เสกสรร สิทธาคม [email protected] “เด็กทุกคนควรหมั่นศึกษาหาความรู้ และประพฤติตนเป็นคนดี มีระเบียบวินัย เพราะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้แต่ละคนประสบความสุขความเจริญ และความสำเร็จในชีวิตได้ ในวันข้างหน้า” พระราโชวาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระราชทาน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2562 พระราชทานกระทรวงศึกษาธิการ เชิญจัดพิมพ์ในหนังสือวันเด็กแห่งชาติ ชื่อ “นอกหน้าต่างบานเล็ก” วันเด็กแห่งชาติปีนี้ ตรงกับวันที่ 12 มกราคม 2562 ขออัญเชิญพระบรมราโชวาท พระราชดำรัสและพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนนำเสนอพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรด้วยทรงเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความพร้อมเป็นกำลังที่สำคัญของครอบครัว ของชุมชนและของสังคม ชาติ บ้านเมือง พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทานเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2523 ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็กปี 2524 ความตอนหนึ่งว่า “เด็กมีโอกาสดี เพราะอยู่ในวัยที่มีผู้คอยโอบอุ้มช่วยเหลือ. จึงต้องรีบเร่งขวนขวายเล่าเรียนความรู้ อบรมความดี ฝึกหัดทำการงานไว้ให้คล่องแคล่ว ขยัน และอดทน. เติบโตขึ้น จักได้เป็นที่พึ่งของตนเองและของคนอื่นได้ไม่เดือดร้อน.” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทานเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2524 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือวันเด็กปี 2525ความตอนหนึ่งว่า “...เด็กๆ จะต้องรู้ว่าความสุขความสบายมิใช่จะได้มาง่ายๆ เปล่าๆ. จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการประกอบการงานและความดีต่างๆ ซึ่งต้องพากเพียรกระทำอยู่ตลอดเวลา. คนที่ทำตัวไม่ดีไม่หมั่นทำการงาน จะหาความสุขความสบายไม่ได้. เพราะฉะนั้น เด็กทุกคนจะต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนความรู้ ความดีไว้ให้เต็มที่ สำหรับช่วยตนเองให้ได้ดีมีความสุข ความเจริญต่อไป.” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรพระราชทานในโอกาสปีเด็กสากลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522 ความตอนหนึ่งว่า “...เด็กเป็นผู้ที่จะรับช่วงทุกสิ่งทุกอย่างต่อจากผู้ใหญ่ รวมทั้งภาระรับผิดชอบในการธำรงรักษาความผาสุกสงบของประชากรในโลก. ดังนั้น เด็กทุกคนจึงสมควรและจำเป็นที่จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสมให้มีความสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ พร้อมทั้งการฝึกหัดขัดเกลาความคิดจิตใจให้ประณีต ให้มีศรัทธามั่นคงในคุณความดี มีความประพฤติเรียบร้อยสุจริต และมีปัญญาฉลาดแจ่มใสในเหตุในผล. ... หน้าที่นี้เป็นของทุกคน ที่จะต้องร่วมมือกันกระทำโดยพร้อมเพรียงสม่ำเสมอ คือผู้ที่เกิดก่อน ผ่านชีวิตมาก่อน จะต้องสงเคราะห์อนุเคราะห์ผู้เกิดตามมาภายหลัง ด้วยการถ่ายทอดความรู้ ความดี และประสบการณ์อันมีค่าทั้งปวงให้ ด้วยความเมตตาเอ็นดู และด้วยความบริสุทธิ์ใจ ให้เขาทราบ ให้เขาเข้าใจ และสำคัญที่สุด ให้เขารู้จักคิดด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง จนเห็นจริงด้วยตนเองได้ในความเจริญและความเสื่อม. ... โดยนัยนี้ บิดามารดาจึงต้องสอนบุตรธิดา พี่จึงต้องสอนน้อง คนรุ่นใหญ่จึงต้องสอนคนรุ่นเล็ก และเมื่อคนรุ่นเล็กเป็นผู้ใหญ่ขึ้น จึงต้องสอนคนรุ่นหลังต่อๆ ไปไม่ให้ขาดสาย. ความรู้ ความดี ความเจริญงอกงามทั้งมวล จึงจะแผ่ไพศาลไปได้ไม่มีประมาณ เป็นพื้นฐานของความวัฒนาผาสุกอันยั่งยืนในโลกสืบไป. ...” พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชน ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงตระหนักในพระราชหฤทัยดีว่า การพัฒนาการศึกษาของเยาวชนนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญของประเทศชาติ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาเป็นสำคัญอีกด้านหนึ่ง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้ง มูลนิธิอานันทมหิดล ให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษามีทุนสำหรับศึกษา หาความรู้ต่อในวิชาการชั้นสูงในประเทศต่างๆ โดยไม่มีเงื่อนไขข้อผูกพันแต่ประการใด เพื่อที่จะได้นำความรู้นั้นๆ กลับมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป และทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการจัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้น โดยสารานุกรมชุดนี้มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสารานุกรมชุดอื่นๆ ที่ได้เคยจัดพิมพ์มาแล้ว คือ เป็นสารานุกรมอเนกประสงค์ที่บรรจุเรื่องราวต่างๆที่เป็นสาระไว้ครบทุกแขนงวิชา โดยจัดแบ่งเนื้อหาของแต่ละเรื่องออกเป็น 3 ระดับ เพื่อให้เยาวชนแต่ละรุ่น ตลอดจนผู้ใหญ่ที่มีความสนใจได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ตามความเหมาะสมของพื้นฐานความรู้ของแต่ละคน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาวิชาการอุทิศเวลาและความรู้ เพื่อสนองพระราชดำริ โดยร่วมกันเขียนเรื่องต่างๆ ขึ้น แบ่งออกเป็น 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรทรงก่อตั้งกองทุนนวฤกษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ทั้งยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนริเริ่มในการก่อสร้างโรงเรียนตามวัดในชนบท สำหรับที่จะสงเคราะห์เด็กยากจนและกำพร้าให้ได้มีสถานที่สำหรับศึกษาเล่าเรียน โดยอาราธนาพระภิกษุเป็นครูสอนในวิชาสามัญต่างๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ตลอดจนช่วยอบรมศีลธรรมแก่เด็กนักเรียน ทั้งนี้ เป็นพระราชประสงค์ที่จะทรงให้เด็กนักเรียนได้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการศึกษาควบคู่กันไป อันจะทำให้เยาวชนของชาติ นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจะทำให้มีจิตใจที่ดี ที่ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม เพื่อที่จะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติต่อไปในอนาคต พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลกันดารรองรับครอบครัวยากจน ด้อยโอกาสเช่นโรงเรียนร่มเกล้า เริ่มจากการเป็นสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในหลายจังหวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทหารที่ปฏิบัติภารกิจในท้องที่ทุรกันดารได้ทำประโยชน์ต่อชุมชนและมีส่วนช่วยเหลือประชาชนในด้านการศึกษาตามโอกาสอันควร โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ทหารจัดสร้างโรงเรียนขึ้นในจังหวัดนครพนม สกลนคร นราธิวาส ปราจีนบุรีและแม่ฮ่องสอน เป็นต้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชน และยังเป็นการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารที่ไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่นั้นๆ กับราษฎรในพื้นที่ด้วย ในการดำเนินงานจัดสร้างโรงเรียนนั้น ทหารได้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายศึกษาธิการ เพื่อเลือกสถานที่ตั้งโรงเรียนที่เหมาะสมกับความจำเป็นที่สุด โดยราษฎรในพื้นที่ได้ร่วมอุทิศแรงกายในการก่อสร้างและอุทิศทุนทรัพย์สมทบเป็นทุนในการก่อสร้างโรงเรียนโดยเสด็จพระราชกุศลอีกด้วย และเมื่อการก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโรงเรียนเหล่านั้น พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า โรงเรียนร่มเกล้า ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังพระราชทานพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียนพระดาบส เป็นต้นด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตระหนักในพระราชหฤทัยว่า เยาวชนและประชาชนในท้องถิ่นกันดารห่างไกลดังกล่าวจะมีโอกาสทางการศึกษาน้อยอยู่มาก ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างที่นำสู่การได้เล่าเรียนทัดเทียมกันทั้งประเทศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้อันเกิดจากพระราชหฤทัยห่วงใยเพื่อให้เกิดช่องทางในการนำการศึกษาไปถึงท้องถิ่นห่างไกลกันดาร และนำการอบรมบ่มนิสัยไปสู่เยาวชนในพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นระบบเพื่อปลูกสำนึกความดีงามความซื่อสัตย์สุจริต ความรักชาติศาสนา ที่สำคัญคือการพระราชทานโอกาสทางการศึกษาไปยังประชาชนคนไทยอย่างกว้างขวาง พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชดำริและพระราชกณียกิจที่ทรงปฏิบัติเพื่อเด็กและเยาวชนไทยด้วยมีพระราชประสงค์ให้ครูอาจารย์และผู้ใหญ่ได้นำปลูกฝังหล่อหลอมเยาวชนเพื่อเป็นคนดีของชาติบ้านเมือง เป็นเครื่องมือสร้างฐานะครอบครัว เป็นกำลังในการสร้างความเจริญงอกงามแก่ชุมชนประเทศชาติด้วยวิถีแห่งความดีงามคือความซื่อสัตย์สุจริต มีเมตตากรุณา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน โครงการกองทุนการศึกษาในราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ขึ้นเป็นการพระราชทานโอกาสให้เด็กที่มีความประพฤติดีแต่ฐานะยากจนให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน และได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เติบโตเป็นคนดีมีคุณธรรมโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ขณะที่ยังทรงพระประชวรและประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ในฐานะ รองประธานกรรมการ โครงการกองทุนการศึกษา กล่าวได้กล่าวไว้ว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงให้ความสำคัญด้านการศึกษา ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดตั้ง "โครงการกองทุนการศึกษา" ในปี พ.ศ.2555 และมีกระแสพระราชดำรัสกับประธานองคมนตรีและคณะองคมนตรี ให้ดำเนินงานพัฒนายกระดับมาตรฐานการศึกษาที่มีคุณภาพ ควบคู่กับคุณธรรม จริยธรรม สร้างโอกาสแก่นักเรียนที่ขาดแคลน พัฒนาความรู้ให้ครูเพื่อแนะแนวสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเด็กนักเรียน ได้มีอนาคตและเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศ สมเด็จพระเจาอยูหัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ด้วยทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่องมาแต่ทรงพระเยาว์ และมีพระราชหฤทัยห่วงใยการศึกษาของเยาวชนคนไทยเพื่อให้ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน และทรงมุ่งหวังที่จะให้การศึกษาได้เป็นทางหนึ่งในการปลูกฝังหล่อหลอมอบรมบ่มนิสัยเด็กและเยาวชนเติบโตเป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม ได้ทรงตั้งพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอดที่จะทรงสืบสานพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการสรางคนดีของบานเมือง จึงพระราชทานพระราโชบายดานการศึกษา มุง สรางพื้นฐานใหแกผูเรียน 4 ดาน ไดแก 1) มีทัศนคติที่ดีที่ถูกตองตอบานเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง 3) มีคุณธรรม และ 4) มีงาน มีอาชีพ สามารถเลี้ยงตนเองเลี้ยงครอบครวัไดและเปนพลเมืองที่ดี และเนื่องในวันเด็กแห่งชาติได้พระราชทานพระราโชวาทความว่า “เด็กทุกคนควรหมั่นศึกษาหาความรู้ และประพฤติตนเป็นคนดี มีระเบียบวินัย เพราะว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้แต่ละคนประสบความสุขความเจริญ และความสำเร็จในชีวิตได้ ในวันข้างหน้า” พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต วันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2561 นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้