ถือเป็นมหาวาตภัยระดับ “พายุไซโคลน” ที่พัดถล่ม “ออสเตรเลีย” ลูกแรกในปีนี้
สำหรับ พายุไซโคลนนามว่า “อัลเฟรด” ซึ่งขึ้นฝั่งในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีนส์แลนด์ คาบเกี่ยวกับรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศเจ้าของฉายาว่าแดนจิงโจ้ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ท่ามกลางการเตือนภัยจากการพยากรณ์อากาศของ “สำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งออสเตรเลีย” หรือ “บีโอเอ็ม” ที่ออกมาแจ้งเตือนก่อนหน้านี้ หลังตรวจพบพายุได้เริ่มก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก มาตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยคาดว่า พายุจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นระดับ “ไซโคลน” และจะพัดกระหน่ำในพื้นที่ชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยขนาดความเร็วลมสูงสุดถึง 215 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชัน ไปจนถึงหย่อมความกดอากาศต่ำ ในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงพื้นที่ดินแดนตอนในของประเทศออสเตรเลีย
แม้พายุไซโคลน “อัลเฟรด” อ่อนกำลังลงและมุ่งหน้าไปยังพื้นที่ตอนในของแผ่นดินใหญ่ประเทศออสเตรเลียไปแล้วนั้น แต่พิษภัยของพายุก็ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายเป็นประการต่างๆ เป็นวงกว้าง ทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนชาวแดนจิงโจ้ ในรัฐควีนส์แลนด์ และรัฐนิวเซาท์เวลส์
โดยมีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย และสูญหาย 4 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บ มีจำนวน 39 ราย ในจำนวนนี้ปรากฏว่า เป็นกำลังพลทหารของกองทัพออสเตรเลียหลายนายด้วยกัน จากการที่รถของทางกองทัพสองคันชนกัน จนมีผู้บาดเจ็บถึง 36 ราย ในจำนวนนี้อาการสาหัส 8 ราย
ขณะที่ ความเสียหายทางทรัพย์สิน และผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนนั้น ก็มีเป็นบริเวณกว้าง ทั้งจากแรงกระหน่ำของพายุพัดถล่ม รวมไปถึงการเกิดฝนตกหนักจากเหตุพายุ จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลันตามมา
โดยแรงลมที่โหมกระหน่ำของพายุไซโคลน “อัลเฟรด” สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมไปถึงทำให้ระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าขัดข้อง
ทั้งนี้ มีรายงานว่าบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป และอาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจ รวมแล้วกว่า3 แสนหลัง ต้องอยู่ในสภาพไม่มีไฟฟ้าใช้ ทันทีที่พายุไซโคลนอัลเฟรด เข้าพัดถล่มชายฝั่ง โดยทำให้เสาไฟฟ้าหักโค่นเป็นบริเวณกว้าง
นอกจากระบบการจ่ายไฟฟ้าไปตามบ้านเรือนเสียหายแล้ว พายุไซโคลน “อัลเฟรด” ยังพ่นพิษต่อระบบสื่อสารโทรคมนามคมในพื้นที่เกิดการขัดข้องอีกด้วย จนต้องระงับให้บริการชั่วคราว
ผลพวงของพายุยังก่อให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่หลายจุด ต้องประสบกับอุทกภัย น้ำท่วมตามมา แถมยังเป็นปรากฏการณ์น้ำท่วมสูงฉับพลันอีกต่างหาก ชนิดที่ว่าประชาชนเปิดประตูบ้านออกมา ก็พบมวลน้ำท่วมสูงจนถึงเข่า
ตามการเปิดเผยของทางการท้องถิ่นในรัฐควีนส์แลนด์ ระบุว่า ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เช่น ที่ย่านเฟรเซอร์โคสต์ วัดปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเฉลี่ยได้ถึง 300 มิลลิเมตร หลังจากที่ฝนได้เทกระหน่ำลงมาอย่างต่อเนื่องถึง 6 ชั่วโมงด้วยกัน
โดยน้ำที่ท่วมสูงฉับพลัน จากปริมาณฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทางการท้องถิ่นรัฐควีนส์แลนด์ แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง รวมถึงแจ้งเตือนให้ประชาชนอยู่แต่ในเคหสถานของตน เพื่อความปลอดภัย ยกเว้นบ้านถูกน้ำท่วมอย่างหนัก จนไม่สามารถพำนักอาศัยต่อไปได้ ส่วนผู้ที่บ้านเรือนไม่ถูกน้ำท่วมเพียงแต่บริเวณรอบๆ บ้านถูกท่วมนั้น ทางการก็แจ้งเตือนว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะอยู่แต่ในบ้านเรือนขงตน ระงับการเดินทางด้วยรถยนต์ในช่วงนี้ออกไปก่อน ยกเว้นว่ามีกิจธุระจำเป็นที่ต้องออกไปทำ เนื่องจากถนนหลายสายเผชิญกับน้ำท่วมสูงฉับพลัน
ส่งผลให้ “ทางการรัฐควีนส์แลนด์” ต้อง “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” เพื่อที่จะรับมือกับปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมาหลังพายุพัดกระหน่ำ เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่องจนทำให้เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลันในหลายพื้นที่ของรัฐ การประสบเหตุร้ายจากการเกิดวาตภัย และอุทกภัยของประชาชนในพื้นที่
พร้อมกันนี้ ทางการรัฐควีนส์แลนด์ ก็ให้ “สำนักงานบริการฉุกเฉินของรัฐ” (State Emergency Service) ทำหน้าที่เปรียบเสมือนทัพหน้า ในการรับมือปัญหาต่างๆ หลังจากที่ทางการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไป ซึ่งก็จะมีทั้งการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนต่างๆ การขอความช่วยเหลือผ่านทางโทรศัพท์ และเตรียมเจ้าหน้าที่แบบ “หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” ให้มีความพร้อมเสมอ สำหรับการออกไปช่วยเหลือทันทีที่ได้รับการแจ้งขอความช่วยเหลือมาจากประชาชนที่กำลังประสบภัย
รายงานขาวแจ้งว่า ศูนย์รับแจ้งของสำนักงานบริการฉุกเฉินของรัฐ ได้รับแจ้งจากประชาชนที่โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือผ่านทางสายด่วน จำนวนกว่า 1,000 ราย จากประชาชนทั่วรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งในจำนวนนี้ ทางการรัฐควีนส์แลนด์ ต้องถึงขั้นส่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษออกไปช่วยเหลือหลายร้อยรายด้วยกัน
ทั้งนี้ เรื่องที่ประชาชนผู้ประสบภัยแจ้งเข้ามา ก็มีทั้งผู้ที่ติดค้างตามบ้านเรือนเนื่องจากถูกน้ำท่วมโดยรอบบริเวณ หรือบ้านถูกน้ำท่วม รวมไปจนถึงผู้ใช้รถยนต์ติดค้างอยู่ภายในรถเพราะถูกน้ำท่วม ซึ่งบรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษเหล่านี้ ก็ต้องออกไปให้ความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ทางการรัฐควีนส์แลนด์ ยังได้ให้อำนาจแก่ทางตำรวจ ในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนอย่างเข้มงวดกวดขันขึ้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิทักษ์ปกป้องความปลอดภัยสาธารณะ ที่รัฐควีนส์แลนด์ ตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมาเมื่อปี 1986 (พ.ศ. 2529)
ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ นั้น ทางการรัฐควีนส์แลนด์ ก็ได้ระดมเจ้าหน้าที่และพนักงานของบริษัทผู้ให้บริการไฟฟ้าจำนวนกว่า 2,000 คน ช่วยแก้ไขระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับคืนมาให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเหตุไฟฟ้าดับเช่นนี้ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนมากกว่า 3 แสนหลังคาเรือนด้วยกัน