เมื่อวันที่ 20 มี.ค.68 ที่แฟนตาซี รีสอร์ท ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท นายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ประธานเปิดการอบรมกิจกรรมส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมาตรฐานคุณภาพโคเนื้อพันธุ์ดีแบบครบวงจร (โคขุนเจ้าพระยา Beef) หลักสูตร “การพัฒนาและยกระดับการผลิตเพื่อเพิ่ประสิทธิภาพการจัดการฝูงแม่พันธุ์โคเนื้อคุณภาพดี (สายพันธุ์เจ้าพระยาบีฟ ชัยนาท)” ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชัยนาท ได้จัดทำแผนงาน โครงการพัฒนาจังหวัดชัยนาท ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และอำนาจทางการแข่งขันเพื่อการส่งออกเชิงพาณิชย์ และได้ดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร ในกิจกรรมหลักส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมาตรฐานคุณภาพโคเนื้อพันธุ์ดีแบบครบวงจร (โคขุนเจ้าพระยา Beef) เพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ว่า “การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อยกระดับและศักยภาพในการแข่งขัน และหลุดพ้นจากการเป็นหนี้และมีรายได้ที่สูงขึ้น (3 เท่า ใน 4 ปี) สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและการสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับจังหวัดชัยนาท เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพและโอกาสในการเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยคุณภาพสูง โดยเฉพาะในด้านปศุสัตว์ อาทิเช่น โคเนื้อ โดยจังหวัดชัยนาท ได้กำหนดให้ “โคเนื้อ” เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดชัยนาทอีกชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกว่า Product Champion ซึ่งจังหวัดชัยนาทมีเกษตรกรผู้เลี้ยงและผลิตโคเนื้อ จำนวนมากถึง 3,632 ราย มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 60,154 ตัว/ปี หรือ คิดเป็นมูลค่าการผลิต ได้ต่อปีไม่น้อยกว่า 2,100 ล้านบาท
ทั้งนี้ จังหวัดชัยนาท จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและผลักดันให้กิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัดชัยนาท ในการพัฒนาและยกระดับการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อในพื้นที่ของจังหวัดชัยนาท ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น สำหรับการอบรมในครั้งนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2568 โดยทุกคนจะได้รับประโยชน์ในด้านองค์ความรู้ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงและต่อยอดสู่การเป็น “สายพันธุ์เจ้าพระยาบีฟ ชัยนาท” ในอาชีพด้านปศุสัตว์ได้มีประสิทธิภาพ มีความเข้มแข็ง และพร้อมเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มปศุสัตว์ GAP ทำให้เกิดการสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกระบวนการจัดการด้านคุณภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อไป