มูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ จับมือ อบต.กู่สวนแตง ส่วนราชการ ภาคเอกชน และชาวชุมชน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่งเสริมสนับสนุนชาวบ้าน ปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิดแบบอินทรีย์ เพื่อเป็นแหล่งอาหารยั่งยืน ปลอดภัย มีผักไว้กินลดรายจ่าย และสร้างรายได้ตลอดทั้งปี
เมื่อวันที่ 11 มี.ค.68 นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 5 พรรคภูมิใจไทย และประธานคณะกรรมมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดโครงการ ‘คนบ้านประดู่ รักศรัทธา แก้ปัญหา ความยากจน’ ซึ่งทางมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ร่วมกับ อบต.กู่สวนแตง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนราชการ และชุมชน ร่วมกันจัดขึ้น ที่บริเวณแปลงผักหลังที่ทำการ อบต.กู่สวนแตง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ โดยได้มีการนำวิทยากรมาสอนและสาธิต การเพาะเห็ดฟางให้แก่กลุ่มอาชีพปลูกผักปลอดสารพิษ บ้านประดู่ ต.กู่สวนแตง เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างแหล่งอาหาร และสร้างรายได้เพิ่มนอกเหนือจากการปลูกพืชผักสวนครัวทั่วไป ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ได้รวมตัวกันปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิด บริเวณด้านหลังที่ทำการ อบต.กู่สวนแตง โดยการน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทำให้มีพืชผักสวนครัวไว้กิน ลดรายจ่าย และขายสร้างรายได้ตลอดทั้งปี
สำหรับ กลุ่มแปลงใหญ่ผักบ้านประดู่ หมู่ที่ 9 ต.กู่สวนแตง เป็นชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านประดู่ ต.กู่สวนแตง ที่ได้รวมตัวกันปลูกพืชผักสวนครัว บนแปลงผักที่บริเวณขอบหนองน้ำ บริเวณหลังที่ทำการ อบต.กู่สวนแตง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 บนเนื้อที่ 7 ไร่ โดยใช้ชื่อว่า ประดู่โมเดล ต่อมาในปี พ.ศ2562 ทางมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ร่วมกับ เกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เกษตรอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ อบต.กู่สวนแตง ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน โดยเน้นการพืชผักอินทรีย์ให้เป็นอาหารปลอดภัยจากสารเคมี เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค และได้เริ่มขยายพื้นที่ปลูกอีกจนเป็น 13 ไร่ในปัจจุบัน มีชาวบ้านกว่า 60 ครัวเรือน มารวมกลุ่มใช้ประโยชน์ร่วมกัน และจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผักบ้านประดู่ หมู่ที่ 9 ต.กู่สวนแตง
โดยแบ่งเป็นล็อกให้ตัวแทนชาวบ้านกว่า 60 ครัวเรือน ปลูกพืชผักสวนครัวตามที่ตนเองถนัด ซึ่งมีทั้งพริก หอมแดง กระเทียม ผักชี กะเพราะ โหระพา ถั่วฝักยาว แตงกวา ฟักทอง ข้าวโพด ถั่วลิสง และกระเจี้ยบ เป็นต้น เพื่อให้พื้นดินที่ว่างเปล่าบริเวณด้านหลังที่ทำการ อบต.กู่สวนแตง ซึ่งมีสระน้ำใหญ่อยู่แล้ว ได้เป็นพื้นที่แปลงเพาะปลูกพืชผักสวนครัวไว้ได้มีกินมีขายตลอดทั้งปี ช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ซึ่งยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังได้ขยายผลต่อยอดไปสู่ครัวเรือนของตนเองด้วย โดยชาวบ้านยังได้ใช้พื้นที่ว่างบริเวณบ้าน และไร่นาปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินไว้ขายเช่นเดียวกันในหมู่บ้านอีก 19 ไร่
นางทองย้อย ถนัดไธสง อายุ 60 ปี ชาวบ้านประดู่ ต.กู่สวนแตง บอกว่า ได้ปลูกพริกและปลูกผักผสมผสานกันไปในแปลงที่ได้รับจัดสรร บางครั้งก็ปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง กะหล่ำปลี คะน้า ก็ปลูกทุกอย่างที่พอจะปลูกได้ ทำให้พวกตนได้ประโยชน์ทั้งมีพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัยจากสารเคมีไว้กินไว้ขาย โดยนำไปขายตามตลาดนัดคลองถมในหมู่บ้านต่างๆทำให้มีรายได้เสริมเป็นอย่างดี หลังว่างเว้นจากการทำนา ถ้าคนขยันหน่อยก็จะมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าวันล 1-2 พันบาท ถือว่าเป็นโครงการที่ดีและได้มีการต่อยอดมาแนะนำให้ปลูกเห็ดฟาง ผสมผสานกันไปก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก
นายโสภณ ซารัมย์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการหนึ่งกิจกรรมประโยชน์สามอย่าง ได้แก่ ลดการเผาตอซัง ฟางข้าวในนา เป็นการลดฝุ่น PM 2.5 ทั้งยังเป็นการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับประชาชน และนำเศษวัสดุหลังจากเก็บเห็ดฟางแล้วไปทำปุ๋ยหมักในฤดูทำนาต่อไปวันนี้จึงได้มาสนับสนุนส่งเสริมให้ทำการเพาะเห็ดฟาง เพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการเผาฟางข้าวและตอซังข้าวในนา ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่นควัน PM 2.5 โดยการนำฟางข้าวและตอซังข้าวมาเป็นวัตถุดิบหลักในการเพาะเห็ดฟาง ถือเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับกลุ่มชาวบ้าน ที่จะได้มีเห็ดปลอดสารพิษไว้บริโภคและขายสร้างรายได้ รวมถึงจะได้ปุ๋ยหมักอีกด้วย
โดยในปี พ.ศ.2562 ทางมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน โดยเน้นการพืชผักอินทรีย์ให้เป็นอาหารปลอดภัยจากสารเคมี เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค ซึ่งได้มีการปลูกพืชผักสวนครัวนานาชนิดไว้ทั้งกินและขาย ทำให้บ้านประดู่ ต.กู่สวนแตง อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ แห่งนี้เป็นโมเดลเกษตรผสมผสานอย่างยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน จนประสบผลสำเร็จมาถึงปัจจุบันนี้ ที่มีการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และชาวบ้าน