วันที่ 12 มี.ค.2568 เมื่อเวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธานกมธ.ฯ มีการพิจารณาศึกษาแนวทางในการควบคุมและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ตามแนวนโยบายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าของนายกรัฐมนตรี
โดยพ.ต.อ.จีรวัฒน์ แนวจำปา รองผู้บังคับการกองแผนงานอาชญากรรมสำนักยุทธศาสตร์ตำรวจ ผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) กล่าวว่า ในส่วนของสตช. ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.ถึงวันที่ 10 มี.ค.มีผลการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้ว 955 คดี ผู้ต้องหาทั้งหมด 991 คน มีของกลางจำนวน 524,546 ชิ้น มูลค่าทั้งหมด 52,615,695 บาท
ด้านพ.ต.ท.ปริญญา ปาละ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1ปคบ. กล่าวว่า ฐานความผิดของผู้ที่สูบหรือผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หากใครมีไว้ครอบครองต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ศุลกากร มาตรา 246 ฐานช่วยซ่อนเร้นหรือซื้อรับไว้ มีโทษจำคุก 5 ปี แต่นโยบายของสตช. หรือรัฐบาลมองว่าหากมีการจับกุมผู้สูบซึ่งมีจำนวนมาก ผลกระทบจะเป็นวงกว้าง และยังมองว่าผู้สูบไม่ใช่อาชญากรร้ายแรง บางครั้งอาจหลงผิดไป
"สตช.จึงมีแนวทางปฏิบัติให้มีการจับกุมได้และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 246 แต่ขั้นตอนปฏิบัติให้ซอฟต์ลง คือมีการจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาและให้ประกันตัวไปโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ และพนักงานสอบสวนส่งของกลางให้ศุลกากรเพื่อทำการระงับคดี เมื่อได้ผลการระงับคดีจากศุลกากรแล้ว พนักงานสอบสวนก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง หากสอบสวนกันไปก็เปล่าประโยชน์ และเป็นการลดความรุนแรงด้วย" พ.ต.ท.ปริญญากล่าว
ขณะที่นายกรวีร์ สอบถามเพิ่มเติมว่า ฐานความผิด ของผู้จำหน่ายและผู้นำเข้าเป็นอย่างไร และมีข้อจำกัดทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจับกุมอย่างไร
ด้านพ.ต.ท.ปริญญา ชี้แจงว่า กรณีบุหรี่ไฟฟ้าทางสตช. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือผู้นำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 ว่าห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทย หากนำเข้าก็มีความผิดตามมาตรา 20 คือมีโทษจำคุก 10 ปี และผิดพ.ร.บ.ศุลกากร กลุ่มที่ 2 คือผู้ขาย จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 29/9 และมาตรา 56/4 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาท ซึ่งต้องดูตามพฤติการณ์ และกลุ่มที่3 คือผู้สูบ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 246
ส่วนพ.ต.อ.จีรวัฒน์ กล่าวยืนยันว่า ในส่วนมาตรการที่กำหนดไว้จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมีการกำหนดนโยบายไว้ 6 ด้าน คือ การปราบปราม,การป้องกัน,การตรวจสอบข้อมูลการแจ้งเบาะแสจากประชาชน,การบันทึกข้อมูลในระบบส่วนใหญ่เป็นข้อมมูลของผู้ต้องหาคดีบุหรี่ไฟฟ้า,การประชาสัมพันธ์ผลการปฏิบัติงาน และการรายงานผลควบคุมประเมินผล ซึ่งทั้งหมดทางผบ.ตร.ได้ออกคำสั่งกำชับทุกหน่วยงานไปแล้ว
ด้านนายศักดิ์ชัย โรจนรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่าย ปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องบุหรี่ไฟฟ้านั้นนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้มีข้อสั่งการไปยังทุกจังหวัดให้มีการบูรณาการในพื้นที่จับกุมปราบปรามอย่างเข้มงวดเด็ดขาด รวมทั้งมีมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่หากมีการละเลย ซึ่งผลการจับกุมในส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี 2567 จับกุมทั้งสิ้น 286 คดี และส่วนกลางในส่วนของกรมการปกครองจับกุมไปแล้วทั้งสิ้น 34 คดี ซึ่งเน้นจับกุมในเคสใหญ่ที่ทางอำเภอไม่สามารถเข้าไปจัดการได้
และในปี 2568 จับกุมเพิ่มได้อีก 20 คดี และขณะนี้นายอนุทินกำลังจะมีข้อสั่งการ ของกระทรวงมหาดไทยเพิ่มเติมไปยังจังหวัดให้ปราบปรามเข้มข้นมากขึ้น และให้มีมาตรการเพิ่มเติมหากมีความผิดตามพ.ร.บ.ศุลกากร ให้ส่งไปยงสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการเรื่องฟอกเงินด้วย รวมถึงมีการป้องกันบูรณาการร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและโรงเรียน เพื่อรณรงค์ให้ความรู้กับเยาวชนเรื่องภัยจากบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น