อย่างที่ปรากฎเป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กับกรณีเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนพระราม 2 ที่สะพานก่อสร้างทรุดตัวในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โครงการทางพิเศษพระราม 3 -ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นเหตุให้มีผุ้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก!         

เรื่องนี้เป็นเหตุให้ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี สั่งเรียกประชุมด่วนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานอย่าง กรมทางหลวง ,กรมทางหลวงชนบท ,การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ,การรถไฟแห่งประเทศไทย ,การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และกรมบัญชีกลาง หารือเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคม เพื่อหาข้อสรุปในการป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นอีก         

โดยงานนี้ “นายสุริยะ” รองนายกฯ และรมว.คมนาคม ควันออกหู หากตรวจสอบพบความผิดเกิดจากผู้รับเหมาหรือผู้ควบคุมงาน ให้พิจารณาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ว่าด้วยเรื่องการทิ้งงานมาใช้กำกับ ส่วนการใช้มาตรการสมุดพกกับผู้รับเหมา ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้ทำเสร็จแล้ว อยู่ในขั้นตอนกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีลงนามเข้า ครม.แล้ว จากนั้นจะมีการประกาศกฎกระทรวงต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2568 นี้ ซึ่งสมุดพกผู้รับเหมาจะมีรายละเอียดชัดเจน กรณีผู้รับเหมาทำงานมีปัญหาแต่ละเรื่อง จะถูกตัดกี่คะแนน ทั้งการเกิดอุบัติเหตุ ล่าช้า เป็นต้น

ส่วนที่ผู้รับเหมาหลายรายมีปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด-19 นั้น ขณะที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายสั่งให้เร่งรัดการก่อสร้างให้เสร็จภายใน พ.ย. 2568 เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วยหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ผลกระทบโควิด ได้เยียวยาต่อสัญญาก่อสร้างให้แล้วตามมติ ครม. ส่วนปัญหาสภาพคล่องซึ่งกระทรวงคมนาคมได้พิจารณาช่วยเหลือค่า K แก่ผู้รับเหมาที่ทำงานบนถนนพระราม 2 ให้แล้ว จึงไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้การทำงานมีปัญหา และทุกครั้งที่ประชุมร่วมกับผู้รับเหมาเพื่อเร่งรัดการก่อสร้าง ได้เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ต้องทำงานแบบมืออาชีพตามขั้นตอนวิศวกรรม ซึ่งเมื่อได้ช่วยเหลือปัญหาผู้รับเหมาไปแล้วและเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยไปหลายครั้งแต่ไม่ได้ผลยังเกิดอีก ก็ต้องนำเรื่องแบล็กลิสต์มาใช้

ขณะที่ด้าน “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน” ลงมาตรวจสอบการใช้งบประมาณในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยใช้เหตุการณ์อุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 เป็นโมเดลในการศึกษาหาแนวทางในการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่ง “นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ” รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า จากกรณีเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนพระราม 2 เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของแผ่นดิน ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดย สตง.เตรียมลงพื้นที่โครงการถนนพระราม 2 เพื่อตรวจสอบโครงการนี้และจะนำเสนอผลการตรวจสอบต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการนโยบายพัสดุ เพื่อมิให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก โดยที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีอุบัติเหตุที่มีความสูญเสียและอุบัติเหตุร้ายแรงกับโครงการถนนพระราม 2 ถึง 10 ครั้ง โดยความเสี่ยงสูงสุด คือ คอสะพานและโครงสร้างถล่มมีเปอร์เซ็นต์สูงที่สุดถึง 250 % ซึ่งการเก็บข้อมูลที่หน้างานบริเวณถนนพระราม 2 จะมีการประเมินมาตรฐานความปลอดภัย มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอุบัติเหตุอย่างไร วิเคราะห์ด้านความปลอดภัยอย่างไร รวมทั้งความล่าช้า ล่าช้าเพราะอะไร โดยจะใช้เวลา 30 วันทำการ นับจากนี้และจะทำเป็นรายงานเสนอต่อระดับนโยบายต่อไป

ทั้งนี้ที่ผ่านมาทาง สตง.ได้มีนโยบายที่จะเข้าไปตรวจทุกโครงการของรัฐที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านบาท 700 ล้านบาท และตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทเป็นต้นไปอีกด้วย โดยโครงการถนนพระราม 2 เป็นโครงการของกรมทางหลวง 13 ตอนซึ่ง สตง.ได้ตรวจสอบโครงการไปแล้วใน 3 ตอนแรก ส่วนอีก 10 ตอนยังไม่ได้ตรวจสอบ และเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอีก 4 ตอนที่ สตง.ยังไม่ได้ตรวจสอบ

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจถนนพระราม 2 ครั้งนี้ ทาง สตง.ได้ศึกษาแนวทางการตรวจสอบด้านความปลอดภัยของโครงการขนาดใหญ่จากองค์กรตรวจเงินแผ่นดินในต่างประเทศ อาทิ สตง.เกาหลีใต้ ( BAI) สตง.เนเธอร์แลนด์ (NCA) สตง.สหรัฐอเมริกา (GAO) และ สตง.ออสเตรเลีย (ANAO) ซึ่งมีแนวทางการตรวจสอบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลความปลอดภัยในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของไทย โดยสรุปได้ดังนี้ 1.การประเมินความเสี่ยงโครงการผ่านเครื่องมือที่เป็นระบบ สตง.เกาหลีใต้ได้พัฒนา Risk Analysis Model ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อคำนวณค่าความเสี่ยงและจัดระดับความเสี่ยงของโครงการขนาดใหญ่ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความซับซ้อนของโครงการ ประวัติผู้รับเหมา ประวัติอุบัติเหตุ และการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และปัจจุบัน สตง.ไทย ได้นำแนวทางนี้มาพัฒนาเป็น MIRA (Mega Project Integrity Risk Assessment) ซึ่งเป็นระบบประเมินความเสี่ยงที่สามารถช่วยกำหนดระดับความเข้มข้นในการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่

เหตุการณ์อุบัติเหตุครั้งนี้ ก็ได้แต่หวังว่า “คงจะไม่เกิดขึ้นอีก”

หรือต้องถอดอีกกี่บทเรียนจึงจะหยุด!

หากจะมีบทลงโทษ ก็ควรที่จะทำจริงจังได้แล้ว!!