วันที่ 10 มี.ค.68 ที่กรมการแพทย์ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงความสำคัญในการจัดงานวันสถาปนากรมการแพทย์ ครบรอบ 83 ปี ในวันนี้ว่า การจัดงานวันนี้เพื่อระลึกถึงคุณความดีของผู้บริหารกรมการแพทย์ในอดีตที่ได้บริหารงานมาถึง 83 ปี ซึ่งมีอดีตอธิบดีกรมการแพทย์มาร่วมให้โอวาทแนะนำการดำเนินงานต่าง ๆ ส่งต่อแนวคิดการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อนำความสำเร็จในอดีตมาขยายผลในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

ด้านนโยบายสำคัญที่กำลังผลักดันอยู่ขณะนี้ คือการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรไทยในระบบบริการสุขภาพ โดยการจัดทำคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในเวชปฏิบัติ ซึ่งเป็นนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสุขภาพ นำการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนตะวันออก มาบูรณาการกับการแพทย์แผนตะวันตก ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยเด่นชัด 2 เรื่อง คือ ด้านยาสมุนไพร และหัตถการ เช่น การนวดแผนไทย เป็นต้น

สำหรับด้านยาสมุนไพร มีการจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการร่วมกันระหว่างแพทย์แผนไทยและตะวันตก มีหน่วยงานหลายภาคส่วนเข้าร่วม เช่น กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ รวมถึงสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งร่วมกันวิเคราะห์ วิจัย เสนอคณะกรรมการฯ ให้เห็นภาพรวม โดยแบ่งงานวิจัยเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มสีเขียว คือกลุ่มที่มีงานวิจัยชัดเจนแล้ว ประกอบด้วย 6 กลุ่มโรค สามารถนำไปประกาศใช้ได้ 2.กลุ่มสีเหลือง คือกลุ่มที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีงานวิจัยบางส่วน ยังต้องทำงานวิจัยต่อเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มเติมก่อนนำมาประกาศใช้ 3.กลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่อยู่ในคัมภีร์โบราณ หรือรอยจารึก สืบต่อมาทางภูมิปัญญา มีการใช้ในอดีต ยังต้องทำการวิจัยให้ชัดเจน โดย 3 กลุ่มดังกล่าว กรมการแพทย์อยู่ระหว่างวิจัยขยายผลต่อ

ปัจจุบัน กลุ่มสีเขียว 6 กลุ่มโรค/อาการ จากการประชุมคณะกรรมการบูรณาฯ ดังกล่าว ได้ประกาศใช้แล้ว เพื่อให้แพทย์แผนตะวันตกมีความมั่นใจในการใช้ยาสมุนไพรไทยเพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้สามารถนำยาสมุนไพรมาใช้แทนยาตะวันตก โดยได้มีการพิจารณารายการยาสมุนไพรที่สามารถทดแทนยาแผนปัจจุบัน รวมถึงหัตถการในการรักษา อยู่ระหว่างจัดทำคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในเวชปฏิบัติ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.68 ประกอบด้วย 6 กลุ่มโรค ดังนี้

1.กลุ่มอาการระบบทางเดินอาหาร ประกอบด้วยยาสมุนไพรขมิ้นชัน ขิง เพชรสังฆาต 2.กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ ประกอบด้วยยาสมุนไพรปราบชมพูทวีป ฟ้าทะลายโจร ประสะมะแว้ง มะขามป้อม 3.กลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ประกอบด้วยยาสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง ไพล เจลพริก ยาประคบ ขมิ้นชัน ยาสหัสธารา 4.กลุ่มโรคมะเร็ง ประกอบด้วยยาสมุนไพรว่านหางจระเข้ (ลดอาการแสบคันจากการฉายรังสี) 5.กลุ่มอาการสมองและระบบประสาท ประกอบด้วยยาสมุนไพร CBD enriched CBD:THC 1:1 เจลพริก มณีเวช โดยเฉพาะอาการท้องอืดท้องเฟ้อซึ่งพบบ่อย มีการวิจัยและยืนยันจากแพทย์แล้วว่า ขมิ้นชันมีสรรพคุณเทียบเคียงยาตะวันตก

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันที่ 17 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการฯ ดังกล่าว เพื่อประกาศแนวทางการใช้ยาเพื่อสร้างความมั่นใจให้แพทย์ทั้งประเทศ โดยกรมการแพทย์จะเป็นผู้ชี้แนะแนวทางการใช้ยาและการรักษาต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการใช้ยาทางการแพทย์สมุนไพรไปสู่ตะวันตกได้ดียิ่งขึ้น ส่วนข้อกังวลขณะนี้คือแนวทางการจ่ายยา เช่น แพทย์แผนปัจจุบันอาจไม่มีความเข้าใจในการจ่ายยาแผนสมุนไพร ซึ่งเรื่องนี้มีการหารือกันระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์ เนื่องจากการผลิตแพทย์ตลอดระยะเวลามากกว่า 100 ปีที่ผ่านมา มีแต่หลักสูตรแพทย์แผนปัจจุบันหรือแผนตะวันตก ยังไม่เคยมีหลักสูตรแพทย์สมุนไพร เพิ่งเริ่มบรรจุหลักสูตรแพทย์สมุนไพรในหลักสูตรนักศึกษาแพทย์เมื่อประมาณ 1-2 ปีที่แล้วในบางมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต ศิริราชพยาบาล เป็นต้น จากนี้จะมีการติดตามให้ข้อมูลความรู้ เชื่อว่ามีแนวโน้มขยายไปในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในวงกว้าง และสร้างความมั่นใจได้มากขึ้น

"หากร่างคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในเวชปฏิบัติดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จะนำมาให้คณะกรรมการพิจารณา หากมีมติเห็นชอบ จะมีการประกาศใช้ ส่งผลให้แพทย์แผนตะวันตกสามารถสั่งจ่ายยาสมุนไพรตามข้อแนะนำในคู่มือดังกล่าวได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ซึ่งเป้าหมายปีนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะนำงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาให้ จำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อให้สนับสนุนการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม และหากมีผลสำเร็จด้วยดีจะเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาทในปีหน้า" นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าว