กำลังเป็นที่สนใจในโลกโซเชียลกรณีผักต้มค้างคืนและอุ่นซ้ำ จะทำให้เกิดสารหนู ล่าสุดวันนี้ (14 มี.ค.68) อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเพจ Jessada Denduangboripant ถึงประเด็นดังกล่าวว่า " ... กลายเป็นข่าวตามหน้าสื่อกระแสหลักมากมายอย่างรวดเร็ว .. แต่ประเด็นปัญหาคือ อาหารที่ปรุงสุกแล้ว เก็บค้างคืนในตู้เย็น เอามาอุ่นใหม่ มันจะเป็นอันตรายอย่างที่ว่าขนาดนั้นจริงหรือ ? โดยเฉพาะเรื่องที่บอกว่า ผักต้มค้างคืนจะเกิดสารหนู ?
คำตอบคือ ไม่น่าจะจริงครับ ! สารหนู ถ้าจะมีในอาหาร ก็จะมีปนเปื้อนมาตั้งแต่ในธรรมชาติของวัตถุดิบอาหารนั้นแล้ว ไม่ว่าในพืชผักหรือในเนื้อสัตว์ ... ไม่ใช่ว่าจะมีเพิ่มขึ้นหลังจากที่ถูกนำไปทำความร้อน ไปเก็บค้างคืน และนำกลับมาอุ่นใหม่
-------------
สารหนู (arsenic) เป็นธาตุกึ่งโลหะ ที่สามารถพบได้ในธรรมชาติ เช่น ดิน หิน แหล่งน้ำ การระเบิดของภูเขาไฟ หรือเกิดจากการเผาถ่านหิน ตลอดจนการใช้ปุ๋ย และสารกำจัดวัชพืชหรือศัตรูพืช
การใช้สารหนูในกระบวนผลิตทางอุตสาหกรรมบางอย่าง อาจทำให้มีการปล่อยน้ำเสียที่มีสารหนูปนเปื้อน ซึ่งเมื่อมีฝนตก อาจจะถูกชะล้างลงสู่สิ่งแวดล้อม เช่น ดิน แม่น้ำ ทะเล หรือมหาสมุทร เป็นต้น ทำให้สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้นๆได้รับสารหนูเข้าไปสะสมในร่างกาย และเมื่อผู้บริโภครับประทานสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป ก็จะได้รับสารเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายด้วย
สารหนูที่พบในธรรมชาติมี 2 รูปแบบ คือ สารหนูอินทรีย์ (Organic) และสารหนูอนินทรีย์ (Inorganic) ซึ่งสารหนูอนินทรีย์ เป็นชนิดที่มักพบในวงการอุตสาหกรรม การผลิตวัสดุต่าง ๆ และอาจพบในน้ำที่ปนเปื้อนสารหนู จัดว่าเป็นสารหนูที่มีความเป็นพิษสูงกว่า และถูกจัดให้เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในคนได้ .. ขณะที่ สารหนูอินทรีย์เป็นสารหนูที่พบได้ตามธรรมชาติ และอาจปนเปื้อนในอาหารบางชนิด เช่น ปลา สัตว์น้ำที่มีเปลือก เป็นต้น
จากการที่สารหนูนั้นพบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องไม่แปลก ที่คนเราอาจได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว ในปริมาณน้อยมาก ๆ ซึ่งร่างกายคนปรกติ จะสามารถขับสารหนูออกได้เอง โดยทางปัสสาวะในเวลา 2-3 วัน ถ้าได้รับสารหนูปริมาณน้อย แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากๆ เป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดการสะสมของสารหนูในร่างกาย แล้วเกิดความเป็นพิษได้
สำหรับการรับสารหนูเข้าร่างกายนั้น อาจเกิดจากการรับประทานอาหาร เช่น อาหารทะเล ข้าว เห็ด สัตว์ปีก ฯลฯ และดื่มน้ำดื่ม ที่ปนเปื้อนของสารหนู (ในบางประเทศ พบว่าน้ำจากแหล่งน้ำใต้ดิน เช่น บ่อน้ำ มักมีสารหนูปนเปื้อนปริมาณสูง) รวมไปถึง คนที่ทำงานอุตสาหกรรมที่มีสารหนูเป็นส่วนประกอบ ทำงานด้านการเกษตรที่ใช้สารหนูในการกำจัดศัตรูพืช หรืออาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารหนู .. ตลอดจน การสูบบุหรี่ ก็ยังทำให้ได้รับสารหนูเข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะจากใบยาสูบ ที่ปลูกในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของสารหนูในดิน
ดังนั้น กรณีที่คุณออม บอกว่าคุณแม่ตรวจร่างกายแล้วพบสารหนู ก็ต้องปรึกษากับแพทย์ว่ามีมากน้อยแค่ไหน ได้รับมาจากการทำกิจกรรมใด หรือรับประทานอะไรกลุ่มไหน ที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนสารหนู เป็นประจำหรือเปล่า ... แต่ไม่ได้เกิดมาจากการกิน "อาหาร ผักต้ม ค้างคืน" ครับ (ไม่รู้คุณออม ไปดูคลิปอะไรมา)
-------------------
ส่วนกรณีที่บอกว่า "การกินอาหารค้างคืน กลับมาอุ่นซ้ำ เสี่ยงเป็นมะเร็ง” เป็นความเชื่อผิดๆ ที่แชร์กันในโลกโซเชียลมานานแล้ว ... ซึ่งกรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้เคยออกมาชี้แจงแล้วว่า การรับประทานอาหารค้างคืน กลับมาอุ่นซ้ำ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง แต่อาจทำให้คุณค่าทางโภชนาการลดลง รวมถึงมีรสชาติเปลี่ยนไป
แต่อันตรายที่เป็นไปได้นั้น หลักๆ แล้วเกิดขึ้นได้จากการเก็บรักษาที่ไม่ถูกวิธี เช่น เก็บในตู้เย็นที่มีความเย็นไม่เพียงพอ ทำให้มีเชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโต จนสร้างสารพิษขึ้นมา เมื่อทานอาหารเหล่านั้นเข้าไป ก็จะมีผลต่อระบบทางเดินอาหารได้ ทำให้ท้องเสีย ไม่สบายได้
ที่พอจะมีให้กังวลบ้าง ก็แค่กรณีของอาหารที่ต้มตุ๋น เป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง เช่น ต้มจับฉ่าย หรืออาหารประเภทเป็ดพะโล้ ห่านพะโล้ หมูสามชั้น ซึ่งเวลาปรุงต้องเคี่ยวด้วยน้ำตาล เนื่องจากว่อาหารกลุ่มนี้มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ที่เมื่อถูกความร้อนนาน ๆ อาจเกิดสารกลุ่มเฮ็ตเตอโรไซคลิกเอมีน (heterocyclic amine) ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ถ้านำมาอุ่นซ้ำให้ความร้อนสูงหลายรอบ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงขึ้น
(แต่กรณีที่คุณออม กลัวเรื่องไข่ทอดไข่เจียว มีน้ำมัน เอามาอุ่นซ้ำแล้วจะเกิดสารก่อมะเร็ง อันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นครับ .. ที่เตือนกันเรื่อง "น้ำมันทอดซ้ำ" นั้นจะเป็นการนำเอามาน้ำมันมาใช้ทอดซ้ำๆ ร้อนจัดๆ หลายๆ ครั้งแล้ว (ประมาณ 4-5 ครั้ง) จนดำและมักเกิดสาร PAHs สารก่อมะเร็งขึ้นได้ .. ไม่ใช่ว่าจากแค่เอาไข่เจียวไข่ดาวมาอุ่นซ้ำครับ)
ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ค้างคืนและกลับมาอุ่นซ้ำ ควรคำนึงถึงอุณหภูมิของการเก็บรักษา และการอุ่นด้วยความร้อนอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์
และถ้าเลือกได้ ก็ควรรับประทานอาหารที่สดใหม่ ไม่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ"
ขอบคุณ เพจเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant