ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่หอประชุมบุญประคอง บัตรพรรธนะ วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม นายแพทย์พิทักษ์พงษ์ พายุหะ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (หลักสูตร 4 เดือน) รุ่นที่ 2 ที่วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ร่วมกับโรงพยาบาลขอนแก่น และเขตสุขภาพที่ 7 จัดขึ้น โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิราณี อิ่มน้ำขาว ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาบาลศรีมหาสารคาม คณะผู้บริหาร พยาบาลวิชาชีพจากโรงพยาบาลระดับต่าง ๆ ในเขตสุขภาพที่ ๗ และพยาบาลวิชาชีพจากเขตสุขภาพอื่นๆ เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 45 คน
โดย ดร.ศิราณี อิ่มน้ำขาว ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาบาลศรีมหาสารคาม กล่าวว่า ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและของประเทศไทย เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของอัตราการเสียชีวิตของคนไทย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทั่วโลก พบว่า 1 ใน 4 ของประชากร ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง ในทุกๆ 3 วินาที จะพบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน องค์การโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization: WSO) จึงได้ให้ความสำคัญในการลดอัตราป่วยและอัตราการตาย โดยกำหนดให้วันที่ 29 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันหลอดเลือดสมองโลก
จากข้อมูลดังกล่าว เขตสุขภาพที่ 7 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ ของพยาบาลเฉพาะทางโรคหลอดเลือดสมอง จึงมอบหมายให้วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก ในฐานะศูนย์วิชาการของเขตพัฒนาบุคลากรทางการพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับโรงพยาบาลขอนแก่น และเขตสุขภาพที่ 7 ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (หลักสูตร 4 เดือน) โดยหลักสูตรได้รับการอนุมัติจากสภาการพยาบาลให้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 1 รุ่น จำนวน 32 คน สำหรับการฝึกอบรมรุ่นที่ 2 ในครั้งนี้ ได้จัดอบรม ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม ถึง 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ภาคทฤษฎี ณ วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม ภาคปฏิบัติ ณ โรงพยาบาลขอนแก่น และศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพ ระบบสุขภาพ จริยธรรม สิทธิการเข้าถึงการรักษา การประเมินภาวะสุขภาพ และประมวลข้อมูลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีความซับซ้อนได้ และสามารถใช้เครื่องมือประเมินความบกพร่องด้านร่างกาย จิตใจ การมีส่วนร่วมทางสังคม และใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางคลินิก ในการดูแลผู้ป่วยเฉพาะราย ให้เกิดการฟื้นตัวและการฟื้นฟูโดยเร็ว รวมทั้งสามารถใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง กับการรักษาพยาบาล หัตถการ การผ่าตัด การจัดการบรรเทาป้องกันความรุนแรงจากโรค การบริหารยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาควบคุมโรคร่วมรวม ทั้งการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งเป็นการดูแลที่ครบวงจรในทุกระยะ และสามารถจัดการระบบข้อมูล การบันทึกทางการพยาบาล และใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกลเพื่อการรักษาพยาบาลในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำ การจัดการ การพัฒนาคุณภาพการพยาบาล การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น