ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
"...ในหลายๆขณะของชีวิต..เราต่างมีการดำรงอยู่..เหมือนขาดการเต้นเร่าของหัวใจ..ว่างเปล่า..อับจน จนไม่รู้ทิศรู้ทาง..
นั่นคือภาวะความจริง..ที่มักจะเกิดขึ้นกับตัวตนของเราเสมอ..เป็นความสูญสลายของศักยภาพในการพอกสร้างความเชื่อมั่น...
แท้จริง..จิตวิญญาณของชีวิต..จักดำรงอยู่ด้วยสัญญะแห่งเสียงเต้นของหัวใจ..มันเป็นความมุ่งมั่นสู่ความมุ่งมั่นในรากฐานแห่งการเรียนรู้ของชีวิต..เป็นบทเรียนแห่งการตระหนักคิด..ที่จะค่อยๆชี้ทางและโอบประคองเราไว้..กับมโนสำนึกของการอยู่รอดอันไม่สั่นคลอน.."
ภาวะสำนึกเบื้องต้น..คือเนื้อในที่ถอดร่างออกมาจากหนังสือแห่งการใคร่ครวญต่อประเด็นคำถามที่ว่า “..หัวใจคุณหายไปไหนนะ” ..งานเขียนสร้างสรรค์ของ “โทฮาตะ ไคโตะ” นักจิตวิทยาคลินิกชื่อดังของญี่ปุ่น..
ว่ากันว่า..หัวใจที่ถูกทำหาย..อาจอยู่ที่นี่กับเขาก็ได้..อยู่ที่ห้องแห่งคำปรึกษาแห่งนี้ของเขา ..! เนื่องเพราะ..มีผู้คนมากมายแวะเวียนมาหา เพื่อหาหนทางซ่อมแซมหัวใจที่ชำรุด ให้คืนกลับมาใช้การได้อีกครั้ง.. อาทิ.. “จริงๆแล้ว..ผมเป็นคนซึมเศร้าครับ”..คำให้การของประธานบริษัทผู้เข้มแข็งและยิ้มแย้มเสมอ..
“ข้าคือซามูไรห้องน้ำ..ต้องกำจัดหนุ่มอุนจิชั่วช้าให้ราบคาบ”..คำกล่าวของเด็กชายวัย 4 ขวบ..ที่มีพฤติกรรมรุนแรง..
“..เอาชีวิตของฉันไปเขียนวิทยานิพนธ์สิคะ..” คำเชิญชวนในประชดประชัน ของลูกสาวผู้เจ็บแค้น..และปรารถนาตายทุกวัน..
... “ผมถูกมนุษย์ต่างดาว ควบคุมสมอง”..คำบอกกล่าวของชายผู้ว้าวุ่น จนใช้ชีวิตแบบปกติไม่ได้..
“..ฉันเกลียดสามีค่ะ”..คำสารภาพของคุณนายผู้ร่ำรวย และมีชีวิตเพียบพร้อมทุกอย่าง..ประเด็นของบาดแผลทางความคิดใต้จิตสำนึกเหล่านี้..ล้วนเป็นแก่นสารสำคับญที่ “โทฮาตะ” ได้ตีความผ่านความคิดแห่งความเข้าใจใน “ชีวิตที่พลิกผัน” ของผู้คนต่างๆออกมา..! ...ย้อนกลับไป..เมื่อช่วงที่ต้องกักตัวด้วยการระบาดของ “โควิด”..ในช่วงเวลานั้น “โทฮาตะ” คิดงานอะไรไม่ออก จนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า.. “หัวใจหายไปไหน?”
หัวใจที่ว่านี้..หมายถึงความสุขสงบ ที่เคยมีแต่มันกลับหายไป.. และเมื่อเขาได้ตั้งคำถามอย่างจริงจังกลับพบว่า..ไม่ใช่เพราะโควิด..แต่อาการ “หัวใจหายไปไหน?” นี้..มันก่อตัวมานานหลายปีแล้ว..มีแต่การเพิ่มอาการให้มันชัดเจนขึ้นมาเท่านั้นเอง..!
..เขาได้สร้างตัวละคร “บาจี้” ขึ้นมาเเพื่อเป็นตัวแทนในเรื่อง..สู่การเล่าเรื่องราว ตลอดจนประสบการณ์ ในการให้คำปรึกษาของเขา..โดยแบ่งออกตาม “ฤดูกาล” เป็นสัญญะของการเล่าเรื่อง..
*ฤดูใบไม้ผลิ(วสันต์).".เปรียบดั่งชีวิตที่สดใส เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง
* “ฤดูร้อน(คิมหันต์)” ..เปรียบดั่งความเร่าร้อน มีพลัง เป็นช่วงเวลาแห่งการมีพลังแรง ที่จะกระทำอะไรบางอย่าง..
* “ฤดูใบไม้ร่วง(สารท)” ..ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน..ความทุกข์ ความเศร้า การสูญเสีย..และการจากลา..
* “ฤดูหนาว(เหมันต์)” อันหมายถึงจุดจบ..การเผชิญโลกตามความเป็นจริง..
และ..เมื่อจบ 4 ฤดูก็จะเวียนย้อนกลับไปสู่ฤดูใบไม้ผลิอีกครั้ง..เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ..เป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงความไม่จีรังของสรรพสิ่ง ซึ่งก็เคลื่อนไหวไป..กับการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล..!
..กลวิธีการเล่าเรื่องโดยรวมทั้งหมด.. “โทฮาตะ” ..จะยกกรณีศึกษาของตัวละครต่างๆมาประกอบการเล่าเรื่อง...โดยระบุถึงว่า พวกเขาเหล่านั้นประสบเหตุการณ์อะไรมาบ้างในชีวิต ที่ทำให้หัวใจแห่งตนต้องลบหายไป..และจะต้องทำอย่างไรในการตามหาหัวใจกลับคืนมา..!...ทุกสิ่งไม่มีอะไรยั่งยืน..เราจำเป็นต้องเข้าใจและยอมรับความเปลี่ยนแปลง../ต้องมองโลกจากภายนอกและโอบกอดจากภายใน_/ต้องใช้เวลากับตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป/รวมทั้งต้องทบทวนชีวิตและอนาคตด้วยตัวเอง..อยู่เสมอ..!
เหตุนี้..เราจะค้นพบหัวใจและการท้าทายต่างๆ..ที่จะสอนให้เรา ย้อนกลับมาหาตัวเอง..ค้นหาโดยการทะลุจากภายใน..อันลึกซึ้ง..! แง่คิดจาก “วสันต์” ..จะทำให้เราได้ข้อตระหนักว่า..เราล้วนมองไม่เห็นทางข้างหน้า..แต่เราก็อดไม่ได้ที่จะทำอะไรสักอย่าง..แต่สิ่งที่เราทำในโลกของวันนี้มักจะไม่ราบรื่น และ..บางครั้งอาจจะทำให้สถานการณ์แย่ลงด้วยซ้ำ..
ดังนั้น..การมีชีวิต..จึ่งคือการแปลงร่างไปเรื่อยๆ..เราอาจแปลงร่างเป็นตัวเอง ในรูปแบที่แตกต่างกันไป..ขึ้นอยู่กับว่า เรากำลังอยู่กับใคร..!
นอกจากนี้..การดูสถานการณ์..เป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสุขภาพจิต.. “หัวใจไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง”..เหตุนี้..ตอนที่ความเป็นจริงเปลี่ยนแปลงไป..เราจึงผิดใจและคงยึดติดกับวิธีการที่ตายตัว..! ในแง่คิดจาก “คิมหันต์” ..บอกกล่าวว่า..การที่เราพูดคุยกับคนอื่นนั้น..เกิดจากหัวใจของเราที่ถูกควบคุม/จงมองโลกจากด้านนอก/..ให้ประจักษ์ว่า..สิ่งสำคัญในชีวิตนั้นไม่ใช่การพยายามรับมือกับความเจ็บปวดด้วยตัวเอง แต่มันคือการที่ต้องให้ใครสักคนช่วยเหลือ../ที่สำคัญ..จงเชื่ออยู่เสมอว่า.. “ในใจของเรานั้นมีหมออยู่”...!
แง่สำนึกจาก “สารท” ..ในเวลาที่เรายุ่ง หัวใจของเราไม่ได้หายไปไหน..แต่มันเป็นเพียงแค่เรามองข้ามมันไปเท่านั้น../ความเข้าใจหัวใจ..สู่การจัดการแก้ปัญหาด้วยการผสมผสานความรู้ของตนกับความรู้ทางจิตวิทยาเข้าด้วยกัน..คือ..มโนสำนึกอันประเสริฐ../นอกเหนือไปจากนี้..การใช้เวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป..จะทำให้เราได้ตระหนักรู้อย่างแท้จริง ..เพราะเวลาช่วยให้เรามองเห็นสถานการณ์ได้ชัดเจนขึ้นทีละนิด/นั่นจึงเท่ากับว่า..ถ้าอยากอ่อนโยนกับใครสักคน..เราก็ต้องอ่อนโยนกับเขาเท่านั้น..!
สุดท้าย..ในวิถีแห่ง “เหมันต์” ..เราจะพบว่า .ความฝันเป็นทางหลักในการเข้าสู่จิตไร้สำนึก/ความฝันคือสิ่งที่นำพาหัวใจมาให้เรา/เราต้องมีพื้นที่ว่างในหัวใจ..เพื่อโอบรับสิ่งใหม่เข้ามาในชีวิต..ความฝันมีพลังมหัศจรรย์/
สุดท้าย..สิ่งที่ความฝันมอบให้เราคือ “ควอเลีย” (Qaulia) ซึ่งก็หมายถึง..การรับรู้ อารมณ์ สีสัน ที่ย้อมชีวิตของเราในชีวิตกลางคืน...และกลายเป็นเรื่องราวและรูปร่างของความฝันในช่วงกลางคืน..! แล้ว ...วสันต์ก็ย้อนกลับคืนมาเป็นวัฏจักร..
กลับมา..เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการยอมรับตัวเอง/ได้รับรู้ว่า..ความโดดเดี่ยวนั้นมีรูปร่างหลายแบบ/ที่สำคัญคือการเปิดโอกาส..สำรวจความทรงจำที่ถูกลืม../และ..เน้นย้ำต่อความหมายแห่งประเด็นสำคัญที่ว่า .. เมื่อหัวใจเผชิญหน้ากับความจริง..และพยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะมัน.. “เราจะพบกับชีวิตในแบบของตัวเองอย่างแน่นอน..”
..นี่คือหนังสือ..แห่งจิตปัญญาที่กล่อมเกลาชีวิตให้มีทิศทางต่อการสร้างความหมายอันเป็นความสุขสงบอย่างถาวร...เนื้อในแห่งจิตวิญญาณของการตระหนักรู้..ถูกอธิบายผ่านรูปรอยแห่งฤดูกาล..ซึ่งมีประจุความคิดอธิบายความสู่เป้าประสงค์อย่างตั้งใจและเต็มไปด้วยรสชาติแห่งสาระเนื้อหา ..เราทุกคนต่างมีหัวใจแห่งหัวใจ เป็นนิยามความหมายแห่งการมีชีวิตอยู่..ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อได้..รู้..เรียนรู้ และ..รู้สึกด้วยปัญญาญาณที่ก้องดังของหัวใจ..ชีวิตของเราก็ย่อมสุกสว่าง..ในภูมิปัญญาอันเจิดจรัสของตัวตน..ได้ไม่ยาก..!
... “โทฮาตะ” ในฐานะผู้เขียน ..นำศาสตร์แห่งจิตวิทยาคลินิก ผสานกับอาชีพการเป็นที่ปรึกษาที่ต้องพบกับผู้คนต่างๆที่แตกต่างกัน..ทั้งในช่วงอายุ..เพศ การศึกษา ตลอดจนประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างกัน..นั่นคือ “หัวใจอันตอกย้ำชีวิต” ..ซึ่งเป็นที่มาอันถ้วนทั่วของหนังสือเล่มนี้..
โดยมี.. “นพรดา ศิริเสถียร” เป็นผู้แปล..ที่เก็บใจความรายละเอียด..ได้อย่างดีและครอบคลุม..! “ในการฟื้นฟูจิตใจ จะมีช่วงหนึ่งซึ่งเวลาหยุดนิ่ง..และนั่น..หมายถึง..เราต่างลืมหัวใจของตัวเอง ..ด้วยว่า..ชีวิตเร่งรีบเกินไป จนมองข้าม..ความรู้สึกของตน...!!”