“อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด” อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ แห้งหนัก หลายจุดตื้นเขิน เนินดินโผล่ ลงไปเดินได้ เริ่มส่งผลกระทบชาวบ้าน เดือดร้อนไม่มีแหล่งน้ำเพาะปลูกพืช และไม่มีกุ้ง หอย ปู ปลา ให้จับขายได้เหมือนก่อน ได้แค่พอกินประทังชีวิตไปวันๆ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไข

วันที่ 21 มี.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสภาพความแห้งแล้งที่ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องประกอบกับช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีฝนตกลงน้อย ส่งผลให้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ต.สะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญที่ใช้ผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ 

ที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงเขตตัวเมืองบุรีรัมย์ และผลิตประปาหลายหมู่บ้าน รวมทั้งทำการเกษตร และประมงพื้นบ้าน ได้เกิดวิกฤตแห้งขอดสุดในรอบหลายปี ซึ่งปัจจุบันมีสภาพตื้นเขินลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา บางจุดแห้งขอดจนมองเห็นเนินดิน และทุ่งหญ้าโผล่ขึ้นกลางอ่างได้อย่างชัดเจน สามารถลงไปเดินเล่นได้ในหลายจุด 

โดยสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อาศัยแหล่งน้ำนี้ เพื่อทำการเกษตร ประมงพื้นบ้าน โดยการหว่านแหจับปลา ใส่มองตาข่าย และหาสัตว์น้ำต่างๆ ทั้งกุ้งหอยปูปลา ไม่สามารถหามาได้เหมือนแต่ก่อน เพราะน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ที่เคยอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บที่เหลือน้อยมาก โดยอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ เร่งเข้ามาดำเนินการแก้ไขช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อให้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี       

นายสงาม จันทร์ประโคน อายุ 77 ปี ชาวบ้านตลาดควาย ม.1 ต.สะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า ปีนี้ถือว่าภัยแล้งมาเร็วตั้งแต่ปลายปี 67 ที่ผ่านมา น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด แห้งแล้งลดลงเร็วมากกว่าทุกปี จนสามารถเดินลงในอ่างฯได้อย่างสบาย

ด้าน นายสมควร บุญสุข อายุ 69 ปี ชาวบ้านตลาดควาย ม.1 ต.สะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ บอกว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ถือเป็นอีกแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตประปา บริการประชาชนในหลายหมู่บ้านและตัวจังหวัดบุรีรัมย์ โดยปริมาณน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ปริมาณสัตว์น้ำทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา มีจำนวนเหลือลงด้วย ทำให้ทุกวันนี้หาปลามาได้ก็พอแค่บริโภคในครอบครัวเท่านั้น ไม่สามารถหาได้ในปริมาณมากเหมือนแต่ก่อน ที่พอจะนำไปขายหาเงินมาได้ จะปลูกพืชผักสวนครัวก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ทำให้ความเดือดร้อนในทุกด้าน จึงอยากร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้ามาช่วยเหลือและหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว หรือจะหางบประมาณมาขุดลอก เพื่อขายพื้นที่กักเก็บเพิ่ม เพื่อจะได้มีเพียงพอในแต่ละปีใช้ผลิตประปา และชาวบ้านได้มีน้ำไว้เพาะปลูกพืช รวมถึงหาจับสัตว์น้ำได้ตลอดทั้งปีด้วย