ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย
แม้ว่าแร่หายาก (RARE EARTH METALS) จะกลายเป็นพื้นที่ใหม่ของการเผชิญหน้าในโลกใบนี้
ทว่าลัทธิล่าอาณานิคมของยุโรปภายหลังยุคกลางได้เริ่มต้นในราวศตวรรษที่ 16 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อชาติหลายชาติทำการสถาปนาอาณานิคมในทวีปเอเชีย แอฟริกาและอเมริกา ซึ่งเป็นแนวคิดในการสนับสนุนนโยบายพาณิชย์นิยม (MERCANTILISM) ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างประเทศยุโรปและการเอาเปรียบทางการค้าด้วยการผูกขาดตลาด ตลาดวัตถุดิบ และแรงงานราคาถูกจากประเทศในอาณานิคมของตนเอง
ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจวัตถุประสงค์โดยรวมของลัทธิการล่าอาณานิคมในอดีตและปัจจุบันว่ามีความเหมือนและความต่างอย่างไร ดังสรุปเป็นประเด็นต่อไปนี้
1.การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำทรัพยากรมีค่าจากดินแดนอาณานิคมกลับสู่ประเทศแม่
2.การขยายอำนาจทางการเมือง ในการเพิ่มอิทธิพลและอำนาจในเวทีโลก
3.การเปิดตลาดใหม่สำหรับสินค้าของประเทศแม่
4.การเผยแพร่ศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อครอบงำความคิด
5.การสร้างฐานทางยุทธศาสตร์
6.การระบายพลเมืองจากประเทศแม่ไปตั้งถิ่นฐานและยึดครองดินแดน
ั7.การควบคุมเส้นทางเดินเรือของโลก เช่น คลองปานามา คลองสุเอซ ช่องแคบยิบบรอนตา ช่องแคบมะละกา เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในการล่าอาณานิคมจำเป็นต้องมีกองทัพที่เข้มแข็งสนับสนุน ซึ่งในศตวรรษที่ 16 คือการพัฒนากองเรือรบที่ทันสมัย โดยเริ่มจากกองเรือใบ 3 เสา ปืนใหญ่และอาวุธปืน ซึ่งได้มีการพัฒนากันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ทว่าในยุคใหม่ได้มีการปรับปรุงวิธีการที่สลับซับซ้อนมากขึ้นดังต่อไปนี้
1.การครอบงำทางเศรษฐกิจผ่านบรรษัทข้ามชาติและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
2.การแทรกแซงทางวัฒนธรรมที่ถือว่าเป็น Soft Power
3.การควบคุมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยผ่าน Platform ต่างๆ
4.การแทรกแซงทางการเมืองโดยเฉพาะการอ้างลัทธิการปกครองที่อาจมีรูปแบบแตกต่างจากตน ตลอดจนการอาศัยองค์การระหว่างประเทศ และข้ออ้างของกฎหมายระหว่างประเทศ
ด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้เกิดลัทธิความเป็นเจ้า (Hedgemony) ซึ่งต่างก็พยายามที่จะให้ตนเองมีอำนาจมากที่สุด ทั้งด้านการทหารและเศรษฐกิจ จนนำมาสู่ความขัดแย้งและสงครามใหญ่ แต่เป้าหมายหลักยังคงเหมือนเดิมนั่นคือ การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและการควบคุมทรัพยากรเหล่านั้น โดยอาจจะมีการผสมผสานกันระหว่างอำนาจทางทหาร อำนาจทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมือง ด้วยกลไกต่างๆที่ซับซ้อนมากขึ้น แม้แต่การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและมติองค์การระหว่างประเทศ
สำหรับวัตถุประสงค์ของการล่าอาณานิคมเพื่อระบายพลเมืองนั้น อย่างการยึดครองทวีปอเมริกาของตะวันตกรวมทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนพื้นเมือง การยึดครองออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ของสหราชอาณาจักรและเช่นกันตามมาด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนพื้นเมืองนั้นดูจะลดน้อยลงไปมาก ด้วยการพัฒนาองค์การระหว่างประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เช่น การยึดครองและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปาเลสไตน์ของอิสราเอล
ทว่าประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ก็สร้างปรากฏการณ์ให้โลกตะลึงด้วยการประกาศจะยึดกรีนแลนด์ ผนวกดินแดนแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการเข้าถึงแร่หายาก
ทั้งนี้ในโลกปัจจุบันแร่หายาก (RARE EARTH) ต่างมีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น GALLIUM และ GERMANIUM ซึ่งอย่างแรกเป็นองค์ประกอบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และอย่างหลังเป็นองค์ประกอบในการผลิตเคเบิลใยแก้วนำแสงและแผ่นโซลาร์เซลส์
อย่างไรก็ตามความต้องการแร่หายากและแร่ที่จำเป็นในการผลิตองค์ประกอบของสินค้า IT และ AI นำมาสู่การแข่งขันและความขัดแย้งในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจ (Geopolitical Economy) ดังเช่นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เช่น การสั่งแบนด์สินค้าไฮเทคโดยเฉพาะ Micro Chip ไปสู่จีน ทำให้จีนตอบโต้ด้วยการสั่งแบนการส่งแร่หายากไปสหรัฐฯ เช่น gallium,germaniumตลอดจนควบคุมการส่งแร่หายากอีก 5 ชนิด คือ Tungsten, Telurium, Bismuth Molybdenum และ Indium ซึ่งจีนควบคุมอยู่เป็นส่วนใหญ่
แต่ความต้องการแร่หายากที่จำเป็นต่อการขยายตัวของการผลิตสินค้าและบริการตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังก้าว หน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดแรงกดดันต่อประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่เรียกว่า Global South ทำให้ประเทศเหล่านั้น แม้ส่วนหนึ่งจะเกิดความหวังในการเพิ่มรายได้ เพื่อมาพัฒนาประเทศของตน แต่ในอีกด้านหนึ่ง อาจเกิดอันตรายจากการเข้าล้มล้างการปกครองหรือครอบงำทางการเมือง จนเกิดสงครามกลางเมือง เหมือนที่เกิดขึ้นในแอฟริกามาแล้ว เช่น เพชรในซีร่าลีโอน ยูเรเนียมที่ไนเจอร์ ทองคำในมาลี โคบอล ในคองโก น้ำมันในไนจีเรีย จนเกิดสงครามกลางเมืองจนประเทศเสียหายมาแล้ว
ปัจจุบันมี 3 ประเทศในลาตินอเมริกาที่มีแร่ลิเทียม มากสุดในทวีปอเมริกาใต้ คือ โบลิเวีย อาร์เจนตินา และชิลี กำลังถูกจับตามองจาก Elon Musk เพราะมันเป็นแร่สำคัญในการสร้างแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าหลักอันหนึ่งของ Musk
ทั้งนี้ในปัจจุบันประธานาธิบดีคนใหม่ที่เป็นนายทุนฝ่ายขวาจัดและมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจการเงินกับ Musk กำลังดำเนินนโยบายหลายอย่างเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อ Musk
ในขณะที่หลายประเทศที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ว่าจะมีปริมาณแร่หายากมากพอควรเพื่อทดแทนการผูกขาดแร่ดังกล่าวจากจีน เช่น เมียนมา ไทย มาดากัสการ์ มาเลเซีย อินเดีย และบราซิล ซึ่งในแง่หนึ่งก็นับเป็นข่าวดี แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจจะกลายเป็นภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่ได้
อนึ่งต้องเข้าใจว่าสหรัฐฯเป็นนักล่าอาณานิคมด้วยประเทศหนึ่ง แต่ขณะนี้ทรัมป์ได้ปรับยุทธศาสตร์ที่ใช้มากว่า20ปีคือการเป็นตำรวจโลกและมหาอำนาจอันดับ1 มาเป็นการถอยทางยุทธศาสตร์นั่นคือถอนตัวจากความขัดแย้งในยุโรป ปล่อยให้เป็นเรื่องของยุโรป ด้วยตระหนักว่าไม่อาจเผชิญหน้ากับความขัดแย้งใน3สมรภูมิได้ จึงหันไปเน้นการกระชับอำนาจในลาตินอเมริกาให้มากขี้น และสร้างความเข้มข้นในการปิดล้อมจีนให้มากขี้นเช่นกัน
ทว่าแร่หายากในยูเครนก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สหรัฐฯบังคับใช้หนี้จากยูเครนจากการที่มาช่วยยูเครนทำสงคราม