โรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล) เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการให้ความรู้ทางวิชาการแก่เด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยโรงเรียนได้จัดให้มีชั่วโมงเรียนรู้การเกษตรอินทรีย์ เพื่อสอนให้นักเรียนมีความรู้ในเรื่องโภชนาการและสุขอนามัยที่ถูกต้อง  นักเรียนได้เรียนรู้การปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกพืชสมุนไพร  การปลูกผักปลอดภัย  ส่งผลผลิตเข้าสู่โรงครัวโรงเรียน สำหรับประกอบอาหารกลางวัน  อีกทั้งยังสามารถนำความรู้นี้ไปต่อยอดในครอบครัว ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือน

นางสาวนวพรรณ อินต๊ะวงค์  ผู้อำนวยการโรงเรียนดรุณวิทยา เทศบาลเมืองน่าน (บ้านสวนตาล)  กล่าวว่า  ได้ต่อยอดจาก การเกษตรในโรงเรียน มาเป็นเกษตรอินทรีย์   เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนเข้ากับการใช้ชีวิตจริง และเพื่อปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ ได้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงระดับชั้นประถมศึกษปีที่ 6  จะมีพื้นที่แปลงเกษตรที่ตนเองรับผิดชอบ  โดยนักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้การเตรียมดิน การเพาะปลูก การดูแลรักษาผักให้ปลอดสารเคมีด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งทำจากเศษอาหาร ขยะสดในโรงเรียน รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในโรงครัวของโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าอาหารกลางวันแล้ว ยังช่วยให้นักเรียนได้บริโภคผักที่สด สะอาด และปลอดภัยอีกด้วย และนอกจากการนำผลผลิตไปใช้ในโรงเรียนแล้ว โรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการทางธุรกิจตั้งแต่การปลูกผัก ดูแลรักษา การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก ไปจนถึงการตลาดและการขายผักที่เหลือจากการบริโภคภายในโรงเรียน  ตามนโยบาย พ่อค้าน้อย แม่ค้าน้อย ของ นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน   จัดตลาดกรีนมาร์เก็ตในทุกเดือน เพื่อให้เด็กๆนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากที่บ้านมาแลกเปลี่ยน มาขายให้กับผู้ปกครองคนอื่นที่โรงเรียน ทำให้นักเรียนได้รับทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพได้ในอนาคต

นายอนุวัฒน์ เขื่อนดิน  ครูผู้สอนวิชาเกษตรอินทรีย์  เล่าว่า การปลูกผักในโรงเรียน เพื่อเป็นอาหารกลางวัน ไม่เพียงแต่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำเกษตรกรรมอย่างถูกต้อง  แต่ยังช่วยเสริมให้นักเรียนรู้จักความรับผิดชอบ มีวินัย รู้จักการประหยัด และนำสิ่งที่ตนเองมีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น เมื่อมีพื้นที่ว่างก็ทำให้พื้นที่นั้นเกิดประโยชน์ด้วยการปลูกผัก เลี้ยงปลาหรือถ้าไม่มีพื้นที่มากพอก็ลองหาวิธีอื่น อย่างการปลูกผักแบบใช้น้ำก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง นอกจากจะได้ผักที่ปลอดสารพิษที่เราปลูกเองกับมือแล้ว ยังได้เรียนรู้การทำการเกษตรที่หลากหลายวิธี  อีกทั้งนักเรียนยังได้ฝึกฝนกระบวนการบริหารจัดการ ตั้งแต่การดูแลแปลงผักไปจนถึงการคำนวณต้นทุนและการนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้นักเรียนได้นำไปปรับใช้ในชีวิตจริง ทั้งในแง่ของการพึ่งพาตนเองและการช่วยเหลือครอบครัว  นักเรียนรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการปลูกผักเพื่อใช้ในมื้ออาหารของตนเองและเพื่อน ๆ  อีกทั้งยังสามารถนำทักษะที่ได้รับไปต่อยอดในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักเพื่อบริโภคภายในครอบครัว หรือการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและธุรกิจการเกษตร  ซึ่งเด็กนักเรียนได้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต