"TDRI" ชี้รัฐหยุดแจกเงินดิจิทัล ได้ไม่คุ้มเสีย ควรเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ศก.ระยะยาวดีกว่าใช้สุรุ่ยสุร่ายไปเรื่อยๆ
เมื่อวันที่ 20 มี.ค.68 นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัลเฟส 3 ที่แจกให้กับผู้มีอายุ 16-20 ปี เชื่อว่าไม่น่าจะได้ผลมากกว่าเฟส 1 ที่มอบให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง แม้คาดการณ์ว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ที่ไม่มากนัก
สำหรับกรณีที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าทุกคนที่เข้าเงื่อนไขจะได้รับสิทธิทั้งหมดนั้น นายสมชัย กล่าวว่า เป็นการทำให้ตรงกับที่หาเสียงไว้ แต่เห็นชัดแล้วว่าการดำเนินโครงการทั้งเฟส 1- 2 รวมทั้งเฟส 3 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไม่ดีจริงอย่างที่หาเสียงไว้ จึงควรทบทวน
"ตอนที่หาเสียงไว้ และตอนที่เป็นรัฐบาลใหม่ๆบอกว่าโครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู บางคนบอกจะทำให้ไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลางได้ด้วยซ้ำ ซึ่งไม่มีคนเชื่อ และวันนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ในเมื่อพิสูจน์แล้วว่าไม่จริงก็ไม่ควรจะเดินหน้าต่อ มองว่าเงินนี้นำไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ได้มากกว่าเยอะ" นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้นอกจากงบประมาณหลายแสนล้านบาทที่ต้องเสียไปจากการใช้จ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ยังมีต้นทุนค่าเสียโอกาสด้วย ถือว่าเป็นความสูญเสียที่มากกว่าตัวเงินเสียอีก เพราะอย่าลืมว่าวันนี้ภาคการคลังของไทยอ่อนแอมากประเทศไทยมีเงินน้อยลง ประชาชนก็มีเงินน้อยลง หากอยากให้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจริง รัฐบาลควรละทิ้งแนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น และไม่ควรเปิดทางให้นำเงินจำนวนนี้ไปซื้ออะไรก็ได้ แต่ควรกำหนดให้ใช้ไปกับการหาความรู้ อัพสกิล รีสกิล ซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มเยาวชน เพราะเป็นกลุ่มที่กำลังจะเข้าสู่กำลังแรงงานซึ่งอาจจะนำเงินจำนวนนี้ไปเข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งแม้จะไม่เห็นผลในระยะสั้นมากนัก แต่ผลในระยะยาวจะดีกว่ากันมาก เพราะเป็นการดึงศักยภาพของคนซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์
โดยการนำเงินงบประมาณไปใช้ต้องคิดอย่างระมัดระวัง ถ้านำไปใช้ในเรื่องที่ไม่สมควรใช้ จนทำให้เรื่องที่สมควรใช้จะถูกตัดทิ้งไปก็น่าเสียดาย เช่น เรื่องการพัฒนาทักษะของคน การปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตโลกร้อน การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งระบบสวัสดิการสังคมของไทยยังมีปัญหาในบางจุด และเรื่องของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งกันดีขึ้น ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลในการเดินหน้า แต่อาจถูกชะลอออกไปเพราะเอาเงินมาใช้ในเรื่องที่ไม่สมควรใช้แบบนี้ จึงไม่สนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าเงินดิจิทัลในเฟสต่อไปอีก
"รัฐบาลควรนำงบประมาณไปลงทุนในเรื่องของดิจิทัล ทำอินเทอร์เน็ตฟรีให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยได้มาก ในเรื่องของผลิตภาพของประชาชน เพราะเกิดการพัฒนาตัวเองและสร้างรายได้ เชื่อว่ามีอัจฉริยะที่ซ่อนอยู่ตามซอกมุมต่างๆของประเทศอยู่มาก เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้รับโอกาสรัฐบาลก็ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่เขามีอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าทำ แต่คงไม่ได้ทำ ถ้าเกิดว่าต้องมาจ่ายเงินแบบสุรุ่ยสุร่ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ" นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้เสนอแนะต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ต้องพยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น อย่าเน้นระยะสั้น เช่น ดิจิทัลวอลเลต กาสิโนพนันออนไลน์ แต่ควรเพิ่มน้ำหนักในกลุ่มมาตรการระยะยาวมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องเตรียมรับมือกับความยากลำบากที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องของสงครามการค้าที่คาดว่าจะมาแบบเต็มรูปแบบเมื่อเทียบกับยุคทรัมป์ 1.0 ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในหลายปีที่ผ่านมาถูกมองว่าดีเกินไปจนน่าจะมาถึงอาจจะซบเซาลงตามวัฏจักร รวมทั้งเรื่องของสงครามยูเครนในยุโรป อาจส่งผลกระทบต่อไทยในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และท่องเที่ยวมาก ขณะที่ในประเทศมีหนี้ครัวเรือนสูง ความสามารถในการผลิตไม่ได้ดีมากนัก เฉะนั้นจะมีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในเข้ามาพร้อมกัน
โดยเศรษฐกิจคงซบเซาต่อไป และมองไป 4 ปีถัดไป ภาพก็จะคล้ายกันถ้าไม่ได้มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว และถ้ามีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่ระมัดระวังแบบนี้ ภาคการคลังจะมีปัญหา หนี้สาธารณะคงจะถึง 70% ต่อจีดีพีภายในไม่กี่ปีนี้ ขณะที่ภาระการจ่ายหนี้ของรัฐบาลทั้งดอกเบี้ย และเงินต้นก็มีสิทธิ์ที่จะขึ้นไปใกล้ๆชน 15% ที่กำหนดในกฎหมาย ทั้งหมดนี้จะทำให้เรตติ้งของภาครัฐไทยแย่ลงในสายตาของบริษัทประเมินเรตติ้ง เป็นผลเสียระยะยาว เพราะหมายถึงต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาล และจะลามไปถึงภาคเอกชนอาจจะสูงขึ้น ซึ่งจะซ้ำเติมเรื่องของเศรษฐกิจเข้าไปอีก
#TDRI #เงินดิจิทัล #ข่าววันนี้ #ดิจิทัลวอลเล็ต #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์ #ทีดีอาร์ไอ