ดนตรี/ทิวา สาระจูฑะ ดูเหมือนเราเพิ่งผ่านปีใหม่ 2561 มาไม่นาน แต่ความจริงคือ ตอนนี้กำลังจะเข้าสู่ปีใหม่ 2562 แล้ว แม้ทั่วโลกจะพบปัญหาเศรษฐกิจเหมือนๆกัน แต่ธุรกิจดนตรีก็ยังดำเนินต่อไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป วิถีที่คล้ายโลกทั้งใบถูกแขวนไว้ในอากาศ และชีวิตหมุนไปด้วยปลายนิ้ว หลายปีที่ผ่านมา ยอดขายแผ่นคอมแพ็คท์ดิสค์ที่เป็นรายได้หลักของธุรกิจตกลงอย่างมาก แต่สองสามปีที่ผ่านมากระเตื้องขึ้น (ในทางสากล) ขณะที่การดาวน์โหลดและสตรีมิ่งเพิ่มขึ้น ตามยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่นิยมใช้บริการทางออนไลน์ และการกลับมาได้รับความนิยมของแผ่นเสียงหรือแผ่นไวนิล ก็ช่วยเติมตัวเลขที่ขาดหายไป ตัวเลขอาจจะไม่ถึงกับทดแทนกันได้ แต่ก็ช่วยค้ำจุนในธุรกิจดนตรียังสามารถดำเนินต่อไป-ในอีกรูปแบบหนึ่ง ธุรกิจดนตรีโลกที่ทำเงินมหาศาลในอดีตย่อมไม่ปล่อยให้วงการของตนพังทลายไปโดยไม่ขยับขยายเปลี่ยนแปลง ระยะหลังผู้ผลิตซอฟท์แวร์ด้านดนตรีก็ดูจะมีช่องทางมากขึ้นกว่าห้าหกปีที่ผ่านมา เพราะบริษัทที่ผลิตฮาร์ดแวร์หรือเครื่องเล่นผลงานดนตรีหลายแห่ง เริ่มผลิตเครื่องเล่นที่รวมทุกฟอร์แม็ทเอาไว้ด้วยกัน ได้แก่ เล่นแผ่นเสียง, เล่นแผ่นซีดี, เทปคาสเส็ทท์ และช่องเสียบธัมป์ไดรฟ์หรือแฟลชไดรฟ์ ซึ่งหมายความว่า นอกจากการซื้อผลงานเพลงทางออนไลน์แล้ว ผู้นิยมการฟังเพลงแบบเดิมๆก็สามารถมีเครื่องเล่น หลังจากทำท่าว่าจะเลิกรากันไปเสียหมด สำหรับบ้านเรา ธุรกิจดนตรีกลายเป็นธุรกิจที่ตื่นตูมกับความเปลี่ยนแปลงมากกว่าประเทศที่นำเราไปก่อน จึงมีชะตากรรมคล้ายๆธุรกิจสิ่งพิมพ์ แม้จะยังมีการผลิตผลงานดนตรีออกมา แต่ที่ทางให้วางขายก็ลดน้อยถอยลง ยุคเฟื่องฟูที่เคยขายเทปหรือแผ่นได้เป็นแสนเป็นล้านไม่ย้อนกลับมาอีกแล้ว น่าเศร้าที่บริษัทเพลงใหญ่ๆซึ่งควรจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนหรือประคับประคองธุรกิจดนตรี กลับไม่สร้างผลงานออกป้อนตลาด หรือผลิตออกมาน้อยลง ทั้งๆที่ต้นทุนการผลิตน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก (รวมถึงการผลิตมิวสิควิดีโอเพื่อโปรโมท) จากเครื่องไม้เครื่องมือและเท็คโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ในด้านดี เมื่อต้นทุนลดลง และการมีช่องทางเผยแพร่ทางโซเชี่ยล มีเดีย เป็นโอกาสของสังกัดเล็กๆและศิลปินอิสระสามารถผลิตผลงานออกมาได้มากขึ้น และหลากหลายแนวทาง เพราะไม่มีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์งาน แต่อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นให้ธุรกิจดนตรีกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยังต้องพึ่งกำลังและความเคลื่อนไหวจากบริษัทใหญ่ผู้ร่ำรวยจากดนตรีมานาน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะสำนึกถึงบุญคุณของดนตรีมากน้อยแค่ไหน ความเคลื่อนไหวอีกอย่างในการซื้อหาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับดนตรีในบ้านเราคือ ความนิยมในแผ่นไวนิลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากความนิยมในต่างประเทศบ้าง ความนิยมแผ่นเสียงในบ้านเราเกาะเกี่ยวมากับกระแสแฟชั่น “ฮิปสเตอร์” ผู้นิยมความทันสมัย ขณะเดียวกันก็เล่นความเป็นวินเทจ ความนิยมในแผ่นเสียงที่ขยายตัวขึ้น ทำให้เครื่องเล่นแผ่นและอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องพลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่เอาเข้าจริงๆ ตัวเลขที่หมุนเวียนตรงนี้ก็ยังไม่ใช่เงินหลักที่จะทำให้ธุรกิจดนตรีบ้านเรากระเตื้องขึ้นมากนัก ความหนืดเนือยของการขายซอฟท์แวร์ที่ดำเนินมาหลายปี ในด้านตรงกันข้ามคือการจัดคอนเสิร์ท หรือการออกแสดงสดของศิลปินกลับมีความคึกคักมากขึ้น เป็นการยืนยันว่า เมืองไทยเป็นประเทศแห่งการตามแห่ของแท้ เทศกาลดนตรีถูกจัดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงในประเทศ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับศิลปินและนักดนตรีที่มีโอกาสแสดงออกและทำรายได้ แต่ผู้ฟังหรือผู้ชมส่วนใหญ่ที่เข้าไปดูคอนเสิร์ท ก็เพื่อจะฟังเพลงฮิทที่ผ่านมาแล้วในอดีต เมื่อเพลงใหม่ๆที่ปล่อยขึ้นทางอากาศ มีไม่กี่เพลงที่ได้รับความสนใจแบบที่จับต้องได้จริงจัง เพลงที่ได้รับความนิยมระดับที่ร้องกันได้ทั้งบ้านทั้งเมืองอย่างในอดีตแทบจะไม่เกิดขึ้น ยิ่งตัวอัลบั้ม ถ้าขายได้หลักหมื่นก็ถือว่าเลิศหรูแล้ว นั่นเป็นภาพกว้างๆและคร่าวๆของวงการดนตรีในส่วนที่เกี่ยวกับด้านธุรกิจ ทีนี้มาดูกระแสดนตรีโลกบ้าง โดยใช้ฐานจาก บิลล์บอร์ด สื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกในการจัดอันดับและเสนอเรื่องราวดนตรี บนตารางอันดับเพลงใหญ่สุดของ บิลล์บอร์ด คือ ตารางซิงเกิ้ลที่เรียกว่า ฮ็อท 100 และตารางอัลบั้ม บิลล์บอร์ด 200 ซึ่งเป็นที่วัดความนิยมและยอดขายของผลงานทุกแนวดนตรี ผู้ที่ครองอันดับบนๆส่วนใหญ่ในปีพ.ศ. 2561หรือ 2018 ที่ผ่านมา ยังเป็นคนหน้าเก่าที่คุ้นเคยกับการขึ้นอันดับดีอยู่แล้ว เช่น เดรค, เอ๊ด เชียแรน, เทย์เลอร์ สวิฟท์, บรูโน่ มาร์ส, อาเรียน่า แกรนเด้, มารูน ไฟว์, อิเมจิน ดราก้อนส์ ฯลฯ โดยเฉพาะ เดรค ศิลปินแร็ป/อาร์แอนด์บีชาวแคนาดา กับอัลบั้มล่าสุด Scorpion ที่ติดอันดับ 1 ทันทีที่ออกวางขาย และมีซิงเกิ้ลถึง 7 เพลงที่ติดอันดับท็อป 20 ซึ่งในจำนวนนี้มี 3 เพลงติดอันดับ 1 สำหรับแนวดนตรีที่ครองอันดับมากที่สุดและกลายเป็นดนตรีกระแสหลักทุกวันนี้คือ ป็อปผสมกับอาร์แอนด์บี/ฮิป-ฮ็อป และเติมสีสันของเสียงอีเล็คทรอนิค ความจริงการทำดนตรีป็อปร่วมสมัยแบบนี้มีมาหลายปีแล้ว แต่ตารางอันดับเพลงปีก่อนๆนี้ยังมีดนตรีแนวอื่นผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาได้รับความนิยมมากกว่านี้ เพราะตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา ความนิยมในดนตรีป็อปผสมอาร์แอนด์บี/ฮิป-ฮ็อป เปิดช่องให้แนวอื่นสอดแทรกขึ้นมาน้อยเหลือเกิน หนังกับเพลงยังส่งเสริมกันและกัน ในปี 2018 มีอัลบั้มซาวน์ดแทร็คหลายชุดติดอันดับสูงบนตาราง บิลล์บอร์ด 200 และที่โด่งดังมากก็คือซาวน์ดแทร็คที่มาจากหนังเกี่ยวกับวงการดนตรี 2 เรื่อง นั่นคือ A Star is Born และ Bohemian Rhapsody แสดงให้เห็นว่าการทำเพลงไพเราะและประณีตพิถีพิถันด้วยน้ำมือคนก็ยังมีผู้ฟัง โลกยังหมุนไปเรื่อยๆ ต้องคอยติดตามดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวงการดนตรี หรือจะได้ฟังป็อปผสมกับอาร์แอนด์บี/ฮิป-ฮ็อปต่อไปอีกจนเลี่ยน และวงการดนตรีก็พังพาบลงไปในที่สุด