“อนุทิน”สั่งทุกกระทรวงเตรียมข้อมูลซัพพอร์ต “นายกฯอิ๊งค์” ให้พร้อม “ภูมิธรรม”ปัดรัฐบาล-ฝ่ายค้านซูเอี๋ย ปมตัดชื่อ “ทักษิณ” ชี้เปลี่ยนญัตติเป็นอำนาจประธานสภา “ศิริกัญญา” ยันจุดยืน “ปชน.” ไม่ถอนชื่อ “ทักษิณ” พ้นญัตติซักฟอก ลั่น ทำตามกม.ทุกประการ มาตามนัด “81 สว.”ตบเท้ายื่น “ป.ป.ช.”สอบ “ทวี–ยุทธนา” ผิด ม.157 รับสอบสอบคดี “ฮั้วเลือกสว.” ทั้งที่ไม่มีอำนาจ เตือนระวังจบไม่สวย “ทวี”คาดใช้เวลา 3 เดือน รู้ผลคดีฮั้วเลือก สว. แย้มมีสว.กว่า 140 คน จ่อถูกเรียกสอบ ย้ำให้ความเป็นธรรม มอง สว.ชงยุบ DSI เพราะอาจคิดว่ามีชื่อตัวเองอยู่ในโพย
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 12 มีนาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่มีข้อถกเถียงให้ฝ่ายค้านจะต้องแก้ญัตติที่มีชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกน่าจะเป็นผลดีกับรัฐบาลหรือไม่ ว่า ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีมีความพร้อมที่จะตอบและรัฐบาลก็มีความพร้อมที่จะชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจอยู่แล้ว วานนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการแจ้งรัฐมนตรีทุกกระทรวง ให้เตรียมข้อมูลให้พร้อม ซึ่งตนเดาเล่นๆ ว่า นายกรัฐมนตรีน่าจะตอบเองด้วยซ้ำ แต่ในส่วนของรัฐมนตรียังคงไว้ซึ่งสิทธิในการชี้แจง ถ้าหากถูกพาดพิง และถ้าหากประเด็นนี้เป็นประเด็นเชิงรายละเอียด ก็ควรจะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติมาชี้แจง
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่มีการขีดเส้นว่าจะต้องยื่นแก้ญัตติภายในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ที่อาจจะไม่ทัน นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภา เรามีหน้าที่เตรียมความพร้อม เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นเช่นนี้อาจจะไม่มีการอภิปราย นายอนุทิน กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่น่าจะไปถึงขั้นนั้น
เมื่อถามว่า เชื่อว่าจะมีทางออกหรือฝ่ายค้านอาจถอยใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวอย่าไปพูดว่าใครถอยหรือไม่ถอยเลย จะไปเพิ่มความกดดันเปล่าๆ ทุกฝ่ายก็ทำหน้าที่ โดยฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ ส่วนฝ่ายรัฐบาลทำหน้าที่ชี้แจง ซึ่งเรื่องอื่นๆ สำหรับตน คิดว่าตกลงกันได้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ในญัตติส่วนตัวคิดว่าไม่ควรมีชื่อนายทักษิณ ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้ายื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรี ก็ควรจะพูดถึงแค่นายกรัฐมนตรี
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึง การเตรียมความพร้อมรับมือศึกซักฟอกในส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุน ข้อมูลนายกฯว่า ในส่วนของตนที่รับผิดชอบงานในตำแหน่งรองนายกฯและกระทรวงกลาโหม ไม่มีปัญหา เรื่องการชี้แจง ซึ่งทุกหน่วยงานที่ตนกำกับดูแลพร้อมที่จะให้ข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งได้สั่งการไปว่า ประเด็นไหน ที่คิดว่าเป็นปัญหา ให้ไปหาข้อมูล จัดการเคลียร์ปัญหาให้เรียบร้อย พร้อมทั้งให้เตรียมเหตุผล ที่จะอธิบายประชาชนเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น ตนพร้อมตอบทุกคำถามอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ศึกซักฟอกครั้งนี้ ฝ่ายค้านไม่ได้ระบุชัดเจน ว่าเป็นกระทรวงใด ทำให้เป็นเรื่องยาก ในการเตรียมข้อมูล แต่หากจะซักฟอกในประเด็นที่ว่า นายกฯกระจายงาน ให้ใครเป็นผู้รับผิดชอบ เราก็พร้อมที่จะให้ข้อมูล
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้าน จะเล่นในประเด็นที่ว่า กระทรวงกลาโหมปล่อยปละละเลย ให้กองทัพมีอำนาจเหนืออำนาจพลเรือนนั้น ก็อยากให้ฝ่ายค้านเอาไว้ชัด หากฝ่ายค้านถามมาตนก็พร้อมที่จะชี้แจงในประเด็นนี้ ไม่มีอะไรน่ากังวลใจ ทั้งหมดจะอยู่ที่ข้อเท็จจริง แต่อย่าไปจินตนาการ
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกต ว่าฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ซูเอี๋ยกัน โดยเฉพาะการนำประเด็น เรื่องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มาเป็นเงื่อนไข เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายภูมิธรรม ระบุว่า คิดว่าฝ่ายค้านกับรัฐบาลจะซูเอี๋ยกันเหรอ ประเด็นนี้ตนเป็นพูดไปแล้วว่าเรื่องของสภา ซึ่งวิปรัฐบาลกับวิปฝ่ายค้านต้องไปหารือกัน และเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา ในการกำหนดเปลี่ยนแปลง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา การเขียนญัตติ
มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขอยู่หลายครั้ง เช่น การใช้คำพูดรุนแรง ประธานสภาก็จะขอให้ถอน ออกจากญัตติ ซึ่งเกิดในสมัยนายอุทัย พิมพ์ใจชน หรือบางเรื่องที่เกี่ยวพัน กับคนนอกมาเกี่ยวข้อง เนื่องจาก เขาให้อภิปรายรัฐบาล ก็ไม่ควรจะพลาดพิงคนนอก แต่หากมีข้อเท็จจริง สามารถอภิปรายรวมไปได้อยู่แล้ว เพียงแต่ คนอภิปรายต้องรับผิดชอบ ดังนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ว่าการยื่นญัตติ จะต้องมีการคำนึงถึงความเหมาะสม ซึ่งประธานรัฐสภา จะเป็นผู้พิจารณา
ขณะที่วันเวลา ในการอภิปราย ก็ต้องไปพิจารณากัน เท่าที่ทราบ จากฝ่ายวิปรัฐบาล หากเริ่มต้นที่จะอภิปรายรัฐมนตรีหลายคน ก็จะกำหนดเอาไว้ว่า 5 วัน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไป ก็เหลือเพียงวันเดียวก็คือ โฟกัสอยู่ที่นายกฯ ส่วนรัฐมนตรีคนอื่น ก็ไม่ค่อยชัดเจน ว่าจะไปถึงหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ น่าจะพูดถึงในเรื่องของการกำกับดูแล ทางรัฐบาลก็มองว่าก็เอาตามที่เหมาะสม ก็ให้ทางสภาไปตกลงกัน ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีปัญหาอะไร ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เหตุผลและหลักการ สภาชี้ชัดมา เราก็พร้อมตามนั้น
ส่วนการเปิดอภิปรายวันเดียวน้อยเกินไปหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่า ฝ่ายค้านมีข้อมูลอยู่เท่าไหร่ หากมีข้อมูลไม่มาก อภิปรายครึ่งวันก็พอ
สำหรับที่ผ่านมา ไม่เคยมีการซักฟอกเพียงวันเดียวนั้น นายภูมิธรรม ย้ำว่า ไม่ได้พิจารณาที่จำนวนวัน แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายค้านจะซักฟอกคนเดียวหรือสองคน เขาทำผิดพลาดมากหรือไม่ และมีเนื้อหาที่จะอภิปรายมากน้อยเพียงใด หากอภิปรายไม่มาก ผู้นำฝ่ายค้าน เปิดอภิปราย และอภิปรายอีก 2 คน ก็สามารถปิดอภิปรายได้แล้ว
เมื่อถามว่า หากตัดชื่อนายทักษิณออกจากญัตติของฝ่ายค้าน ก็สามารถเปิดอภิปรายได้เลยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า คงต้องไปถามประธานสภา แต่เท่าที่รู้ที่มีปัญหาก็คือประเด็นนี้ ก็ต้องให้ฝ่ายค้านไปเคลียร์กับ ประธานสภา อย่ามาคิดว่ารัฐบาลจะอย่างโน้นอย่างนี้ ยืนยันว่าเราไม่มีปัญหา และยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา หากตกลงกันอย่างไร รัฐบาลมีหน้าที่ ทำตามนั้น เพียงแต่รัฐบาลสามารถต่อรองวันเวลาที่เหมาะสมได้ ส่วนจะวันเวลาเท่าไหร่ ญัตติอะไร อยู่ที่ฝ่ายค้านกับประธานสภา ที่จะต้องคุมการอภิปราย และประธานสภาก็มีฝ่ายกฎหมาย ไม่ได้ใช้ดุลพินิจคนเดียว ท่านมีแบ็กอัพอยู่ข้างหลัง ถือเป็นการพูดคุยเรื่องกฎระเบียบ ข้อบังคับ อยากให้เข้าใจหลักการทำงาน อย่าใช้อารมณ์
นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวมั่นใจว่า นายกฯพร้อมในการอธิบาย และตอบคำถาม เพราะทุกสิ่งทุกอย่างตลอดระยะเวลา 5 เดือนนายกฯทำด้วยตัวเอง และตัดสินใจเองทุกอย่าง จึงไม่ใช่ปัญหา แต่ตอนนี้เป็นเรื่องของญัตติที่ประธานสภาฯมองว่าไม่สมควร ส่วนตัวมองว่าผิดรัฐธรรมนูญด้วย การใส่ชื่อบุคคลภายนอกที่ไม่มีโอกาสเข้ามาตอบโต้หรือตอบคำถามในสภาฯ ไปอยู่ในญัตติ และถ้าประธานบรรจุเข้าไปก็เท่ากับแสตมป์ตราว่าสามารถพูดถึงบุคคลภายนอกได้เลย ซึ่งไม่เคยมี
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยยอมหรือไม่ หากประธานสภาฯปล่อยให้ทำ นายสรวงศ์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทย หัวหน้าพรรคเพื่อ และนายกฯพร้อมอยู่แล้วที่จะมาชี้แจง ถ้าพร้อมที่จะบรรจุไปก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่ว่าการที่จะพูดถึงบุคคลภายนอกในสภาฯและเกิดความเสียหายบุคคลนั้นไม่สามารถเข้ามาตอบโต้ในสภาฯได้ ก็ต้องดูตามเนื้อหาที่จะเอามาอภิปรายในสภา
เมื่อถามว่าพรรคจะเตรียมอย่างไรเพราะฝ่ายค้านมีธงอยู่แล้วว่าจะพูดถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า “ก็ต้องถามกลับฝ่ายค้านให้พี่น้องประชาชนได้ตั้งคำถามด้วยว่าสรุปแล้วการยื่นญัตติครั้งนี้หวังอะไรก่อน ถ้าหวังจะให้เกิดผลดีกับประเทศเกิดขึ้น มีการปรับเปลี่ยนการทำงานของนายกฯจริงๆ หรือมีการเสนอแนะในการบริหารราชการแผ่นดิน พวกผมไม่มีปัญหา แต่ว่าประเด็นตอนนี้มันกลายเป็นเหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อเห็นญัตติแล้ว ผมค่อนข้างผิดหวังว่าจะได้เห็นการเมืองใหม่ๆแต่สุดท้ายก็กลับไปเหมือนเดิม ผมก็อยู่ในสภาฯและการเมืองมา 20 ปี เห็นแบบนี้มาตลอด ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ได้หวังอะไร หวังที่จะพูด และดิสเครดิสอีกฝั่งถึงให้มันเกิดผลทางการเมือง”
เมื่อถามว่าต้องตั้งองครักษ์พิทักษ์คอยดูการอภิปรายหรือไม่ เพราะต้องมีการพูดถึงบุคคลภายนอกแน่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ไม่ต้องมี ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากเนื้องาน และเนื้อในการอภิปราย พวกเราก็พร้อมที่จะตอบคำถาม และชี้แจงในสภาฯ
ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประธานสภาฯระบุว่าหากพรรคฝ่ายค้าน ไม่ถอนชื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 จะไม่บรรจุระเบียบวาระ ว่า ยืนยันตามเดิมว่าเป็นไปตามหลักการข้อกฎหมายอย่างชัดเจนที่เราจะบรรจุชื่อของบุคคลภายนอกในญัตติได้ ซึ่งก็ต้องมีการพูดคุยกับประธานสภาฯว่าตกลงยืนยันข้อกฎหมายถูกหรือเป็นอำนาจที่ประธานสภาฯสามารถทำได้จริงหรือไม่ และคงต้องหาทางออกร่วมกันในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามจะไม่ยอมให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่เกิดขึ้นในสมัยประชุมนี้แน่นอน และต้องคุยให้จบภายในสัปดาห์นี้
เมื่อถามว่า หากประธานไม่ยอมบรรจุวาระ จะยอมแก้หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า “จริงๆมีข่าวให้คำแนะนำเราว่าจะใส่ชื่อแทนชื่อของนายทักษิณไว้ว่าอย่างไร มีคนแนะนำมาเยอะ เช่น ชายคนนั้น พี่คนนั้น คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ซึ่งเรายังยืนยันว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ แต่ต้องรอดูว่าจะคลี่คลายแบบไหน ”
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) นำ สว .81 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นผลสืบเนื่องจากคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) มีมติรับคดีฮั้ว สว.ข้อหาฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ โดยเห็นว่าไม่มีอำนาจ ซึ่งในหนังสือยื่นคำร้องมี สว. ร่วมลงชื่อจำนวน 105 คน โยมีนายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นตัวแทนรับหนังสือ
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า วันนี้มายื่นให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ รมว.ยุติธรรม และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและมีเจตนาพิเศษ จงใจกล่าวหากลั่นแกล้ง สว.เพื่อให้ได้รับโทษทางอาญา ยืนยันว่า สว.มาตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 107 ทั้งตามระเบียบ กกต.และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัคร และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งมีข้อสงสัยว่าเหตุใดพยานหลักฐานจากข้อกล่าวหาต่างๆ จึงมีเป็นจำนวนมาก
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ตนในฐานะที่เคยเป็นอดีตพนักงานสอบสวน ตระหนักได้ว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ในการตั้งข้อกล่าวหา โดยเฉพาะความผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร สว. รับไม่ได้ เพราะ สว.มีที่มาทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิจากหลายสาขาอาชีพ จึงถือว่าองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบการได้มาซึ่ง สว. คือคณะกรรมการการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และเห็นว่าเป็นธรรมดาทั่วไปของมนุษย์เมื่อไม่ได้และผิดหวัง ก็ไปร้องเรียนผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งทุกคนใช้วิจารณญาณในการดำเนินการได้ แต่การกล่าวหาว่า สว.ชุดนี้มีการฮั้ว เรารับไม่ได้ กำลังให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาและดำเนินการต่อไป ขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานทุกคนที่กล่าวหา
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวอีกว่า การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีดีเอสไอ ทำให้พวกตนเองถูกกล่าวหาและถูกดูหมิ่นจากประชาชนว่ามีที่มาไม่สุจริต นอกจากนี้ยังเชื่อว่า กกต.มีหลักฐานเรื่องร้องเรียนการเลือก สว.มากกว่าที่ DSI อ้าง เพราะ กกต.เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนมาก่อนแล้ว ซึ่ง กกต.ใช้ความละเอียดรอบคอบและมีความระมัดระวังในการกล่าวหาต่อผู้ที่ได้รับการรับรองเป็น สว.ไปแล้ว ไม่เหมือนผู้ร้องที่อยากเป็นเร็ว อยากขยับขึ้นมาก็กล่าวหาว่า กกต.ทำงานด้วยความล่าช้า อยากถามว่า กกต.จะต้องไปตรวจสอบผู้สมัคร 40,000 คน จะใช้เวลาเท่าไร 6-7 เป็นไปได้หรือไม่
ทั้งนี้ หาก DSI สืบสวนไปแล้วรู้ว่าไม่มีอำนาจในการดำเนินการ ก็ควรส่งพยานหลักฐานให้ กกต. ตนเองก็ไม่ทราบว่า DSI จะเก็บไว้ทำไม วันดีคืนดีพวกตนเองทำงานมีประสิทธิภาพ การเมืองไม่พอใจ ไม่รู้ใครบัญชาการ ใครคุมกระทรวงยุติธรรม ความยุติธรรมในประเทศก็เริ่มไม่เกิดขึ้น ความกระส่ำระสายเกิดขึ้นทุกองค์กร จากผู้นำจิตวิญญาณบางคน ที่สามารถควบคุมฝ่ายการเมืองได้ ดังนั้นเชื่อว่าฝ่ายการเมือง ที่เข้ามากำกับดูแล DSI ผูกครอบงำหรือไม่ ก็ขอให้สื่อมวลชนพิจารณาเอง
พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบคนเลี้ยงสุนัขและแมว กับการทำหน้าที่ของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่รับพิจารณาทั้งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ และทำตามคำสั่ง อาจพบจุดจบที่ไม่ดี
“คนเลี้ยงสุนัขก็เลี้ยงทั้งดุและไม่ดุ ทั้งอ่อนโยน อ่อนไหวใช้สุนัขไปในภารกิจต่างๆ ท่านก็คงทราบดีว่าผู้เรียนต้องมีอันจะกิน ในขณะเดียวกันคนเลี้ยงแมวก็เอาแมวไว้ไล่จับหนู สีอะไรก็จับหนูได้หมด แต่แมวตัวนี้มันพิเศษมันมีปลอกคอมันมีเชือกกระตุกให้มันเลือกจับหนูได้ เป็นการล็อกว่าหนูนี่จับหนูนี่ไม่จับตรงนี้ มันอยู่ที่คนสั่งเช่นเดียวกัน คดีนี้เหมือนกันมันนึกว่าแมวนอกจากจับหนูอย่างเดียวแล้ว แมวกินปลามันก็โยนแมวลงไปในน้ำ เพื่อให้ไปจับปลากิน แต่ลืมนึกไปว่าแมวว่ายน้ำไม่เป็น จะไปไล่จับปลาได้อย่างไร ผลสุดท้ายแมวก็จมน้ำตายายเหมือนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะฉะนั้นท่านมีปลอกคอ ท่านคิดว่าเอาตัวรอดได้ เชิญสอบสวนไปเราไม่ว่า สักวันหนึ่งคนเลี้ยงแมวไม่อยู่แมวจะอดตาย จะติดคุก” พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณี หากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรียกไปให้ปากคำจะไม่ไปใช่หรือไม่ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า ตราบใดที่ผู้สอบสวนยังไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เราก็ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ จะมายัดเยียดว่าพวกตนเองไม่บริสุทธิ์ไม่ได้ เราทำงานมา 7-8 เดือน ก่อนหน้านี้กกต.ก็รับรองว่า เราสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส
ผู้สื่อข่าวจึงถามย้ำว่าการที่เปรียบเทียบ อธิบดี DSI เป็นแมวจมน้ำตาย จะสื่อถึงการดำเนินการขั้นสูงสุดเลยหรือไม่ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า หูของใครดูเอาว่าใครเป็นแมวใครเป็นใครดูเอาเอง ตราบใดที่เรายังปฏิบัติหน้าที่เป็น สว. สิ่งใดที่กระทบกับเรา เราก็จะไม่นิ่งเฉย แต่เราจะไม่ออกสื่อทำอย่างสุขุม รอบคอบ
ส่วนกรณีที่มีการเสนอ ให้ยุบกรมสอบสวนคดีพิเศษ พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ระบุว่า เรื่องนั้นเป็นการเสนอขึ้นมาระหว่างการอภิปรายในวุฒิสภา เพราะตนเป็นคนเสนอญัตติ ปัญหากระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้กมธ. องค์กรอิสระปราบปรามทุจริตของสว. ได้นำไปศึกษาแล้ว
ส่วนความเป็นไปได้ในการที่จะเปลี่ยนสีของสว.ให้ไปเป็นสีแดง พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าวว่า เป็นเรื่องของนักวิเคราะห์ข้างตู้ ไม่ฟังและไม่รู้ แถวภาคอีสานเขาเอาไว้ดูมวย โดยย้ำว่าจะวิเคราะห์อย่างไรเป็นเสรีภาพ แต่อย่าไปกลั่นแกล้งใคร
ส่วนที่ถูกมองว่าเป็นเกมการเมืองนั้น พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ ถามกลับว่า ทำไมไม่มองว่าสว.ถูกกลั่นแกล้ง ประเด็นการเมืองไม่เกี่ยวกับเราเราไม่ได้อยู่ในพรรคการเมือง แต่รู้อย่างเดียววุฒิสภามีหน้าที่ปกป้องสถาบัน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในคดีฟอกเงิน ที่มาจากคดีฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ในการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหลักว่าเรื่องนี้ต้องสอบสวนร่วมกับอัยการก่อนจะเริ่มสอบสวน หลังจากรับเป็นคดีพิเศษแล้ว พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ จะต้องมีการประชุมร่วมกัน และเสนอแผนการสอบสวน ทราบว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะทำหนังสือไปถึงอัยการสูงสุด ในการประสานงาน และสำนักงานอัยการสูงสุด จะตั้งเป็นคณะทำงาน เพราะคดีนี้มีพยานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของพยานหลักฐาน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หลังจากรับเป็นคดีพิเศษแล้ว จะมีการหารือกับอัยการเพื่อวางกรอบระยะเวลาไว้เท่าใด พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กฎหมายระบุไว้ว่าให้สอบสวนโดยเร็ว คดีนี้เรารู้ชื่อพยานเยอะแล้ว และในการชี้แจงจะมีข้อมูลอยู่แล้ว หากจะให้เสร็จโดยเร็ว ตนคาดว่า น่าจะใช้เวลา 3 เดือน หากมีคนผิดจะแจ้งข้อกล่าวหา และหากจะสรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการ อาจจะใช้เวลามากกว่านั้นนิดหน่อย
ขณะที่การตั้งคณะพนักงานสอบสวน 41 คน ที่เป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษจะถูกมองว่า เป็นเกมการเมืองในการบังคับคดีหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ไม่ใช่มีบุคลากรจากกรมสอบสวนคดีพิเศษอย่างเดียว แต่จะมีเจ้าหน้าที่จากอัยการ และหลังจากนี้จะใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ตั้งบุคคลภายนอก เช่น ตำรวจ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ
ส่วนกรณีที่ สว.ไปร้องกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อ้างว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจในการทำคดี พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งใคร เราดูทั้งกฎหมาย และประสานงานกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย กกต.ตอบกลับว่า ในคดีที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว.นั้น ไม่ได้มีการตัดอำนาจ วันนี้ กกต.ยังไม่ได้เรียกสำนวน ทั้งที่ได้แจ้งให้ทาง กกต.ทราบแล้ว ตามกฎหมาย ต้องเรียกสำนวนภายใน 7 วัน อีกทั้งเอกสารมีค่อนข้างมาก และเป็นความลับ รวมถึงพยานจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะขอคุ้มครองพยาน
เมื่อถามต่อว่า สว.ที่ไปร้อง ป.ป.ช. ตั้งข้อสังเกตว่า ว่าพยานหลักฐานต่างๆที่ดีเอสไอมีอยู่นั้น ดูไม่น่าเชื่อถือ พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า ยินดีให้ตรวจสอบ เมื่อท่านถูกเรียกเข้ามาให้การหรือแจ้งข้อกล่าวหา เราให้ความร่วมมือ และพร้อมให้ความเป็นธรรม
เมื่อถามอีกว่า ตัวเลขของ สว.ที่จะต้องตรวจสอบในโพยนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อย่างน้อยมีชื่ออยู่ในโพยที่ต้องถูกสอบประมาณ 140 คน
สำหรับกรณีที่ สว.เสนอให้ยุบกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ พร้อมกล่าวว่า “เผอิญว่าเขาคงเข้าใจ และคงคิดว่าเขามีชื่ออยู่ในโพย” กรมสอบสวนคดีพิเศษต้องรับฟัง และต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมโดยชอบตามกฎหมาย