การหวนกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องยอมรับว่า สร้างความสั่นสะท้าน สะเทือนเลือนลั่นในหลายวงการ
กระทั่งแวดวงความร่วมมือทางการทหารระหว่างประเทศ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ อาจทำให้โลกได้เห็นว่า สหรัฐฯ ในยุคสมัยของเขา พร้อมที่จะ “เท” องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต
สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้แก่เหล่าบรรดาชาติสมาชิกนาโต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปมิใช่น้อย
ทั้งนี้ เพราะตั้งแต่ไหนแต่ไรมา บรรดาประเทศในยุโรป ล้วนต่างพึ่งร่มธงทางการทหารของสหรัฐฯ ด้วยสหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ระดับตัดสินชี้ขาดแพ้ชนะในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง โดยเมื่อหลังเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เหล่าชาติยุโรป ก็ต้องพึ่งพาแสนยานุภาพทางการทหารจากสหรัฐฯ จวบจนถึงปัจจุบัน
แม้เมื่อรวมตัวจัดตั้งเป็น “นาโต” องค์กรความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว บรรดาชาติสมาชิกนาโตเหล่านี้ ก็ยังต้องยกให้สหรัฐฯ เป็นพี่เบิ้มใหญ่ขององค์กร
ทว่า เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ แสดงท่าทีว่าจะอุดหนุนอุ้มชูนาโตเฉกเช่นผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ซึ่งท่าทีเช่นนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ได้เคยแผลงฤทธิ์สำแดงเดชมาแล้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยแรก ต่างก็ต้องพยายามหาทางช่วยเหลือตนเอง สำหรับการทหารในวันที่จะไม่ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในระหว่างที่นายทรัมป์ยังคงดำรงตำแน่งประธานาธิบดีอยู่นี้
ท่ามกลางสถานการณ์และบรรยากาศที่น่าหวาดหวั่น จากการถูกคุกคามความมั่นคงจากรัสเซีย ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อเหล่าชาติยุโรป
ทั้งนี้ ก็ด้วยฉากสงครามการสู้รบ ที่กองทัพรัสเซีย กรีธาพลยกข้ามพรมแดนเข้าไปรุกรานประเทศยูเครน ซึ่งสงครามได้อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) จวบจนถึงปัจจุบัน การสงครามก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป แถมมิหน้ำซ้ำการสู้รบก็ทวีความดุเดือดเลือดพล่านมากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยกองทัพรัสเซีย ใช้ทั้งขีปนาวุธและโดรนติดอาวุธโจมตียูเครนในแต่ละครั้ง จำนวนนับร้อยลูก หรือลำ สร้างความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สินแก่ยูเครนเป็นอย่างมาก
ทำให้หลายๆ ชาติในยุโรป ต้องแสวงหาหนทางในอันที่จะปกป้องตนเอง หากเกิดเหตุการณ์ประจันหน้ากับรัสเซียขึ้นมา เช่น ในบางประเทศอย่างสวีเดน และฟินแลนด์ ก็สมัครขอเข้าเป็นชาติสมาชิกนาโต เพื่อหวังความร่วมมือทางการทหารระหว่างชาติสมาชิกด้วยกัน มาปกป้องประเทศ เป็นต้น
ส่วนบางประเทศที่เคยล้มเลิกการเกณฑ์ทหารไป ก็ต้องปัดฝุ่นหวนกลับมาใช้ใหม่
อย่าง “โปแลนด์” เป็นอาทิ
โดยโปแลนด์ ก็ถือเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับสมรภูมิรบของ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่กำลังดำเนินอยู่ ณ เวลานี้ นอกจากนี้ โปแลนด์ ก็ยังมีพรมแดนติดดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียริมฝั่งทะเลบอลติก นั่นคือ “คาลินินกราด” เมืองที่มีฐานทัพรัสเซียประจำการอยู่ด้วย นอกจากนี้ โปแลนด์ ก็ยังมีพรมแดนติดกับ “เบลารุส” ประเทศที่เป็นพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย ที่รัสเซียใช้เป็นหนึ่งในเส้นทางเดินทัพยกข้ามพรมแดนเข้าไปรุกรานยูเครน เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
ใช่แต่เท่านั้น เบลารุส ยังถูกใช้เป็นที่มั่นฐานทัพของกลุ่มนักรบจ้าง “วากเนอร์” ของรัสเซีย ซึ่งขึ้นชื่อลือลั่นในด้านการรบ และความป่าเถื่อนเหี้ยมโหดในสมรภูมิที่กลุ่มวากเนอร์เข้าไปทำสงครามด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่ซีเรีย ในภูมิภาคแอฟริกา และยูเครน ซึ่งเมื่อกลุ่มนักรบรับจ้างวากเนอร์ ถูกนำไปประจำการบริเวณพรมแดนเบลารุสที่ติดกับโปแลนด์ ก็สร้างความกังวลต่อโปแลนด์หาน้อยไม่
เมื่อเผชิญความเสี่ยงอันตรายว่าจะเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงกันถึงเพียงนี้ ก็ส่งผลให้รัฐบาลโปแลนด์ ภายใต้การนำของ “นายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์” ก็มีแผนการที่จะเกณฑ์ทหารบังเกิดขึ้น
จากเดิมที่โปแลนด์ ไม่มีการเกณฑ์ทหาร แต่จะเป็นการมาสมัครเป็นทหารด้วยความเต็มใจ หรือตามความสมัครใจ ซึ่งตามกฎระเบียบ ก็กำหนดให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สามารถสมัครมารับใช้ชาติเป็นทหาร เป็นรั้วของชาติได้
โดยการเกณฑ์ทหารตามแผนการใหม่ของนายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์ ผู้นำโปแลนด์ ก็จะกำหนดว่า จะให้ “พลเมืองชายทุกคน” ต้องเข้ารับการ “ฝึกทหาร (Military training)”
แผนข้างต้น ก็ต้องบอกว่า “เป็นอะไรยิ่งกว่าการเกณฑ์ทหาร” เหมือนเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ทั่วไปเสียอีก เพราะ “การเกณฑ์ทหาร” เช่น ประเทศไทยเรา ผู้ที่จะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ก็คือผู้ที่จับฉลากได้ “ใบแดง” ส่วนผู้ที่จับได้ “ใบดำ” ก็ไม่ต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ ไม่ต้องเข้ารับการฝึกทางการทหารใดๆ ทั้งสิ้น แต่ที่โปแลนด์มิใช่อย่างนั้น พลเมืองชายทุกคนต้องเข้ารับการฝึกทหาร ซึ่งในรายละเอียดต่อไป ก็อาจจะมีการกำหนดอายุขั้นต่ำว่า พลเมืองชายที่มีอายุตั้งแต่เท่าไหร่ จึงจะต้องมาเข้ารับการฝึกทหาร ตามระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า อาจจะเป็นช่วงสิ้นปีนี้ ที่แผนการข้างต้น จะถูกประกาศใช้ หรือเริ่มแผนการอย่างเป็นทางการ
และมิใช่แต่เฉพาะ “พลเมืองชาย” เท่านั้น ที่จะต้องเข้ารับการฝึกทหารตามแผนการดังกล่าว แม้กระทั่ง “พลเมืองหญิง” ทางนายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์ ก็เปิดเผยว่า ในอนาคตอาจจะต้องมาเข้ารับการฝึกทหาร เหมือนกับพลเมืองชายด้วยเหมือนกัน แต่เบื้องต้นทางการโปแลนด์ยังเห็นว่า การปกป้องประเทศยังเป็นหน้าที่ของพลเมืองชายเป็นหลักมากกว่า
โดยในประเด็นเรื่องพลเมืองหญิงรับการฝึกทหารในโปแลนด์นั้น ก็ได้มีสตรีจำนวนหนึ่ง มาขอเข้ารับการฝึก เช่น การฝึกใช้อาวุธปืนชนิดต่างๆ เป็นต้น เรียกว่าต่อไปในอนาคต ชาวโปล (Poles) คือ พลเมืองของโปแลนด์ทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ต้องเข้ารับการฝึกทหาร
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีโดนัลด์ ทัสก์ ยังมีความประสงค์ที่จะให้โปแลนด์ มีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตนเอง เพื่อนำไปใช้ติดตั้งประจำการเป็นหัวรบของขีปนาวุธชนิดต่างๆ ในการพิทักษ์ปกป้องประเทศสำหรับอนาคต