อุทยานวิทยาศาสตร์ มข. ร่วมผลักดัน “น่าอยู่” แพลตฟอร์มอสังหาฯ ครบวงจร พร้อมปิดระดมทุนพรี ซีรีส์ A กว่า 40 ล้าน ตอกย้ำการสนับสนุนสตาร์ทอัพสู่ตลาดโลก
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข.เปิดเผยว่า น่าอยู่เป็นแพลตฟอร์มด้านอสังหาริมทรัพย์แพลตฟอร์มแรกของประเทศไทยที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนหาที่อยู่อาศัยในแต่ละจังหวัดอย่างครบถ้วน และด้วยการสนับสนุนจากอุทยานฯ ทำให้น่าอยู่ สามารถดึงดูดนักลงทุนระดับประเทศได้สำเร็จ นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ มข. ยังเดินหน้าสร้าง “Nextgen Synergy X” ซึ่งเป็นโมเดลคอมมูนิตี้สำหรับสตาร์ทอัพที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการต่างๆ ภายใต้การดำเนินงานของอุทยานฯ โดยได้ตั้งเป้าหมายในการผลักดันการจัดตั้งบริษัทสตาร์ทอัพใหม่ไม่น้อยกว่า 12 รายต่อปี เพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่พร้อมเติบโตในอนาคต
“ "น่าอยู่" (NaYoo.co) เป็นสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการพื้นที่อาคารอำนวยการฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก RSP Northeast 1 ได้ประกาศความสำเร็จในการระดมทุนรอบ Pre-Series A มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท จากพันธมิตรระดับแนวหน้า ได้แก่ NVEST Ventures และ บริษัท ออลคอนส์ วัน จำกัด (Allkons One) ความสำเร็จของน่าอยู่ ไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญในการขยายบริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2570 และบุกตลาดอาเซียนภายในปี 2572 แต่ยังสะท้อนถึงบทบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์ มข. ในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เชื่อมโยงสตาร์ทอัพเข้ากับภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน และสถาบันการศึกษาอย่างเป็นระบบ
ขณะที่ นายภัคณัฎฐ์ บุญเชิดชัยยันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น่าอยู่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า น่าอยู่ เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยลดขั้นตอนและเวลาในการค้นหาข้อมูลที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ในแต่ละจังหวัดด้วยข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่ครบถ้วน ทันสมัย และแม่นยำ ด้วยคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและข้อเสนอที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า ทั้งยังคงมีเครือข่ายพาร์ทเนอร์แข็งแกร่ง เช่น ขอนแก่นน่าอยู่ อุบลน่าอยู่ ขณะเดียวกันยังคงมีแคมเปญการตลาดเชิงรุกทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
“ จากการตรวจสอบพบว่ามียอดจองแล้วกว่า 1,800 ยูนิต มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท โดย ผู้ใช้บริการในแพลตฟอร์มกว่า 8 ล้านราย ครอบคลุม 10 จังหวัดหลัก อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่ง น่าอยู่ ได้ตั้งเป้าขยายบริการทั่วประเทศภายในปี 2570 และขยายสู่ตลาดอาเซียนภายในปี 2572 อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนน่าอยู่ ของอุทยานวิทยาศาสตร์ มข. เป็นหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในการสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพในระดับภูมิภาค โดยอุทยานฯ ไม่เพียงช่วยเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับแหล่งทุน แต่ยังสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเครือข่ายธุรกิจ เพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถแข่งขันในระดับโลก อุทยานวิทยาศาสตร์ พร้อมเดินหน้าสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมและผลักดันสตาร์ทอัพให้เติบโต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทย"