิดในกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้ามารับซื้อ NPL จากธนาคารและสถาบันการเงินในราคาที่ลดลงเฉลี่ย 35% ของยอดหนี้ที่รับซื้อ ซึ่งเป็นตามกลไกตลาดปกติของการรับซื้อ NPL จะสามารถนำเงินเข้าสู่ระบบได้ 1 – 2.1 แสนล้านบาท และช่วยดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า เป็นจำนวนเงินราว 1.6 – 3.2 แสนล้านบาท ทั้งยังช่วยลด NPL ได้ถึง 50%-100%” รศ.ดร.วิชัย กล่าว

รศ.ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะหากรัฐบาลแก้เฉพาะหนี้โดยไม่แก้ไขพฤติกรรมทางการเงินของประชาชนด้วย เราจะเห็นปัญหาเดิมกลับมา นั่นคือพักหนี้-รีไฟแนนซ์แล้วก็จะกลับมาเป็นหนี้อีก ตรงนี้จะกลายเป็นกับดักหนี้ซ้ำซาก ซึ่งตัวอย่างจากหลายประเทศชัดเจนว่ามาตรการแบบนี้ถ้าไม่มีวินัยทางการเงินคู่ขนานด้วยแล้วก็จะล้มเหลว เช่น โครงการพักหนี้เกษตรกร หรือคลินิกแก้หนี้ที่ช่วยได้แค่ 3.2 ล้านคนจากจำนวนคนไทยที่เป็นหนี้กว่า 25.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ทั้งนั้น “หนังเก่า” จากเจ้าของหนังคนเดิม ยังต้องใช้เวลาอีกนาน กว่ากระบวนการตกผลึกและรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง กว่าจะออกมาเป็นมาตรการของรัฐบาล หรือได้ออกฉายหรือไม่ และเมื่อไหร่ ยังไม่มีใครล่วงรู้ได้

กระนั้นก็สะท้อนถึงภาวะ “เลือดเข้าตา” ของนายใหญ่ ที่พยายามพลิกตำราหากลเม็ดเด็ดพราย เพื่อซื้อเวลาต่อวีซ่าให้รัฐบาลแพทองธาร