เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 9 มี.ค.68 ที่โบราณสถานปราสาทเมืองแขก ต.โคราช อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา พร้อมร้อยโทอนุชา ตั้งพาณิชย์ นายอำเภอสูงเนิน นายรักชาติ กิริวัฒนศักดิ์ สมาชิกสภาองค์การบริการส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา เขต อ.สูงเนิน ในฐานะประธานสภาวัฒนาธรรม อ.สูงเนิน และคณะผู้บริหาร อบจ. ฯ ส.อบจ. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้นำชุมชนและชาวสูงเนิน ร่วมเปิดงาน “ประเพณีกินเข่าค่ำ ของดีเมืองสูงเนิน ประจำปี 2568” กำหนดจัดระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม ท่ามกลางประชาชนและนักท่องเที่ยวหลายพันคนร่วมสัมผัสบรรยากาศย้อนยุคดินแดนแห่งอารยธรรม ศิลปะทวารวดี สืบสานประเพณีนั่งล้อมวงรับประทานอาหารเย็นแบบพื้นถิ่นอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน “กินเข่าค่ำ”

พร้อมชมการแสดงจินตภาพ ประกอบแสง สี เสียง “ศรีจนาศะปุระ” ชุด ศรีจนาศะ นมัสการ บริบาล อารักษ์ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองทางอารยธรรม ด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความรัก ความสามัคคี ของบรรพชนชาวสูงเนินในอดีตกาล ที่ได้ก่อสร้างอาณาจักรศรีจนาศุปุระอันยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า อ.สูงเนิน ในอดีตคือต้นกำเนิดเมืองโคราช หรือ จ.นครราชสีมา ในปัจจุบัน อันเป็นร่องรอยแห่งอารยธรรมของบรรพชน ที่ได้สร้างสรรค์ไว้ให้เป็นมรดกของชาวสูงเนิน รวมทั้งวัฒนธรรมแบบเขมรโดยใช้นักแสดงเป็นชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษาในท้องถิ่นกว่า 300 ชีวิต พร้อมนิทรรศการของหน่วยงานราชการ อปท.และภาคเอกชนรวมถึงการจำหน่ายสินค้าโอทอป ของดีเมืองสูงเนิน ที่ผลิตในท้องถิ่นมาจำหน่าย

ทั้งนี้ ประเพณีกินเข่าค่ำได้จัดต่อเนื่องขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมเป็นเวลา 29 ปี ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สถานะปัจจุบัน อ.สูงเนิน มีความเจริญทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม แต่วิถีชีวิตของชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรม ยามเย็นค่ำหลังเลิกงานแต่ละครอบครัวมักจะมานั่งล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกัน หรือที่ชาวบ้านพูดเป็นภาษาถิ่นโคราช “กินเข่าค่ำ” ซึ่งเป็นการรับประทานอาหารเย็นและถือโอกาสพบปะสังสรรค์ สร้างความสามัคคีในหมู่ชาวบ้านด้วยกัน ถือเป็นวิถีชีวิตและประเพณีอันดีงามมาตั้งแต่อดีตให้คนรุ่นใหม่ได้สืบสานวัฒนธรรมและรับรู้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ จัดกิจกรรมให้ชาวโคราชและนักท่องเที่ยวได้มาผ่อนคลายนั่งกินเข่าค่ำแบบขันโตกพร้อมชมการแสดงแสง สี เสียง เกี่ยวกับตำนานพื้นเมืองของเมืองสูงเนิน แสดงออกถึงความสามัคคี ความภาคภูมิใจในความเป็นดินแดนแห่งอารยธรรม ที่มีการสืบสานและผสมผสานวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อของชุมชนโบราณกำเนิดถิ่นเดิม ในบรรยากาศโบราณสถานปราสาทเมืองแขกที่สวยงามร่วมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้หมุนเวียน สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น