มีโอกาสไปแวะเขื่อนสิริกิตต์ จ.อุตรดิตถ์ ได้เห็น “ปลาหมอบัตเตอร์ (Zebra tilapia, Zebra cichlid)” ตัวใหญ่ ที่เจ้าถิ่นแนะนำว่า มันคือปลาเอเลี่ยนต่างถิ่นเหมือนปลาหมอคางดำที่กำลังโด่งดัง ปลาหมอบัตเตอร์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่ไม่เคยมีประวัติการขออนุญาตนำเข้ามายังประเทศไทย ดังนั้น ที่พบการระบาดอยู่เต็มเขื่อนสิริกิตต์ ไปจนถึง จ.กาญจนบุรีนี่มีที่มาจากอะไร ก็คงคิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก “การลักลอบนำเข้า”
ประมงจังหวัดอุตรดิตถ์ เล่าว่า ปลาหมอบัตเตอร์พบที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อปี 2546 – 2547 ไม่แน่ชัดว่าจะหลุดมาจากปลาที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามหรือนำมาเลี้ยงในกระชัง โดยใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์จะมีตอไม้เป็นจำนวนมาก เหมาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และขณะนี้ปลาหมอบัตเตอร์เข้าไปแทนที่ปลาพื้นถิ่น เช่น ปลาแรดและปลาหมอช้างเหยียบ ไปแล้ว จนทำให้ปลาหมอบัตเตอร์กลายเป็นเมนูอาหารจานเด็ดของร้านอาหารริมเขื่อนสิริกิตต์ไปแทนเป็นที่เรียบร้อย
“ปลาหมอมายัน (Mayan cichlid)” เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ เพราะเป็น 1 ในปลา 3 ชนิดที่กรมประมงมีประกาศในปี 2561 ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือ เพาะเลี้ยง พร้อม ๆ กัน ปลาหมอมายันมีถิ่นกำเนิดในเขตพื้นที่น่านน้ำแอตแลนติกตอนกลางของประเทศเม็กซิโด เบลีซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และนิการากัว มีลักษณะเด่นคือแถบสีดำบนลำตัวจำนวน 7 แถบ พบรายงานการรุกรานครั้งแรกในฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2526 และพบการรุกรานในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2548 หลังถูกจับได้จากคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตบางขุนเทียน ก่อนจะหลุดเข้าไปในบ่อเลี้ยงปลาของเกษตรกรจนขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก แย่งอาหารปลา กินตัวอ่อนสัตว์น้ำชนิดอื่นจนหมด ทำให้ผลผลิตลดลง ปัจจุบันมีรายงานพบปลาหมอมายันในพื้นที่ ต.คลองด่าน อ.บ่างบ่อ จ.สมุทรปราการ และที่สำคัญ ปลาหมอมายันก็ไม่เคยมีประวัติขออนุญาตนำเข้า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นปลาลักลอบนำเข้า เช่นเดียวกับปลาหมอบัตเตอร์
ขณะที่ปลา 2 ชนิดเป็นปลาลักลอบนำเข้า “ปลาหมอคางดำ (Blackchin Tilapia)” ก็คงยังไม่สามารถตัดทิ้งที่มาจากการลักลอบได้เช่นกัน การเพ่งเล็งเฉพาะผู้ขออนุญาตนำเข้า ว่าเป็นต้นเหตุของการระบาดจึงดูไม่เป็นธรรมนักหากข้อเท็จจริงคือผู้ลักลอบนำเข้าเป็นต้นเหตุที่แท้จริง
ถ้ายังจำกันได้ประเทศไทยมี “การส่งออก” ปลาหมอคางดำไปยัง 17 ประเทศ จำนวนมากกว่า 3 แสนตัว รวม 212 ครั้ง ตลอด 4 ปี (2556-2559) ในขณะที่ธุรกิจส่งออกปลาเหล่านี้ มักจะมีฟาร์มเพาะเลี้ยงก่อนที่จะส่งออกได้ นั่นหมายความว่า น่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาเลี้ยงจนได้จำนวนที่ต้องการ จึงค่อยส่งไปยังประเทศปลายทาง เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่น่ากังขาเรื่อยมา
บางคนอาจถามว่าปลาหมอคางดำไม่ได้สวยงามขนาดนั้น ทำไมจึงมีการส่งออกปลาหมอคางดำ แหล่งข่าวจากวงการปลาสวยงาม ระบุว่า Blackchin Tilapia เป็นหนึ่ง ในกลุ่ม Exotic Freshwater Fish ที่นิยมเลี้ยงกันในต่างประเทศ รวมถึงติดอันดับกลุ่มปลาที่สามารถใช้เป็นอาหารได้ที่ถูกนำมาเลี้ยงเป็นงานอดิเรก จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทไทยจะตอบสนองความต้องการในตลาดนี้ ซึ่งก็พบว่าสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกปลาชนิดนี้ได้จริง
การเจาะจงจ้องจะหาผู้รับผิดเพียงรายเดียวอาจทำให้ไม่เห็นภาพรวมที่แท้จริงของปัญหานี้ และที่สำคัญคือการทำความเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้เป็นผลจากการจัดการที่ไม่ถูกต้อง และการขาดการควบคุมที่มีประสิทธิภาพในการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น จนทำให้ปัญหาการลักลอบนำเข้า “เรื้อรัง” มาจนถึงปัจจุบัน