บูรพา โชติช่วง / รายงาน

พระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เป็นข่าวกันไปเมื่อเร็วๆ จากการประชุมคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานฯ พร้อมด้วยนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะ เพื่อพิจารณาวาระต่างๆ หนึ่งในนี้การนำเสนอพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เพื่อขอบรรจุเข้าสู่บัญชีชั่วคราว (Tentative List) ในชื่อ "พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (Phra Prang of Wat Arun Ratchawararam : The Masterpiece of Krung Rattanakosin)" ซึ่งเป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนาประเภทพระปรางค์ที่มีความโดดเด่นที่สุด เป็นอัตลักษณ์หนึ่งเดียวของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย โดยคุณสมบัติที่เลือกนำเสนอตรงตามเกณฑ์มรดกโลกข้อที่ 1 และข้อที่ 2 คือเป็นผลงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา และพัฒนามาเป็นลักษณะเฉพาะของพระปรางค์ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในสมัยรัตนโกสินทร์

“ขั้นตอนจากนี้เสนอให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก และคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบก่อนนำเสนอเอกสารไปยังศูนย์มรดกโลก เพื่อให้รับรองบรรจุรายชื่อในบัญชีเบื้องต้น ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ช่วงเดือนมิถุนายน 2568 นี้” รมว.วัฒนธรรม กล่าว

สำหรับประวัติความเป็นมาวัดอรุณราชวราราม เดิมชื่อวัดแจ้ง ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้าเจ้าพระยา เป็นวัดโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (พุทธศตวรรษที่ 23) จนถึงสมัยกรุงธนบุรี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พุทธศตวรรษที่ 24) วัดแจ้งเป็นวัดที่อยู่ในเขตพระราชวัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม วัดแจ้งกลับมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จาพรรษา

ในปี พ.ศ. 2352 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระราชศรัทธาให้สร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งพระอาราม โปรดฯ ให้สร้างกุฎีสงฆ์ขึ้นใหม่ และโปรดฯ ให้สร้างพระประธานในพระอุโบสถใหม่ โดยพระองค์ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2363 และโปรดพระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” และทรงมีพระราชศรัทธาที่จะสร้างพระปรางค์หน้าวัดขึ้นใหม่แทนพระปรางค์องค์เดิม ที่สูงเพียง 8 วา (16 เมตร) ทรงมีพระราชดาริว่ามีขนาดเล็กเกินไป ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างพระปรางค์ให้เป็น “พระมหาธาตุสาหรับพระนคร” โดยมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง

ด้านคติการสร้าง รูปแบบแผนผังคติของศูนย์กลางจักรวาล และความเป็นมหาธาตุประจาพระนคร เป็นการได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น วัดมหาธาตุ และมาพบอีกครั้งในสมัยอยุธยาตอนปลายที่วัดไชยวัฒนารามพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น สร้างขึ้นตามคติที่ว่า เมืองหลวง หรือเมืองสำคัญ ต้องมีมหาธาตุประจำนครหรือประจำเมือง ในความหมายของความเป็นศูนย์กลางหรือศูนย์รวมจิตใจของชาวพระนคร

การออกแบบแผนผังของวัดที่มีเจดีย์ทรงปรางค์และเจดีย์บริวารประจำมุมทั้ง 4 เป็นประธานของวัด ซึ่งลักษณะแผนผังแบบนี้มีที่มาจากวัฒนธรรมอินเดีย และเขมร ที่มีการสร้างปราสาทประธานเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุและปราสาทประจำมุมทั้ง 4 เปรียบเสมือนทวีปทั้ง 4 รวมทั้งการใช้เจดีย์ทรงปรางค์เป็นเจดีย์ที่พัฒนามาจากปราสาทเขมร ที่มีการออกแบบเป็นเรือนชั้นซ้อน คือปราสาท ซึ่งหมายถึงเรือนฐานันดรสูงที่เป็นที่สถิตของเทพเจ้า เปรียบเสมือนที่อยู่ของเทพเจ้า คือสวรรค์ ต่อมาได้มีการนำมาใช้เป็นเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า โดยอิงกับคติและรูปแบบของศาสนาฮินดูมาใช้ในพระพุทธศาสนา โดยพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามมีการออกแบบและงานประดับตกแต่งที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาลอย่างแท้จริง

พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม มีการประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบทั้งองค์ ประกอบด้วยงานประติมากรรมที่สร้างตามคติความเชื่อและงานประดับลวดลาย ที่มีการผูกลวดลายแต่ละองค์ประกอบของปรางค์ที่ไม่ซ้ำแบบกัน ด้วยกระเบื้องที่สั่งมาจากเมืองจีน นับเป็นปรางค์ขนาดใหญ่ที่มีการประดับลวดลายทั้งองค์ที่ก่อนหน้ามีไม่เคยปรากฏ

นี้เป็นเพียงข้อมูลสังเขปและภาพจากกรมศิลปากร การนำเสนอ “พระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อบรรจุรายชื่อในบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ศูนย์มรดกโลก จากนั้นแล้วจึงไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไป