สถานการณ์ปลาหมอคางดำพบความชุกชุมลดลง จำนวนจังหวัดที่พบการแพร่ระบาดเหลือเพียง 16 จังหวัดจากเดิม 19 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่ไม่พบปลาชนิดนี้ ด้วยพัทลุงเป็นพื้นที่มีความสำคัญทำหน้าที่เป็นพื้นที่กันชนให้กับทะเลสาบสงขลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ขณะที่นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ชุมชน และเกษตรกร ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยได้ดำเนินการตาม 7 มาตรการสำคัญอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ กรมประมงสามารถจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้ถึง 35,000 ตัน ส่งผลให้หลายพื้นที่มีการลดลงของประชากรปลาหมอคางดำ และไม่หยุดหาแนวทางใหม่ๆ ในการจัดการปลาชนิดนี้ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ นำความหลากหลายทางชีวภาพกลับมาให้กับแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน รวมถึง พลิกวิกฤต สร้างโอกาสสร้างเงินให้เกษตรกรและชุมชน

ขณะเดียวกัน กรมประมงยังเร่งดำเนินการ “โครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ”  เพื่อให้ปลา 4n ลงไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำ 2n ออกลูกเป็นปลา 3n ที่เป็นหมัน ซึ่งช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาทดลองที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี  เพื่อยืนยันว่า ปลา 4n ได้ผล สามารถผสมพันธุ์กับปลา 2n แล้วเป็นปลา 3n  เพราะปลา 3n เป็นปลาที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม หรือเป็นหมัน  หากผลการศึกษาเป็นไปตามที่กรมประมงตั้งเป้าหมายที่จะขยายจำนวนปลาหมอคางดำ 4n ให้มากขึ้นเมื่อการทดลองสำเร็จ เพื่อเป็น  “อาวุธสำคัญ” ที่กรมประมงใช้ควบคุมประชากรปลาหมอคางดำและสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศของไทย  

นอกจาก ปลา 4n การจัดการปลาหมอคางดำที่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากปลาหมอคางดำเป็นปลาที่ทานได้ และจากการบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อาทิ กองทัพบก กองทัพเรือ และกรมราชทัณฑ์ รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและเกษตรกร ซึ่งได้ดัดแปลงวิธีการจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้สามารถควบคุมปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับวิธีการที่น่าสนใจ ได้แก่ การส่งเสริมการบริโภคปลา ด้วยคนไทยมีความคิดสร้างสรรค์ นำปลาหมอคางดำมารังสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่หลากหลาย ทั้งอาหารคาว ขนมทานเล่น ของหวาน และเครื่องดื่ม เช่น ข้าวเกรียบ น้ำยาขนมจีน ไส้อั่ว น้ำพริก ปลาร้า  ปลาส้ม เมื่อปีที่ผ่านมา มีการประกวดค้นหาสุดยอดเมนูปลาหมอคางดำที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้ทุกคนเห็นว่าปลาหมอคางดำสามารถรับประทานได้ ทำได้หลายเมนู และบางสินค้ากลายเป็นเมนูเอกลักษณ์ของจังหวัดได้อีกด้วย

อย่างกรมประมง ร่วมมือ กรมราชทัณฑ์ ริเริ่มโครงการแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นสินค้าอาหาร เริ่มจากการนำปลาหมอคางดำที่จับได้ใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเลี้ยงเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง นำปลาหมอคางดำมาสับเป็นเหยื่อเลี้ยงปู เลี้ยงปลา ตลอดจน ร่วมมือกับเกษตรกรผู้คิดค้นสูตรน้ำปลาจากปลาหมอคางดำ ตรา ชาววัง มาช่วยถ่ายทอดทักษะในการผลิตน้ำปลาหมอคางดำให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์น้ำปลาแบรนด์ต่างๆ ออกสู่ตลาด อย่าง “หับเผยแม่กลอง” ของเรือนจำสมุทรสงคราม  “หับเผยเขากลิ้ง” ของเรือนจำเพชรบุรี และ “หับเผยสมุทรสาคร” เพราะน้ำปลาเป็นเครื่องปรุงที่สำคัญในแต่ละครัวเรือน  

อีกหนึ่งวิธีที่สามารถขจัดปลาหมอคางดำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำได้เร็ว และสามารถจับปลาได้ครั้งละมากๆ  คือ การจับขึ้นมาทำปลาป่น โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและโรงงานปลาป่น รับซื้อปลาหมอคางดำมาผลิตเป็นปลาป่นใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์  วิธีการหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพให้เกษตรกร ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยเกษตรกรยังสามารถใช้ปลาหมอคางดำเป็นเหยื่อในการเลี้ยงปูและปลากะพง ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร นอกจากพืชแล้ว  โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดจันทบุรี ยังนำปลาหมอคางดำหมักเป็นจุลินทรีย์หมักปลาหมอคางดำนำไปใช้คลุกผสมอาหารให้กุ้งกิน มีคุณสมบัติเป็นโพรไบโอติกช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์น้ำ ช่วยลดต้นทุนของเกษตรกรได้อีกด้วย