กรณีแอร์บัส A340/500 ก็เช่นเดียวกัน การทำตลาดกลุ่มเป้าหมายของผู้โดยสาร ก็ควรที่จะเน้นทำตลาดผู้โดยสารที่มีกำลังซื้อสูงเช่นชั้นธุรกิจเป็นต้น แต่สายการบินแห่งชาติ กลับซื้อเครื่องแอร์บัสเอ 340 /500 มาทำตลาดโดยแบ่งจำนวนผู้โดยสารเป็น ชั้นธุรกิจ 60 ที่นั่ง ชั้นพรีเมี่ยม 45 ที่นั่ง และชั้นประหยัด จำนวน 110 ที่นั่ง ซึ่งการทำตลาดลักษณะนี้แม้ว่าผู้โดยสารจะเต็มทุกที่นั่ง ในภาวะที่ขณะนั้นราคาน้ำมันค่อนข้างสูง (อยู่ที่ประมาณ 150 เหรียญต่อบาร์เรล) ค่าบัตรโดยสารที่ขายได้ก็ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยรวมในแต่ละเที่ยวบิน ในขณะเดียวกันหากจะอ้างว่าตลาดในภูมิภาคนี้ไม่ใช่ชั้นธุรกิจเป็นชั้นประหยัด ก็ไม่ควรซื้อเครื่องรุ่นนี้มาแต่แรก เพราะบริษัทแอร์บัสก็บอกแนวคิดการออกแบบเครื่องรุ่นนี้มาแต่แรกแล้วว่าเป็นเครื่องบินพิสัยไกลพิเศษ เหมาะกับการทำตลาดชั้นธุรกิจเท่านั้น ลักษณะเดียวกับการผลิตเครื่องบินคองคอร์ดในอดีต ซึ่งเป็นเครื่องบินโดยสารความเร็วเหนือเสียง พิสัยไกล ซึ่งผลิตขึ้นมาเพื่อรองรับผู้โดยสารชั้นหนึ่งเท่านั้น จากการซื้อเครื่องแอร์บัส 340/500มาโดยไม่มีการวางแผนให้ดีก่อน ทำให้ต้องหยุดทำการบินในเที่ยวบินดังกล่าว และหยุดการใช้งานเครื่องบินหลังจากที่ได้ทำการบินไปเพียงระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี และทุกวันนี้เครื่องบินแบบดังกล่าวก็ไม่ได้นำมาปฏิบัติการบินอีกเลยจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ในส่วนของการเลือกเครื่องยนต์ก็จะเลือกเครื่องตามความเหมาะสมของการใช้งาน โดยพิจารณาจากความคุ้มค่า ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ความทนทาน ความประหยัดของเครื่องรุ่นนั้นๆ บริษัทผลิตเครื่องยนต์หลักๆก็จะมีบริษัทจีอี บริษัทโรลสรอยส์ และบริษัทแพรท แอนวิทนี่ ที่น่าสังเกตคือการบินไทยมีใบอนุญาตสามารถซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ (ยกเครื่อง) เครื่องยนต์จีอีได้เลย แต่การเลือกเครื่องยนต์มาใช้งานในเครื่องบินแต่ละรุ่นของการบินไทย กลับเลือกเครื่องจีอีมาใช้งานน้อยมาก นอกจากนั้นในเครื่องบินแบบเดียวกันการบินไทยเคยใช้เครื่องยนต์ถึง 3 บริษัทในเวลาเดียวกัน เช่นกรณีเครื่องแอร์บัส 330-300 การบินไทยเคยมีใช้ทั้งเครื่องจีอี แพรท และโรลสรอยล์ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งในด้านความคล่องตัวในการบำรุงรักษาและการควบคุมด้านอะไหล่ของเครื่องยนต์ไม่น่าจะเป็นผลดีเท่าไรนัก นอกจากนี้รายละเอียดในการต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ในเรื่องการดูแลการซ่อมบำรุงต่างๆก็เป็นเรื่องสำคัญในการตัดสินใจเลือกใช้เครื่องยนต์ของบริษัทนั้นๆด้วย เช่นกรณีเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787-800/900 ของการบินไทยที่ปัจจุบันมีจำนวน 8 ลำ ใช้เครื่องโรลสรอยล์ทั้งหมด แต่เกิดปัญหาด้านการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ ทำให้สามารถทำการบินได้เพียง 4 ลำ อีก 4 ลำ ต้องจอดรออะไหล่อยู่มากกว่า 7 เดือน (ข้อมูลถึง ธันวาคม 61) ยังสรุปไม่ได้ว่าจะทำการบินได้เมื่อไหร่ ซึ่งเป็นผลเสียทางธุรกิจมาก การซื้อเครื่องบิน เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ต้องวางแผนให้รอบคอบ ต้องศึกษาผลดีผลเสียด้านต่างๆในทุกมิติ เพราะเครื่องบินเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงลำละหลายพันล้าน การตัดสินใจซื้อแต่ละครั้งเป็นการใช้งบประมาณที่ผูกพันในระยะยาว หากตัดสินใจผิดพลาด การแก้ไขก็ทำได้ยากและเกิดผลเสียในระยะยาว การตัดสินใจซื้อเครื่องบินจึงควรมี "ยุทธศาสตร์" ที่ดีมีวิสัยทัศน์ที่ดีตอบโจทย์การทำธุรกิจการบินอย่างรอบด้าน แต่ด้วยความเป็นสายการบินแห่งชาติ การตัดสินใจซื้อเครื่องบินแต่ละครั้งของการบินไทยมักหนีไม่พ้นที่จะต้องตอบโจทย์ด้านอื่นๆด้วย ก็คงเป็นการบ้านที่ค่อนข้างสาหัสมากๆสำหรับผู้บริหารการบินไทยในปัจจุบันที่จะสร้างสมดุลย์ในด้านต่างๆในฐานะสายการบินแห่งชาติได้อย่างไร เพื่อที่จะสามารถนำสายการบินแห่งชาติผ่านวิกฤติที่แสนสาหัสนี้ไปได้ด้วยดี ***เขียนโดย สายฟ้า***