วันที่ 19 มี.ค.68 ที่ บช.สอท. พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผบก.สอท.1, พล.ต.ต. ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.3 และ พล.ต.ต.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ ผบก.สอท.4, พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว ปฏิบัติการหักปีกหงส์เงินดำ ล่าแก๊งหลอกลงทุนออนไลน์ รวบสาวจีนตัวการใหญ่ รอรับยอดเป็นคริปโต พบเงินหมุนเวียนกว่า 18 ล้าน USDT
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 เม.ย.67 ผู้เสียหายรายหนึ่งได้พบคนร้ายใช้ภาพโปรไฟล์หน้าตาดีติดต่อมาชวนพูดคุยผ่านแอปพลิเคชัน facebook และต่อมาได้เปลี่ยนไปติดต่อกันผ่านแอปพลิเคชัน LINE เมื่อเริ่มสนิทสนมกัน คนร้ายได้เริ่มชักชวนให้ลงทุนในกองทุนเงินสิงค์โปร์ ผ่านแอปพลิเคชันชื่อ “M-DAQP” โดยการลงทุนในช่วงแรกสามารถถอนเงินออกมาได้จริง แต่เมื่อลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กลับไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ตลอดช่วงระยะเวลา 16 วัน ผู้เสียหายโอนเงินไปจำนวน 7 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท ได้คืนกลับมาจำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 57,900 บาท รวมยอดความเสียหายทั้งหมดจำนวน 1,442,100 บาท
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.สอท.4 ได้ร่วมกันสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว จนพบหลักฐานทางเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปยังกลุ่มผู้ต้องหาสัญชาติไทย จำนวน 4 ราย ซึ่งเป็นบัญชีม้าที่ใช้รับโอนเงินสกุลบาท จากผู้เสียหาย และยังมีการเปิดบัญชีม้าคริปโตเคอเรนซี่ เพื่อใช้ในการแปรสภาพเงินที่ได้มาจากการหลอกลวง เป็นเงินดิจิทัลสกุล USDT ผ่านวิธีการซื้อเหรียญระบบ P2P บนแพลตฟอร์ม BINANCE และ ผ่านวิธีการโอนเงินสกุลบาทเข้าแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย จากนั้น เมื่อคนร้ายแปรสภาพเงินบาทที่หลอกลวงมาเป็นเหรียญ USDT แล้ว ก็จะโอนต่อไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการในประเทศกัมพูชา
จากการสืบสวนพบว่า เจ้าของกระเป๋าเงินดิจิทัลปลายทางดังกล่าวคือ น.ส.DI WU อายุ 27 ปี สัญชาติจีนเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบประวัติการรับโอนเหรียญ USDT ของบัญชีดังกล่าว พบว่ามีประวัติรับโอนเหรียญ USDT ที่คาดว่าได้มาจากการกระทำความผิดจำนวน 18.4 ล้าน USDT หรือ ประมาณกว่า 618 ล้านบาท และบัญชีเงินดิจิทัลของผู้ต้องหาที่ใช้ส่วนตัว พบว่ามีหมุนเวียนประมาณ 2-4 หมื่น USDT ต่อเดือนหรือประมาณ 600,000 บาท – 1.3 ล้านบาทต่อเดือน โดยเบื้องต้น พบความเชื่อมโยงของกระเป๋าเงินดิจิทัลของชาวจีนรายดังกล่าวกับคดีอื่นๆ ในระบบรับแจ้งความออนไลน์แล้ว จำนวน 63 เคสไอดี โดยเคสไอดีที่มีแผนประทุษกรรมคล้ายกันในลักษณะหลอกให้รักแล้วลงทุน โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารชื่อเดียวกัน หรือ เลขที่บัญชีเดียวกัน จำนวน 19 เคสไอดี รวมมูลค่าความเสียหาย 20,087,017 บาท
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับชาวจีนคนดังกล่าวได้สำเร็จ จึงระดมทีมลงพื้นที่จนพบว่า น.ส. DI WU ได้เดินทางเข้าออกประเทศไทย กัมพูชา ลาว (สาวเหลี่ยมทองคำ) และมาเลเซีย เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันได้เช่าห้องพักพูลวิลล่าหรูแห่งหนึ่ง ในเมืองพัทยา อ.บางละมุงจ.ชลบุรี จึงร่วมกันนำกำลังเข้าตรวจค้นจับกุม
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร่วมกันจับกุม นางสาว DI WU อายุ 27 ปี สัญชาติจีน ตามหมายจับศาลอาญาที่ 1840/2568 ลงวันที่ 14 มี.ค.68 ความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมกัน และ ร่วมกันกันฟอกเงิน"
จากการตรวจค้น พบเอกสารเป็นหนังสือเดินทางที่ใช้ลงทะเบียนบัญชีกระเป๋าคริปโตเคอเรนซี่ซึ่งใช้รับผลประโยชน์จากเงินผู้เสียหาย เมื่อตรวจสอบข้อมูลโทรศัพท์มือถือ พบภาพถ่ายในลักษณะการใช้ชีวิตหรูหรา ที่ประเทศกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นการขับรถหรู การถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นว่ามีเงินสดจำนวนมาก รวมทั้งภาพการมั่วสุมเสพยา
เบื้องต้นผู้ต้องหารายนี้ ยังคงให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่าตนอาจจะโดนแฟนเก่านำข้อมูลของตนไปเปิดบัญชีคริปโตเคอเรนซี่เพื่อใช้ในการฟอกเงินให้แก่กลุ่มมิจฉาชีพในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนที่เดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านบ่อยเนื่องจากตนไปขายสินค้าออนไลน์ ประเภทบัตรคอนเสิร์ต แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อและอยู่ระหว่างตรวจสอบพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำหลักฐานมามัดตัวผู้ต้องหาเพิ่มเติมต่อไป ในส่วนผู้ต้องหาชาวไทยจำนวน 4 ราย ที่ทำหน้าที่เปิดบัญชีม้าธนาคาร และบัญชีม้าคริปโตเคอเรนซี่ ปัจจุบัน ได้เข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีเรียบร้อยแล้วจำนวน 3 ราย ส่วนอีก 1 ราย อยู่ระหว่างการเร่งติดตามจับกุมโดยขณะนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างเร่งขยายผลไปยังทรัพย์สินของผู้ต้องหา และผู้ร่วมขบวนการรายอื่นๆ เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายในการเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และ “นโยบายรัฐบาลในการจัดการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติยุค Digital Disruption” แก่ข้าราชการตำรวจระดับผู้บริหารทั่วประเทศ ในโครงการสัมมนาผู้บริหาร ระดับผู้บัญชาการหรือเทียบเท่า และผู้บังคับการหรือเทียบเท่า ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 โดยพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส./ผอ.ศตคม.ตร. ได้ขับเคลื่อนนโยบายผ่าน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบควบคุมสั่งการ บช.สอท. และ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด จนนำมาสู่ปฏิบัติการดังกล่าว