“กรมราชทัณฑ์" แจงละเอียด ผกก.โจ้ ไม่ได้ถูกทำร้ายเสียชีวิตภายในเรือนจำ

จากกรณีการเสียชีวิตของ ผกก.โจ้ หรือ ข.ช.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้ต้องขังคดี ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต  โดยกรม
ราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการชี้แจงตามที่ข่าวเสนอไปแล้วนั้น 

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า การเสียชีวิตของ ผกก.โจ้ ดังกล่าว เรือนจำกลางคลองเปรมร่วมกับพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ แพทย์ เจ้าพนักงานปกครอง เข้าดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย และส่งไปยังสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว กรมราชทัณฑ์   จึงขอชี้แจงเพิ่มเติมดังนี้               
1. ประเด็นเกี่ยวกับการรักษาของ ข.ช.ธิติสรรค์ฯ นอกจากมีโรคประจำตัวที่รักษาโดยการรับประทานยาแล้ว พบว่า เคยปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ในเรื่องปัญหาการนอน ความวิตกกังวลเรื่องของคดีความและการดำเนินชีวิตในเรือนจำฯ โดยมีการนัดหมายติดตามการรักษา


2. ประเด็นปัญหาการกระทบกระทั่งกับเจ้าพนักงานเรือนจำ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ข.ช.ธิติสรรค์ฯ ได้นำกล้องถ่ายรูปของเรือนจำฯ ไปถ่ายภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานเรือนจำจึงยึดคืนแต่ผู้ต้องขังไม่ส่งคืน   มีการพูดจาโต้เถียงกันโดยไม่มีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย เรือนจำฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้ต้องขังถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยข้อหาแสดงกิริยาและวาจาไม่เหมาะสมต่อเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของเรือนจำเรื่องอยู่ระหว่างดำเนินการสอบข้อเท็จจริง จึงต้องดำเนินการย้ายผู้ต้องขังจากแดน 7 ไปยังแดน 5 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 และ  

3. ประเด็นห้องคุมขังของ ข.ช.ธิติสรรค์ฯ ปกติเป็นห้องที่ให้ผู้ต้องขังอยู่ 4 - 5 คน แต่ให้อยู่เพียงคนเดียว ไม่ต้องแออัดกับผู้ต้องขังอื่น และเป็นห้องที่ใช้คุมขังช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น ส่วนเวลากลางวันผู้ต้องขังสามารถออกไปทำกิจกรรมได้ตามปกติเช่นเดียวกับผู้ต้องขังอื่น โดยไม่มีการคุมขังอยู่ภายในห้องควบคุมแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการบังคับโทษขังเดี่ยวตามที่ปรากฏในข่าว โดยห้องคุมขังมีขนาดพื้นที่ 8.74 ตารางเมตร ซึ่งภายในประกอบด้วยพื้นที่นอน พื้นที่อาบน้ำ สุขา พัดลมดูดอากาศ พัดลมเพดาน มีไฟส่องสว่าง จึงไม่ใช่เป็นการคุมขังเพื่อให้เกิดการทรมานตามที่สื่อมวลชนกล่าวอ้างแต่อย่างใด

4. ประเด็นแฟนสาวและน้องสาวของผู้ต้องขังยื่นคำร้องเรียนขอความเป็นธรรมถึงผู้บัญชาการเรือนจำฯ กรณีผู้ต้องขังถูกกลั่นแกล้ง และใช้ความรุนแรงถูกทำร้ายร่างกายจากเจ้าพนักงานเรือนจำ เหตุเกิด เมื่อวันที่ 8 มกราคม2568 เรือนจำฯ จึงได้ส่งผู้ต้องขังเข้ารับการตรวจจากแพทย์ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2568 และวันที่ 16 มกราคม 2568 โดยแพทย์ไม่ได้ระบุรอยฟกช้ำเกิดจากการทำร้ายร่างกายตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าว ผู้บัญชาการเรือนจำได้ตั้งคณะกรรมการ  สอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ต่อมา ข.ช.ธิติสรรค์ฯ ไม่ประสงค์จะให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนต่อ จึงขอให้ยุติเรื่องพร้อมลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งไม่ได้เกิดจากการบังคับ

5. ประเด็นเรื่องอาหารของ ข.ช.ธิติสรรค์ฯ ที่ได้รับในแต่ละวันไม่ถูกสุขลักษณะ บางวันไม่มีเนื้อสัตว์ ให้ได้รับประทานนั้น ขอเรียนว่า กรมราชทัณฑ์ โดยกองบริการทางการแพทย์ และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เรือนจำ จะกำหนดเมนูอาหาร สารอาหาร และพลังงานที่ผู้ต้องขังจะได้รับ คุณภาพวัตถุดิบ และการตรวจสอบอาหาร  โดยเรือนจำกลางคลองเปรม ได้จัดแสดงป้ายรายการอาหารผู้ต้องขังที่จัดเลี้ยงประจำวันที่ 1 - 31 ของทุกเดือน ในปีงบประมาณ 2568 ให้ผู้ต้องขังและญาติรับทราบ สำหรับการตักอาหารแจกจ่ายในแต่ละมื้อ จะมีเจ้าพนักงานเรือนจำคอยควบคุม เพื่อให้ปริมาณอาหารมีความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ  

6. ประเด็นของผ้าขนหนูที่พบในที่เกิดเหตุซึ่งมีข้อสงสัยในเรื่องชองความยาวนั้น กรมราชทัณฑ์ขอเรียนว่า จากการตรวจสอบเป็นผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดตัวที่กรมราชทัณฑ์จัดสรรแจกให้กับเรือนจำ ถ้าเป็น ของผู้ชาย มีขนาดความกว้าง 23 นิ้ว (59  เซนติเมตร) ความยาว 44  นิ้ว (112 เซนติเมตร) สีน้ำตาลเข้ม ถ้าเป็นของผู้หญิง มีขนาดความกว้าง 22นิ้ว (56 เซนติเมตร) ความยาว 47 นิ้ว (120 เซนติเมตร) สีฟ้า     

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการชันสูตรถึงสาเหตุการเสียชีวิตอย่างเป็นทางการ โดยจะมีคณะอนุกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริงกรณีการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย กรมราชทัณฑ์ ขอยืนยันว่า ไม่มีเจ้าพนักงานเรือนจำหรือผู้ต้องขังรายใดทำร้ายหรือทำให้ผู้ต้องขังถึงแก่ความตาย โดยเรือนจำได้ตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดตั้งแต่ช่วงผู้ต้องขังเดินเข้าห้องขังตั้งแต่เวลา 15.04 ถึงเวลา 20.25 น. ปรากฏว่า ไม่มีสิ่งผิดปกติและไม่มีผู้ใดเข้าไปในห้องคุมขังอย่างชัดเจน ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต รวมทั้งเพื่อเป็นหลักประกันความโปร่งใสและเป็นธรรม จึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งระดับกรม โดยมีหน่วยงานภายนอก ได้แก่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการปกครอง เข้าร่วมเป็นกรรมการ คณะกรรมการฯ ระดับเรือนจำ มีหน่วยงานภายนอก ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมคุมประพฤติ 

อนึ่ง กรณีการร้องทุกข์ กรมราชทัณฑ์จะตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียดเพื่อให้ความจริงปรากฏ หากพบว่า เจ้าหน้าที่มีการกระทำการใดๆ ที่ฝ่าฝืนระเบียบทางราชการ ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบจะดำเนินการ
ทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป