“อนุทิน” สั่ง “ปลัด มท.” เร่งประชุมคณะกรรมการสอบ คลี่ปม “สำนักงานประกันสังคม-ปลัดแรงงาน” เทงบซื้อตึก 7 พันล้าน ให้เร็วที่สุด กำชับทำให้เต็มที่ไม่ต้องกลัวอิทธิพล เชื่อ “อรรษิษฐ์” ทำอะไรเร็ว ยิ่งกว่าเปิดปุ๊บ ติดปั๊บ ด้าน “พิพัฒน์” ไฟเขียว คกก.สอบซื้อตึก 7พันล้าน จ่อคุยปลัดแรงงาน โชว์สปิริตหลีกดูงานประกันสังคม 


เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 12 มีนาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สำนักงานประกันสังคม และนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กำชับอะไรหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ได้กำชับให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ไม่ต้องไปกลัวธง หรืออิทธิพลใดๆทั้งสิ้น ให้ดำเนินการตามข้อเท็จจริง ซึ่งตนได้โทรศัพท์ไปแจ้งนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่า ให้ดำเนินการเรียกประชุมครั้งแรกโดยเร็ว และได้ผลสอบข้อเท็จจริง ถึงแม้ว่าจะกำหนดไว้กรอบระยะเวลาไว้ 90 วัน ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากจะให้เร็วกว่านี้ แต่ตนเชื่อว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทย เวลาทำอะไรรวดเร็วอยู่แล้ว ยิ่งกว่าเปิดปุ๊บ ติดปั๊บเสียอีก

เมื่อถามว่าเรื่องของตึกสูงย่านพระราม 9 มูลค่า 7 พันล้านบาท มีกระแสข่าวถึงอดีตรัฐมนตรีด้วย เกรงจะทำให้การตรวจสอบติดขัดหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตนไม่รู้ว่า เชื่อมโยงอะไรถึงใคร แต่ทุกอย่างขอให้เป็นไปตามหลักฐาน และข้อเท็จจริง


เมื่อถามว่า เรื่องนี้ปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจจะไม่กล้าเข้าไปจัดการ นายอนุทิน ถามกลับทันทีว่า “มีเหรอ ปลัดของใครอ่ะ” พร้อมยืนยันว่า คนใดที่ทำผิดกฎหมาย และเป็นข้าราชการที่มีความกลัว ก็มาอยู่ตรงนี้ไม่ได้ เลิกได้แล้ว ใครจะมีอิทธิพลมากกว่ารัฐบาล


เมื่อถามว่าเรื่องนี้ประชาชนจะได้รับความกระจ่าง จากคณะกรรมการชุดนี้ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า แน่นอน ก็ดูชื่อคณะกรรมการแต่ละคนดู

เมื่อถามว่ามีชื่อ “บิ๊กเนม” อยู่ในคณะกรรมการดังกล่าวหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ก็นี่ไง จึงต้องตั้งข้าราชการระดับ 11 เป็นประธานฯ ซึ่งตนเชื่อมั่นใจ ในตัวปลัดกระทรวงมหาดไทยว่า จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา ไม่มีการบิดเบือน หรือเกรงกลัวใดๆ


ทั้งนี้ระหว่างสัมภาษณ์นายอนุทิน ปรากฏว่า นายอรรษิษฐ์ ได้เดินมาถึงตรงบริเวณนั้นพอดี และได้เดินมายืนคู่กับนายอนุทิน ผู้สื่อข่าวจึงหันไปถามนายอรรษิษฐ์ว่า นายอนุทิน อยากให้เรียกประชุมให้เร็วที่สุด ทำให้นายอรรษิษฐ์ ขานรับทันที “ครับผม” ทำให้นายอนุทิน หัวเราะ ก่อนพูดแซวว่า “ครับผมเลย เห็นไหม ไม่มีหลวมเลย คับอย่างเดียว“

จากนั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า หลังจากนี้จะดูข้อเท็จจริง และจะเรียกประชุมคณะกรรมการโดยเร็ว เนื่องจากได้รับคำสั่งมาแล้ว

เมื่อถามว่า มีความหนักใจหรือไม่ เพราะต้องตรวจสอบระดับรัฐมนตรี และระดับปลัดกระทรวงฯ นายอรรษิษฐ์ กล่าวว่า ต้องดูที่ข้อเท็จจริง และต้องดูหลักฐาน

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เซ็นคำสั่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย สอบการใช้งบสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อาทิ การซื้อตึกมูลค่าหลายพันล้าน รวมถึงตอบข้อเท็จจริง ปลัดฯแรงงาน ในฐานะอดีตเลขาธิการ สปส. ว่า เรายินดีที่จะให้มีการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสทุกมิติ ซึ่งใครจะขอเอกสารหรือข้อมูล อะไรหากเป็นรายบุคคลคงจะไม่สามารถให้ได้ แต่หากมีเจ้าของหน่วยงาน หรือกรรมาธิการ (กมธ.) ก็พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพราะสิ่งที่ทำไปเพื่อความรอบคอบโดยให้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุด คือการซื้อตึก SKYY 9 ย่านพระราม 9 ก็พร้อมให้การตรวจสอบ โดยที่ผ่านมาเจ้าที่ประกันสังคมได้มีการศึกษา โดยให้บริษัทกลางทำกาคประเมินสินทรัพย์เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ รวมถึงการประเมินผลตอบแทน

เมื่อถามว่า หลังเกิดเรื่องปลัดแรงงานได้มีการมาพูดคุยแล้วหรือยัง นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนตัวได้มีการชี้แจงและพูดคุยกันในทุกมิติตลอดเวลา แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ดังนั้นเมื่อนายอนุทิน ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้วก็อยากให้รอดูผลการสอบข้อเท็จจริงที่มีปลัดมหาดไทย เป็นประธาน ขณะที่กระทรวงแรงงานส่งตัวแทนรองปลัดกระทรวงฯ และเลขาธิการ และรองเลขาธิการ สปส. เป็นตัวแทน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีทั้งหมด 7 คน แต่มีอำนาจในการโหวตเพียงแค่ 5 คน ส่วนตัวแทนฝ่าย สปส.ไม่สามารถโหวตได้ จึงเหลือเพียงแค่รองปลัดกระทรวงฯ ที่มี 1 เสียงสามารถร่วมโหวตได้  ส่วนสาเหตุที่ต้องส่งรองปลัดแรงงาน เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น เพื่อที่จะได้หยิบข้อมูลนำมาให้คณะกรรมการเร็วที่สุด

เมื่อถามว่า ระหว่างที่มีการสอบสวนปลัดแรงงาน จะแสดงสปิริตหยุดการทำงาน หรือรัฐมนตรีมีแนวคิดที่จะให้พักงานก่อนหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนคิดว่าคงไม่เกี่ยว เพราะขณะนี้เลขา สปส.ได้เปลี่ยนคนไปแล้ว และปลัดแรงงาน ก็ไม่รับผิดชอบสำนักงานประกันสังคมโดยตรง

“แต่ในส่วนที่ท่านปลัดแรงงาน เป็นประธานการประชุมในบอร์ดต่างๆ ในประกันสังคม ตรงนี้คงจะต้องหารือกับปลัดกระทรวงแรงงานอีกครั้งหนึ่ง ว่าท่านจะแสดงเป็นสปิริตอย่างไร หรือจะมอบงานในท่านใดท่านหนึ่งไปดูแลประกันสังคม เพื่อไม่ให้งานชะงัก และตนก็ต้องหารือกับรองนายกฯอนุทินด้วย” นายพิพัฒน์ กล่าว