ในยุคที่อาหารฟาสต์ฟู้ดและขนมสมัยใหม่กำลังเป็นที่นิยม ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นในการอนุรักษ์และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมด้านอาหารของบรรพบุรุษ หนึ่งในนั้นคือ "ขนมโรตีออลาย" หรือ "โรตียาลอ" หรือ "โรตีเส้น" ขนมโบราณที่หาทานได้ง่ายในช่วงเดือนรอมฎอนของพี่น้องชาวไทยมุสลิม

รสชาติแห่งประวัติศาสตร์ที่ส่งต่อ โรตีออลายเป็นขนมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยส่วนผสมที่เรียบง่ายแต่ทรงคุณค่า ประกอบด้วยแป้งหมี่ 1 กิโลกรัม ไข่ไก่ 2 ฟอง เกลือ 1 ช้อนชา และน้ำสะอาด 1 ลิตร ขนมนี้มีให้เลือกสองสี คือสีธรรมชาติของแป้งและสีเขียวจากใบเตย

กรรมวิธีการทำที่พิถีพิถันเริ่มจากการละเลงแป้งบนกระทะร้อนที่เคลือบน้ำมันเล็กน้อย หมุนวนเป็นลวดลายคล้ายดอกไม้อย่างสวยงาม จนแป้งเกาะตัวกันเป็นแผ่นบาง ก่อนนำขึ้นจากเตาและพับใส่กล่อง บรรจุ 8 ชิ้นต่อกล่อง

ด้วยรสชาติที่ลงตัวทำให้ โรตีออลายนิยมรับประทานคู่กับน้ำจิ้มสองแบบตามความชอบ คือ แกงถั่วผสมแกงตอแมะไก่ หรือกะทิหวาน ในขณะที่ลูกค้าวัยรุ่นมักนิยมรับประทานคู่กับนมข้นหวานมากกว่า แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของขนมโบราณให้เข้ากับรสนิยมของคนรุ่นใหม่

นางสาวสุจิตราิชูแก้ว อายุ 38 ปี พร้อมน้องๆ นางสาวสุทารินทร์ ชูแก้ว อายุ 18 ปี ทายาทผู้สืบทอดขนมโบราณ บอกว่า ชวนพี่น้องสามวัย มาร่วมกันสืบสานสูตรขนมโบราณที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย พวกเขาไม่เพียงแค่รักษามรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังชวนครอบครัวและญาติพี่น้องมาร่วมกันทำขนมเพื่อจำหน่าย สร้างงานและรายได้ในช่วงเดือนรอมฎอน

ทางร้านผลิตขนมโรตีออลายวันละประมาณ 2 กิโลกรัม และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเดือนรอมฎอน โดยยึดมั่นในการปรุงอาหารสดใหม่และเปิดโอกาสให้ลูกค้าโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้เห็นกรรมวิธีการทำขนมโบราณ เพื่อสืบสานต่อไป

แหล่งจำหน่าย  ผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อขนมโรตีออลายได้ที่ตลาดรอมฎอน เทศบาลเมืองสตูล บริเวณรอบมัสยิดมำบัง ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล ในราคากล่องละ 20 บาท พร้อมน้ำจิ้มให้เลือกสองแบบ

นางสาวนุตเราะห์ ชัยยะวิริยะ ลูกค้าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (ผอ.กองศึกษาอบจ.สตูล) ยอมรับว่า  ดูวิธีการทำแล้วน่าซื้อหาไปรับประทานในช่วงละศีลอดนี้  ทั้งแม่ค้าคนรุ่นใหม่มาช่วยกันสืบสานขนมโบราณยิ่งทำให้อยากช่วยกันอุดหนุน และที่ตลาดรอมฏอนแห่งนี้ก็ยังมีอาหารที่น่าสนใจซื้อหารับประทานได้อย่างหลากหลายด้วย

เรื่องราวของขนมโรตีออลายและเจ้าของร้านสามวัยพี่น้องนี้ เป็นตัวอย่างอันดีของการอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารโบราณ ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพและรายได้ พิสูจน์ให้เห็นว่าภูมิปัญญาท้องถิ่นและมรดกทางวัฒนธรรมยังคงมีคุณค่าและสามารถอยู่ร่วมกับยุคสมัยปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน