บุรีรัมย์ ชมความน่ารักของ "นากใหญ่ขนเรียบ" สัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ โผล่กลางถนน "ป่าดงใหญ่"
เฟชบุ๊กเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ โพสต์คลิปภาพพร้อมข้อความว่า "มองซ้าย มองขวา ขอข้ามถนนหน่อย นากใหญ่ขนเรียบ แห่งป่าร้อยรู วิดีโอโดย นายพงษ์ชัย มูลสาร #ป่าละเลิงร้อยรู #เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่" จากนั้นทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์
จากการสอบถามนางสาวภัทรภร ที่รักษ์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ ให้ข้อมูลว่า คลิปภาพที่เห็นนั้นเป็นคลิปภาพ จากนายพงษ์ชัย มูลสาร เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เป็นคนถ่ายไว้ได้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา พบประมาณ 7-14 ตัว จะมีทั้งหมด 2 กลุ่มด้วยกัน นอกจาก เจ้าหน้าที่จะเห็นนากขนเรียบเดินข้ามถนน ยังพบในอ่างเก็บน้ำเขากะป๊อด หรืออ่างลำนางรอง พื้นที่ของหน่วยพิทักษ์ป่าระเริงร้อยรู้ เนื่องจากมีความชื้นเพราะนากเป็นสัตว์ที่อยู่ในลักษณะครึ่งบกครึ่งน้ำ จะชอบน้ำเป็นส่วนมาก ซึ่งนอกจากนากขนเรียบแล้ว ที่พบบ่อย ก็จะมีกระทิง กวาง ช้าง นกกระสาคอขาว นกแขกเต้า จุดที่พบบ่อยก็จะเป็นอ่างเก็บน้ำ
สำหรับนากใหญ่ขนเรียบ ชื่อวิทยาศาสตร์: Lutrogale perspicillata) เป็นนากชนิดหนึ่ง จัดเป็นนากชนิดที่ใหญ่ที่สุดที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียมาก มีลักษณะแตกต่างไปจากนากใหญ่ธรรมดา (Lutra lutra) และ นากจมูกขน (L. sumatrana) คือ มีหัวกลม แนวขนบนจมูกเป็นรูปตัววีคว่ำ ขนสั้น หูมีขนาดเล็กและมีลิ้นปิดหูเวลาว่ายน้ำเพื่อมิให้น้ำเข้าหู ขนตามลำตัวมีสีน้ำตาลปนสีดำหรือสีน้ำตาลอ่อน บริเวณท้องมีสีอ่อนกว่าบริเวณหลัง หางแบน และมีความยาวประมาณร้อยละ 60 ของลำตัว อุ้งเท้าและนิ้วเท้ามีขนาดใหญ่ มีความยาวลำตัวและหัว 65–75 เซนติเมตร ความยาวหาง 40–45 เซนติเมตร น้ำหนักเต็มที่ 7–11 กิโลกรัม มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่เนปาล, อินเดีย, ภาคตะวันตกของมณฑลยูนาน, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนามตอนใต้, มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา
มีพฤติกรรมอาศัยตามพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นที่ลุ่มต่ำ เช่น ริมทะเลสาบ ลำธาร คลอง ใช้หนวดเป็นประสาทสัมผัสในการรับรู้ เช่นเดียวกับนากชนิดอื่น ๆ โดยใช้หนวดทำหน้าที่รับแรงสั่นสะเทือนจากการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ กินอาหารได้หลากหลายประเภท ทั้ง สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ รวมทั้งนกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก เช่น หนู ด้วย ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน มักอยู่รวมกันเป็นครอบครัวเล็ก ๆ ยกเว้นในสถานที่ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์อาจอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ มีเท้าและเล็บแข็งแรงจึงสามารถขุดรูริมตลิ่งได้ลึกถึง 3 เมตร เพื่อใช้การเลี้ยงดูลูกอ่อน ลูกนากที่เกิดใหม่จะลืมตาภายในเวลา 10 วัน และออกหากินได้เองเมื่ออายุได้ 3 เดือน.