ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“ชาติวุฒิ” คือกำเนิดด้วยพ่อและแม่ “วัยวุฒิ” คือเติบโตด้วยตัวเรา ส่วน “คุณวุฒิ” คือได้มาเพราะการขวนขวายสร้างเสริมจากชีวิตทั้งชีวิต

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าความหลังครั้งที่ได้ไปวิ่งเล่นในพระราชวังพญาไทว่า เป็นช่วงเวลาที่ “สนุก” มาก เพราะมีเพื่อนเล่นอยู่ด้วยกันหลายคน ส่วนใหญ่ก็คือบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์รุ่นเด็ก ๆ กับลูกหลานของข้าราชบริพาร รวมถึงลูกหลานของข้าราชการ ดังเช่นตัวท่านนี้ ซึ่งเป็นบุตรของพระองค์เจ้าคำรบ นายทหารผู้ใหญ่ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิดและข้าราชการระดับสูงนั้นด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรักเด็ก โปรดที่จะให้เด็ก ๆ มาวิ่งเล่นในเขตที่ประทับ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า ในหลวงพระองค์นี้ทรงแต่งเครื่องทรงสบาย ๆ ส่วนมากจะเป็นพระสนับเพลา(กางเกง)แพรกับฉลองพระองค์(เสื้อ)ผ้าป่านคอกลม ทรงธารพระกร(ไม้เท้า)และพระมาลา(หมวก)ในเวลาที่เสด็จลงสวน ในเวลาบ่ายหลังจากเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้วจะทรงขึ้นบรรทม เมื่อตื่นบรรทมก็จะมีของว่างเป็นเครื่องเสวยแบบฝรั่งและน้ำชาแบบอังกฤษ จากนั้นจะทรงงานเขียนพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ ซึ่งเด็กชายคึกฤทธิ์เคยได้รับพระราชทานขนมที่เป็นเครื่องเสวยอยู่บ่อย ๆ และสังเกตเห็นว่าที่โต๊ะทรงงานของพระองค์ท่าน มีกระดาษเขียนหนังสือสีขาววางอยู่เป็นปึก ๆ กับกระบอกแก้วใส่ดินสอดำเป็นสิบ ๆ แท่ง ซึ่งทุกแท่งจะต้องเหลาให้แหลมเปี๊ยบ

วันหนึ่งพวกเด็ก ๆ พากันเล่นอยู่ใต้ถุนเรือนที่ประทับ คงจะส่งเสียงดังมาก เพราะมีเสียง “ดุ” ดังลงมาจากบนเรือน เด็ก ๆ ก็เงียบไปสักพัก แล้วก็เล่นกันเสียงดังขึ้นอีก จนเล่นกันมาถึงบันไดเรือน ไม่ทันเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 6 กำลังเสด็จลงมา ซึ่งเด็กชายคึกฤทธิ์ที่อยู่ใกล้บันไดที่สุดก็เกือบจะปะทะกับพระองค์ เมื่อเห็นพระองค์แล้วก็หมอบลงกราบถวายบังคม พระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสเสียงดุ ๆ ว่า “ลูกใครกันวะ นี่ถ้าชนฉันเป็นอะไรไป ต้องอาญาตัดหัวเจ็ดชั่วโคตรเลยรู้ไหม” แล้วก็ทรงพระสรวลเสียงดัง เด็กชายคึกฤทธิ์จึงคลายความตื่นตกใจ และได้ยินพระสุรเสียงถามขึ้นอีกว่า “เอ็งเป็นลูกใคร” เด็กชายคึกฤทธิ์ก็ตอบว่า “พระองค์เจ้าคำรบพระพุทธเจ้าข้า”

“อ้อ แล้วแม่เอ็งเป็นใคร พ่อเอ็งมีเมียกี่คน” คือรับสั่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จำมาได้ตลอดชีวิต

ท่านที่เกิดในสมัยใหม่คงจะพอทราบว่า ในสมัยก่อนผู้ชายที่มีตำแหน่งใหญ่โตและมีอำนาจวาสนามาก ๆ ไม่เฉพาะแต่พระมหากษัตริย์ แต่รวมถึงข้าราชการผู้ใหญ่ต่าง ๆ มักจะมีเมียกันคนละหลาย ๆ คน โดยเป็นที่เข้าใจของคนทั่วไปในสมัยนั้นว่า ยิ่งมีเมียมากก็ยิ่งแสดงว่าท่าน ๆ นั้นเป็นคนใหญ่คนโตที่แท้จริง ดังนั้น เด็กชายคึกฤทธิ์จึงตอบไปโดยซื่อ โดยคิดว่าท่านพ่อของตนเองก็เป็นคนใหญ่คนโตเหมือนกัน และไม่อยากจะทำให้ท่านพ่อเสียหน้าจึงกราบบังคมทูลไปว่า “สองคนพระพุทธเจ้าข้า”

พระเจ้าอยู่หัวทรงยิ้มแล้วตรัสว่า “เอ้า งั้นเอ็งถือไม้เท้านี่นำหน้าไป”

เด็กชายคึกฤทธิ์รับธารพระกรมาแล้วก็ประคองด้วยสองมือไว้ระดับอก เดินนำพระราชดำเนินอย่างเอิบอิ่มใจ เหมือนว่าเป็น “คนโปรด” ในขณะที่เด็ก ๆ คนอื่นยังหมอบตัวสั่นอยู่กับพื้น

อีกสองวันต่อมา เย็นวันนั้นท่านพ่อกลับจากทำงานก็ให้คนมาเรียกเด็กชายคึกฤทธิ์ขึ้นไปพบที่ข้างบนเรือน ท่านแม่ก็ตกใจตามขึ้นมาด้วย ท่านพ่อถือไม้เรียวในมือ พูดขึ้นเสียงดังว่า “ไหน ๆ ใครบอกว่าข้ามีเมียสองคน เอาหลังมารับหวายซะเดี๋ยวนี้” พร้อมกับเงื้อจะฟาดใส่ลูกชาย แต่ท่านแม่ได้ห้ามและสอบถามเรื่องราว เมื่อรู้แล้วท่านแม่ก็หัวเราะ “ลูกคงกลัวน้อยหน้าเพื่อนกระมัง ไม่อยากบอกว่าพ่อมีเมียคนเดียว”

เป็นที่ทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดศิลปะการแสดงต่าง ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ ดังที่ทราบว่าทรงมีความเชี่ยวชาญถึงขั้นทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีและบทละครต่าง ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศไว้มากมาย รวมทั้งได้ทรงร่วมแสดงเป็นตัวละครต่าง ๆ นั้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ท่านยังทรงส่งเสริมนาฏศิลป์ชั้นสูง คือโขนและละครของหลวง เป็นอย่างดียิ่งอีกด้วย ทรงโปรดให้ข้าราชบริพารและบุตรหลานร่วมหัดโขนละคร รวมถึงดนตรีไทย ซึ่งบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ก็ได้ร่วมสนองพระราชประสงค์นี้อย่างกว้างขวาง ปรากฏมีชื่อครูโขน ละคร และดนตรีไทย ที่โดดเด่นขึ้นในยุคนี้เป็นจำนวนมาก

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านคุ้นเคยกับดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะท่านแม่ของท่านเป็นมือระนาดเอกอยู่ในวงละครในพระบรมมหาราชวังมาก่อน เมื่อมีคนมาชวนให้หัดเล่นโขนตามพระราชประสงค์ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงเข้าร่วมด้วยความตั้งใจและเอาจริงเอาจัง และมีความสามารถถึงขั้นออกแสดงร่วมในงานของหลวงต่อหน้าพระพักตร์ได้ด้วย โดยเล่นเป็นเขนยักษ์เพราะตัวยังเล็ก (ซึ่งต่อมาก็ท่านก็ได้เป็น “ยักษ์ใหญ่” คือ “ทศกัณ” และเป็นครูโขนที่สำคัญขึ้นในยุคหลัง ดังที่ท่านได้ก่อตั้งคณะโขนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นใน พ.ศ. 2511 นั้น) แต่นั่นก็คือสิ่งที่ทำให้ท่านมี “เลือดไทย” เวียนไหลอยู่ในร่าง โดยเป็นเลือดไทยที่ “ย้อมแน่น” ด้วย “ศิลป์และศาสตร์” ชั้นสูงเหล่านั้นนั่นเอง

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้รับการศึกษา “ชั้นดี” มาโดยตลอด ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านเข้าโรงเรียนครั้งแรกนั้นท่านน่าจะยังเด็กมาก น่าจะสัก 4-5 ขวบ โดยเริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนวังหลัง ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ที่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงบริเวณที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน ซึ่งบ้านของท่านอยู่ตรงถนนพระอาทิตย์ ติดแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกัน จึงไม่ได้ลำบากอะไรมาก เพียงแค่ลงเรือข้ามไปก็ถึงโรงเรียนแล้ว สมัยนั้นผู้คนมักจะเรียกโรงเรียนวังหลังนี้ว่า “โรงเรียนแหม่มโคล” เพราะครูใหญ่เป็นหญิงอเมริกันชื่อ มิสเอ็ดน่า ซาร่า โคล (โรงเรียนวังหลังก่อตั้งขึ้นโดยแหม่มเฮาส์ เมื่อ พ.ศ.2417 ต่อมาใน พ.ศ. 2464 จึงได้ย้ายมาที่ทุ่งบางกะปิ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนแหม่มโคลนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จำได้ว่า ทุกวันก็จะมีแต่ “เล่นสนุก” รวมถึงการแกล้งกันของพวกเด็ก ๆ โดยเพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้หญิง บางชั่วโมงก็จะมีการเล่นแต่งตุ๊กตา มีการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าและกระดาษ เด็กบางคนก็เอากรรไกรมาตัดผมหรือเสื้อผ้าของเพื่อน ต้องร้องให้ไปฟ้อง “มาแมร์” หรือคุณครูอยู่เป็นประจำ

พอโตขึ้นก็มาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จำได้ว่าท่านน่าจะมีอายุน้อยที่สุดในชั้น เพราะในห้องมีแต่คนที่ตัวโตกว่า ที่นี่จะเรียนหรือเล่นอะไรบ้างก็จำไม่ได้มาก จนอายุได้สัก 14 หรือ 15 ปี จึงได้ตามพี่เสนีย์(ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช)กับพี่ถ้วน(ม.ร.ว.ถ้วนเท่านึก ปราโมช)ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยท่านต้องไปเรียนในโรงเรียนมัธยมของที่นั่นเสียก่อน คือที่เทรนต์คอลเลจ จากนั้นจึงได้เรียนที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งท่านพอจะจำเรื่องราวต่าง ๆ ได้มากหน่อย เพราะมีเหตุการณ์ที่ประทับใจและน่าจดจำมากมาย ที่สำคัญในช่วงที่ท่านเป็นหนุ่มและเข้ามหาวิทยาลัยแล้วนี้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เริ่มที่จะ “เป็นที่รู้จักอย่างดี” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “Well Known” มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนไทยที่ไปเรียนร่วมมหาวิทยาลัยกับท่าน และที่ได้ไป “พบปะสังสรรค์” กับท่านในประเทศอังกฤษนั้นหลายคน  บางคนก็ยังคบเป็นเพื่อนกันมาจนแต่ละคนสิ้นชีวิต บางคนก็ได้ทำงานด้วยกัน และบางคนก็ได้อุปการะกันมาอย่างยั่งยืน

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยพูดว่า “ความเป็นเพื่อนนี้เป็นญาติอย่างยิ่ง” แม้จะไม่ใช่ญาติร่วมสายโลหิต แต่ก็เป็น “ญาติร่วมโลก” ที่ใช้ชีวิตกันอย่างสนิทสนมยิ่งกว่า

 

ขอบคุณภาพจาก : FB พระราชวังพญาไท Phyathai Palace