กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งทางการเงินการบัญชีภาคการเกษตร โดยการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการทางการเงินให้แก่สหกรณ์และสมาชิก พร้อมทั้งพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อขยายขอบเขตการตรวจสอบ และการกำกับดูแลด้านความเสี่ยงของสหกรณ์ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ครอบคลุมความเสี่ยงในทุกมิติภาคการเกษตร
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ก้าวเดินมาสู่ปีที่ 73 ยังคงเดินหน้าภารกิจหลักสำคัญในการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวมถึงสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชน และเกษตรกรทั่วประเทศภายใต้แนวคิด “ยกระดับมาตรฐานข้อมูลสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินสหกรณ์ไทย”
สำหรับปี 2568 ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้เน้นภารกิจ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านแรก การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทั้งที่ดำเนินการได้ และอยู่ระหว่างการชำระบัญชี ซึ่งมีประมาณกว่า 10,000 แห่ง ส่วนสหกรณ์ที่เข้าไปตรวจสอบในระบบปกติ จะมีประมาณ 7,000 แห่ง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์จะเข้าไปดูเรื่องของมาตรฐาน และความสามารถในการตรวจสอบบัญชีตามระบบของภาครัฐ
ด้านที่สอง การส่งเสริมการทำบัญชี และสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชนและเกษตรกรทั่วประเทศ ถือเป็นภารกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สาเหตุอาจมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ทำมาหากินลำบาก หรือการจับจ่ายใช้สอยที่ง่ายขึ้น แค่เพียงยกโทรศัพท์ก็สามารถช้อปปิ้งได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จะรณรงค์ให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
รวมทั้งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้พัฒนามาตรฐานการบัญชีและระบบบัญชีให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสหกรณ์ที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สหกรณ์สามารถจัดทำข้อมูลทางการเงินการบัญชีได้อย่างถูกต้อง ได้มาตรฐาน รวมทั้งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินผ่านสหกรณ์
และด้วยโลกที่ก้าวหน้า ทั้งระบบธุรกรรม ความเห็น มุมมอง เครื่องมือต่างๆ และกฎหมายเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำเป็นต้องพัฒนาองค์กรและบุคลากร โดยส่งเสริมให้ทุกคนได้มีโอกาสได้เรียนรู้ทั้งภายในประเทศ และเรียนรู้กับหน่วยงานระหว่างประเทศ มีโลกทัศน์ มุมมองที่กว้างขึ้น มีการตรวจสอบภายในและการกำกับดูแล สามารถผลักดันการบริหารจัดการ มาตรฐานการตรวจสอบบัญชี รวมถึงความโปร่งใส และคุณภาพของสหกรณ์ได้เข้มแข็งมากขึ้น
ขณะเดียวกัน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้สนองนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์) ที่เน้นย้ำให้เดินหน้าส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ในระบบบัญชีมากขึ้น อาทิ โปรแกรมบัญชีต่าง ๆ ทุกโปรแกรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีมาตรฐานเดียวกัน และไม่มีความเสี่ยงในการเข้าไปแก้ไข หรือตกแต่งบัญชี ซึ่งเป็นปัญหาจนนำไปสู่การทุจริตในอนาคต
ควบคู่การประเมินผลธุรกิจภาพรวมของสหกรณ์ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ป้องกันเชิงรุก ด้วยโครงการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตด้านดิจิทัลในสหกรณ์ โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ในอนาคต ที่สำคัญทำให้สหกรณ์ได้รู้สถานะทางการเงิน มีความเสี่ยงในการปล่อยเงินกู้ รวมถึงการบริหารงานภายในสหกรณ์ตามหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้
นอกจากนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้สร้างวินัยทางการออม ผ่านครูบัญชี ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7,000-8,000 คน ซึ่งครูบัญชีอาสา ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จึงเร่งพัฒนาครูบัญชีให้มีความรู้ความสามารถมากยิ่งขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ในเรื่องของบัญชีไปสู่สมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป
“อย่างไรก็ดี บัญชีเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ตัวเลข แต่ตัวเลขพาชีวิตไปได้ทุกๆ ที่ และแก้ปัญหาได้ทุกๆ อย่าง จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนร่วมจดบันทึกบัญชีรายรับรายจ่าย ทั้งแบบจดด้วยมือ หรือผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งมีประโยชน์และสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการชีวิต เพื่อปลดเรื่องความเสี่ยงทางการเงินทำให้หนี้ลดลง ครอบครัวมั่นคงมากขึ้น” อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว