วันที่ 13 มี.ค.68 ที่ห้องประชุมมิราเคิล แกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2568 ว่า สำหรับแพทย์ฉุกเฉิน ทุกนาทีมีค่า แต่เข้าใจว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบปัญหาเหมือนกันคือขาดแคลนทรัพยากรและมีจำกัด ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ แนวทางแก้ไขส่วนหนึ่งคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน กทม.เองยังมีปัญหามากมาย เชื่อว่ายังสามารถเรียนรู้จาก อปท.จังหวัดต่าง ๆ ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้ เช่น สงขลา อุบล ตรัง พะเยาว์ มหาสารคาม เป็นต้น เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในครั้งนี้ จะช่วยให้สามารถบริการประชาชนได้ดีขึ้น ขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานในครั้งนี้ เชื่อว่าประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชน

ในฐานะเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้ กทม. มีการเตรียมพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะเนื้อหาด้านวิชาการต่าง ๆ เพื่อให้ อปท.ทั่วประเทศมาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงจัดที่พักอาศัยให้ผู้ร่วมงาน ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ราว 1,569 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 50 เขต มีประชากรโดยรวมกว่า 10 ล้านคน หัวใจคือการประสานงานกับภาคส่วนอื่น ทั้งอาสาสมัครและภาคเอกชน ปัจจุบันตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินภายในเวลา 8 นาที ยังทำไม่ถึง แต่เชื่อว่าจะมีการพัฒนา และเข้มแข็งขึ้น

"ในภาพรวมเชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้นเรามีการเสริมเทคโนโลยีเข้าไป เพื่อให้บริการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น การประชุมครั้งนี้จะเป็นเวทีหนึ่งที่ทำให้เราปรับปรุงการให้บริการ โดยรับฟังความรู้ข้อมูลจาก เพื่อน อปท. เพื่อการเข้าถึงผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว กรุงเทพฯ อาจมีอุปสรรคด้านระยะทางและการจราจร เราพยายามใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เช่น เพิ่มรถมอเตอร์แลนซ์มากขึ้น มีการใช้ Telemedicine เพื่อเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล หรือช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นก่อนหน่วยแพทย์ฉุกเฉินจะไปถึง รวมถึงการจัดทำแผนที่ตำแหน่งหน่วยฉุกเฉินต่าง ๆ ทำให้เราเข้าใจปัญหาและกระจายทรัพยากรได้ดีขึ้น กทม. พยายามใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมาเสนอในการประชุมครั้งนี้ด้วย" นายชัชชาติ กล่าว

เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน 2551 กำกับดูแลโดยคณะกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติงาน จัดฝึกอบรม และเป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งเสริม อปท.ให้มีบทบาทในการบริหารจัดการ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเปิดโอกาสให้ อปท.สามารถเป็นเจ้าภาพงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ โดยปี 2568 กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 13-15 มี.ค. ภายใต้แนวคิด ท้องถิ่นก้าวไกล การแพทย์ฉุกเฉินไทยเข้มแข็ง

"การจัดประชุมดังกล่าวมีความสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ระดับท้องถิ่นต่าง ๆ เนื่องจาก พื้นที่การให้บริการแพทย์ฉุกเฉินในท้องถิ่นยังไม่ครอบคลุม หากประชาชนในท้องถิ่นเจ็บป่วยฉุกเฉินจะทำอย่างไร ให้หน่วยบริการแพทย์ฉุกเฉินสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันเวลา ลดโอกาสเสียชีวิตบาดเจ็บและพิการของประชาชนในท้องถิ่น สพฉ.จึงพยายามผลักดันให้แผนกระจายอำนาจฉบับที่ 3 บรรจุการแพทย์ฉุกเฉินไว้ด้วย เพื่อให้ท้องถิ่นทั่วประเทศสามารถเข้ามาทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย มีประสิทธิภาพ" เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ กล่าว