กำลังเป็นที่จับตามองว่า “คณะกรรมการ ปชด."คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนกับระเทศเพื่อนบ้าน ที่นางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ แต่งตั้ง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 83/2568 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
ที่มี “บิ๊กอ๊อบ” พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ยั่งยืน ได้หรือ ไม่ หรือแค่ตั้งขึ้นมา เพื่ออำนวยการในการส่งกลับชาวต่างชาติที่ เป็นเหยื่อ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากเมียนมา กลับประเทศเท่านั้นและจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน
แต่สำหรับ พล.อ.ทรงวิทย์ แล้ว ได้ประกาศ ในที่ประชุม ศอ.ปชด. และในการลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยมชายแดน และหน่วย ว่า ปัญหามีมากมาย แต่ ศอ.ปชด.ต้องทำหน้าที่เป็น“สะพาน“ เชื่อมทุกคน ทุกหน่วย เพื่อนำพา“ประชาชนที่เดือดร้อน” ข้ามแม่น้ำนี้ ไปให้ได้ และตั้งใจที่จะแก้ปัญหาชายแดนแม้จะเหลือเวลาอีกแค่ 6 เดือน ก็จะเกษียณราชการแล้วก็ตาม
โดยจะเห็นได้ว่า พล.อ. ทรงวิทย์ ได้มีการวางตัวนายทหารรุ่นต่อไปที่จะมาดูแลต่อ เช่น การให้ “บิ๊กหยอย” พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 ที่ถูกคาดหมายว่าจะขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด คนต่อไปหลัง ตุลาคม 2568 นี้ และมีอายุราชการถึงตุลาคม 2570 ได้รับไม้ต่อ โดยในโครงสร้าง มี รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็น รองประธานกรรมการ ศอ.ปชด. อยู่ด้วย และมอบหมาย ให้รับหน้าที่หัวหน้า ศอ.ปชด.ส่วนหน้า ที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก เลย
และยังให้ “บิ๊กปั้น” พล.อ.ไพบูลย์ วรวรรณปรีชา รองเสนาธิการทหารเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 อีกคน มาเป็นรอง หน.ศอ.ปชด. ส่วนหน้า ช่วยงานอีกคน โดยคาดหมายว่าพล.อ.ไพบูลย์ ก็อาจจะได้เป็น เสนาธิการทหารคนต่อไป แทนพล.อ.มนัส จันดี เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 ที่จะเกษียณราชการ พร้อมพล.อ.ทรงวิทย์
รวมทั้งได้วางตัวนายทหารชั้นนายพล คนรุ่นใหม่และพันเอกพิเศษ มาช่วยงาน อีกหลายคน เพื่อเตรียมสานงานต่อ
พล.อ.ทรงวิทย์ ตั้งใจว่าในเวลาที่เหลืออยู่ของอายุราชการจะทุ่มเทกับการแก้ปัญหาชายแดนทุกด้าน จะเห็นได้ว่ามีการลงพื้นที่ชายแดนต่อเนื่อง ให้ครบทั่วทุกภาคทุก 7 กองกำลังป้องกัน ชายแดน ทั้งของกองทัพบก และกองทัพเรือ
ทั้งชายแดนไทย- เมียนมา ไทย-กัมพูชา และไทย- ลาว ทั้งบนบกในน้ำและบนอากาศ ซึ่งรวมถึงการขึ้นบินเป็นนักบินที่ 2 บนเครื่องบินโจมตี AR6 ของกองทัพอากาศ. ที่กองบิน41 เชียงใหม่ พร้อมด้วย “บิ๊กไก่” พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 ที่นั่งอีกลำหนึ่งบินทดสอบระบบต่างๆของเครื่องบิน และถ่ายภาพกลางอากาศด้วยกล้องที่มีสมรรถนะสูง ทำการบินลาดตระเวนชายแดนด้วยตนเอง รวมทั้งการลงเรือ นรข. ในเวลากลางคืน ดู ปัญหาในการปฏิบัติงานของกำลังพล
นอกจากนั้น ยังได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ ทั้ง “บิ๊กปู” พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก “บิ๊กแมว” พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ “บิ๊กไก่” พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ให้เข้ามาร่วมซัปพอร์ต ในศอ.ปชด. ด้วยตนเอง เพราะตามโครงสร้างจะมีแค่ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตัวแทนเหล่าทัพ เท่านั้น
จนที่สุดมีการออกแบบโครงสร้าง ศอ.ปชด. ด้วยการตั้งหน่วยเฉพาะกิจ (ฉก.) ขึ้นมาทั้งในส่วนของตำรวจ ในเรื่องคดีอาชญากรรมคดีชายแดน โดยเฉพาะ
โดยเฉพาะ ให้ “บิ๊กหวาน” พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าทีม ต่างๆ ในส่วนของตำรวจ
ทั้งนี้ รายงานว่า พล.อ.ทรงวิทย์ ได้พูดคุยกับ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผบ.ตร. แล้ว รวมถึงปัญหาเรื่อง ไทยเทาและเจ้าหน้าที่เทา ที่ทางผบ.ตร. ยืนยันว่า เป็นมิติใหม่ของตำรวจที่จะไม่มีเรื่องสีเทา และจะจัดการอย่างจริงจัง เด็ดขาด
ท่ามกลางการถูกจับตามองว่าการที่รัฐบาลทั้ง นายกฯ แพทองธาร “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม รวมถึง “บิ๊กแป๊ะ” พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรี กลาโหม ไว้วางใจมอบให้ พล.อ.ทรงวิทย์ และกองทัพ เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ก็เพื่อที่จะมาจัดการเครือข่าย ส่วยสีเทา ที่ชายแดนด้วย
ขณะที่กองทัพบก พล.อ.พนา มาคุมเอง โดยตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 331 (ฉก.331) กองทัพเรือ ตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 332 และกองทัพอากาศเป็นหน่วยเฉพาะกิจ 333
นอกจากนั้น ยังมีการตั้งหน่วยเฉพาะกิจของหน่วยปฏิบัติการพิเศษของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายสากล (ศตก.) เป็นหน่วยเฉพาะกิจ 88 ด้วยเพราะตามโครงสร้างของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายสากล แล้วจะมีหน่วยรบพิเศษ หน่วยปฏิบัติการพิเศษของทัพและตำรวจร่วมอยู่ด้วย
ตามโครงสร้าง ศอ.ปชด.แล้วมีทั้ง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผบ.ทบ. ผบ.ตร. และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็น รองประธานกรรมการ และ ผู้ที่ได้รับมอบหมาย จาก สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กลาโหม กระทรวงการคลัง ก.ต่างประเทศ ก.พัฒนาสังคม ฯ ก.ดิจิทัลฯ, ก.ยุติธรรม ,ก.สาธารณสุข, กองทัพเรือ .กองทัพอากาศ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ กองทัพภาคที่เกี่ยวข้อง โดยมี เสนาธิการทหาร, รองเสนาธิการทหาร ที่ได้รับมอบหมาย เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร และผู้อำนวยการกองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวม 26 คน ซึ่งนับว่า ครอบคลุมทุกหน่วย ทุกส่วนราชการ
หากเปรียบเทียบ ก็เสมือนว่า เป็น ครม.ส่วนหน้า ครม.ฉุกเฉิน เพราะมีตัวแทนทุกกระทรวง ที่มอบให้ ผบ.ทหารสูงสุด ฝ่ายกองทัพ เป็นกำลังหลัก ถือเป็นโครงสร้างพิเศษ และเป็นเสมือนการจำลองการรบ หากเกิดสถานการณ์วิกฤต ขึ้นในด้านต่างๆ ก็สามารถใช้โครงสร้างนี้ ในการแก้ปัญหาได้
เพราะการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในฝั่งเมียนมา คงไม่จบง่ายๆ แม้จะมีการส่งเหยื่อกลับประเทศจนหมด ในอนาคตก็ตามก็ต้องรอดูว่าจะกลับมาใหม่หรือไม่ และยังต้องตามไปแก้ในด้านชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งถือเป็นรังใหญ่ของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงคนไทย โดยเฉพาะ
ส่วนปัญหาอื่นๆเช่นยาเสพติด การค้ามนุษย์ และสิ่งผิดกฎหมายก็คงไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่อย่างน้อย พล.อ.ทรงวิทย์ ก็อาจจะได้ทำหน้าที่สำคัญ ในการวางรากฐานวางแนวปฏิบัติของ ศอ.ปชด. ในการแก้ปัญหาต่อไปในอนาคตเพราะอาจเป็นโครงสร้างเฉพาะกิจ ที่อาจจะมีไปยาวนาน
แต่ก็น่าจับตามองว่า หาก พล.อ.ทรงวิทย์ เกษียณราชการไปแล้วความเข้มข้น ศอ.ปชด. นี้ จะต่อเนื่องหรือไม่ เราต้องยอมรับว่าการที่ รัฐบาลแต่งตั้งพล.อ.ทรงวิทย์ เพราะมีความไว้ใจทั้งในแง่ภาพลักษณ์ ของการเป็นนายทหารรุ่นใหม่ ความคิดสมัยใหม่ เรียนจบสหรัฐฯ และสายสัมพันธ์ที่รู้จักใกล้ชิดกับ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ รวมถึงนายกฯแพทองธาร และนายภูมิธรรม อีกทั้งการเป็น ผบ.เหล่าทัพที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ผู้บัญชาการเหล่าทัพคนอื่นๆ รวมทั้งนายทหารในกองทัพและตำรวจ จึงทำให้ พล.อ.ทรงวิทย์เป็นตัวเลือกที่ลงตัวในสายตารัฐบาลพรรคเพื่อไทยและนายภูมิธรรม ที่คุมความมั่นคง
จนมีการจับตามองไปถึงอนาคตหลังเกษียณราชการของ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่แม้จะไม่สามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี เนื่องจากเป็นสมาชิกวุฒิสภา โดยตำแหน่ง แต่อาจจะถูกดึงตัวไปช่วยงานในด้านความมั่นคงที่ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมืองได้
จากนั้น เมื่อ พ้นวาระทางการเมือง 11 พฤษภาคม 2569 ชื่อของ พล.อ. ทรงวิทย์ จะปรากฏใน คณะรัฐมนตรี หรือไม่ แต่ก็เหลือเวลาของรัฐบาลนี้ แค่ปี 2570 เท่านั้น แม้ว่า พล.อ.ทรงวิทย์เอง จะไม่เคยคิดที่จะเข้าสู่สนามการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็ตาม
ในยามที่ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามที่จะหาแนวร่วมฝ่ายทหารมาซัปพอร์ต หลังจากที่ทิ้งระยะห่างจากกองทัพไปนานตั้งแต่สมัยเตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนร่วมรุ่นของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร เมื่อก่อนการรัฐประหาร 2549 เลยทีเดียว
แถมมี พรบ.กลาโหม 2551 ที่อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล อยู่ที่ บอร์ด7 เสือกลาโหม จนทำให้ฝ่ายการเมือง ไม่สามารถแทรกแซง ได้เลยมายาวนาน พรรคเพื่อไทย จึงยากที่จะ แต่งตั้งนายทหาร ที่ใกล้ชิดลงตำแหน่งสำคัญ ได้ ยาก จึงต้องค่อยๆ ซึมลึก วัดใจ พิสูจน์ใจกันไป ในกองทัพ
โดยมี ภูมิธรรม เป็นแม่ทัพใหญ่ เพื่อไทยในการดูแลกองทัพและสร้างแนวร่วมให้มากขึ้นๆ เพราะมีแนวโน้มว่านายภูมิธรรมจะนั่งคุมกลาโหมแบบนี้ยาวโดยไม่มีใครมาแย่งเก้าอี้ สนามไชย1 ไปได้ตลอดรัฐบาลนี้