แนะปชช.อย่ากังวลพบแพทย์ทันเวลารักษาได้
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ภาพผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงก้นแหลมชนิดหนึ่ง จนมีข่าวถึงกับว่า แมลงชนิดนี้ทำให้เสียชีวิต กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนังให้ข้อมูลเกี่ยวกับแมลงด้วงก้นกระดก และโรคผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลงด้วงก้นกระดก ว่า อาการผิวหนังอักเสบจากแมลงด้วงก้นกระดกเกิดจากการสัมผัส สารพีเดอริน (Paederin) จากตัวแมลงก้นกระดกสารนี้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน เมื่อด้วงก้นกระดกมาเกาะตามร่างกายแล้วเผลอปัด หรือบี้ทำให้แมลงท้องแตกและสัมผัสกับสารพิษนั้น อาการจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณสารพิษที่สัมผัส ถ้าสัมผัสสารพิษจำนวนมากจะเป็นหนอง ผื่นวางเรียงตัวเป็นแนวยาว เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ถ้ามีอาการโรคติดเชื้อรุนแรงควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามพิษจากแมลงด้วงก้นกระดกไม่ทำให้มีอันตรายถึงชีวิต ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวลมากเกินไป
ลักษณะเป็นผื่นแดงหรือเป็นรอยไหม้ รูปร่างมักเป็นทางยาว ทิศทางหลากหลาย(ตามรอยปัด) ผื่นมีขอบเขตชัดเจน จะมีตุ่มน้ำพองใสและตุ่มหนองขนาดเล็กเกิดขึ้นตามมาในเวลา 2-3 วัน อาการคันมีไม่มากนัก แต่มักมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย หากสัมผัสโดนพับข้อศอก ข้อเข่า ส่วนใหญ่ก็จะโดนทั้งสองด้านผื่นก็จะคล้ายกันในแต่ละด้าน หากสารพีเดอรินกระจายถูกบริเวณดวงตา ก็จะเกิดอาการตาบวมแดงและอาจทำให้ตาบอดได้ อาการอักเสบเหล่านี้จะหายไปในเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอาจจะมีรอยดำหลังการอักเสบได้ในระยะสั้นๆ แต่มักจะไม่เป็นแผลเป็น โดยทั่วไป อาการจะไม่รุนแรง และไม่มีอาการระบบอื่นนอกจากตาและผิวหนัง ยกเว้นในรายที่ได้รับพิษจำนวนมาก หรือมีอาการแพ้รุนแรง ก็จะมีไข้สูง และอาการทางระบบหายใจได้