ปศุสัตว์บุรีรัมย์ ติวเข้ม เกษตรกร เครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ ยกระดับคุณภาพการผลิต-การตลาดของโคเนื้อและเนื้อโค
สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ จังหวัดบุรีรัมย์ และสถาบันอุดมศึกษา จัดสัมมนาเกษตรกร เครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสถานภาพการผลิตและการตลาดของโคเนื้อและเนื้อโค รวมถึงติดตามความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาความสามารถในการผลิตและการตลาดของเกษตรกร
วันนี้ (10 มี.ค.68) ที่ห้องประชุมโกวิทเชื่อมกลาง ชั้น 2 อาคารนวัตปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ จังหวัดบุรีรัมย์, หน่วยวิจัยเฉพาะทางพันธุศาสตร์สัตว์เขตร้อนชื้น ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์, ฟาร์มไทยเรด และบริษัท สไมล์ บีฟ จำกัด (ผู้ทำหน้าที่ทางการตลาดให้เครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ จังหวัดบุรีรัมย์) จัดประชุมสัมมนาเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ จังหวัดบุรีรัมย์ ประจำปี พ.ศ.2568 สถานภาพการผลิตและการตลาดของโคเนื้อและเนื้อโค และก้าวย่างต่อไปของเครือข่าย ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแม่พันธุ์ผลิตลูกเพื่อจำหน่าย อำเภอละ 15 ราย รวมทั้งสิ้น 345 ราย ประกอบด้วย ปศุสัตว์อำเภอ เจ้าหน้าที่ และ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน กิจกรรมส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และโครงการบริหารจัดการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตร เพื่อบริหารจัดการเชิงรุก กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนในเครือข่ายฟาร์มไทยเรด เจ้าของบริษัท สไมล์ บีฟ จำกัด และเจ้าของบริษัท สไมล์ คร๊าฟ จำกัด กลุ่มบุคคลทั่วไปที่สนใจ
ทั้งนี้ เพื่อถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสถานภาพการผลิตและการตลาดของโคเนื้อและเนื้อโค รวมถึงติดตามความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาความสามารถในการผลิตและการตลาดของเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรในเครือข่ายฯ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของโคเนื้อในจังหวัดบุรีรัมย์ และ เพื่อสร้างความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร
นายสัตวแพทย์อภิชาติ สุวรรณชัยรบ ปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อมากที่สุดในประเทศ โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อกว่า 86,000 ราย มีโคเนื้อรวมกันมากกว่า 560,000 ตัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมโคเนื้อในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงสร้างของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในจังหวัด โดยพบว่า เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงโคเนื้อจำนวน 1-20 ตัวมีมากกว่า 98 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อในระดับกลาง และขนาดใหญ่มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของเกษตรกรรายย่อยในการขยายฟาร์มและเพิ่มศักยภาพการผลิต ดังนั้น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการตามนโยบายของกรมปศุสัตว์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมโคเนื้อในจังหวัดบุรีรัมย์ให้สามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ต่อปี สนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงโคเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนด้านการตลาดเพื่อให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม
โดยการจัดเสวนาเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อ ในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรต้นแบบมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับตลาดและความต้องการเนื้อโคและโคเนื้อแนวทางการพัฒนาเครือข่ายเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด การพัฒนาคุณสมบัติของโคให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์การยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาศักยภาพทางพันธุกรรมโคเนื้อ และ ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโคเนื้อในปัจจุบัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อโคไทย จากเจ้าของร้านธุรกิจร้านอาหาร ที่มีเชื่อเสียง.