ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า หมู่บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม  โกยเงินปีละ 10 ล้านบาท หมู่บ้านผลิตเครื่องดนตรีอีสาน ทำพิณ แคน โหวด ครบวงจร หนึ่งเดียวของไทย สร้างรายได้ในชุมชน ด้าน นายก อบจ.นครพนม เล็งผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ นครพนม กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น ชมวิถีชีวิตหมู่บ้าน เครื่องดนตรีอีสาน เร่งแก้ปัญหาภาษีนำเข้าไม้คู่แคน จาก สปป.ลาว ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ชุมชน

ซึ่งนับเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจ สำคัญ ของ จ.นครพนม สำหรับ บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านอันซีนอีสาน ที่ไม่เคยขาดแคน เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่สืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานมากว่า 30 ปี  กลายเป็นแหล่งผลิต เครื่องดนตรีอีสาน ขึ้นชื่อ พิณ แคน โหวด ครบวงจร ที่เดียวของไทย สร้างรายได้ หมุนเวียนสะพัด ในพื้นที่ ปีละกว่า 10 ล้านบาท บางครอบครัว มีความสามารถ มีความชำนาญ สามารถผลิต เครื่องดนตรีอีสาน ส่งขายสร้างรายได้ เดือนละเกือบแสนบาท

ทั้งนี้ได้สร้างชื่อเสียง รวมถึงสร้างรายได้ มากที่สุด คือแคน ต้นตำหรับดนตรีอีสาน ทำขึ้นจากไม้คู่แคน ที่ต้องนำเข้ามาจาก สปป.ลาว เท่านั้น เพราะเป็นไม้คู่แคน ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ทำให้เสียงออกมาไพเราะ ไม่สามารถนำมาปลูกได้ในไทย เป็นจุดขายของแคน บ้านท่าเรือ ควบคู่กับความชำนาญ ของเซียนทำแคน ที่สืบสานการผลิต ลิ้นแคน มาแต่บรรพบุรุษ ทำจากเงินแท้ และทองแดง ที่ ผ่านการหลอมก่อนนำมาตีขึ้นรูป เป็นลิ้นประกอบในเต้าแคน

 

ด้วยความชำนาญเฉพาะด้าน กลายเป็นหัวใจของแคน ดนตรีอีสาน ที่นำไปเป่า ประกอบการแสดงหมอลำพื้นบ้านอีสาน  เสียงดีที่สุดคือ แคนลิ้นเงิน มีราคาตั้งแต่ 2,000 – 5,000 บาท แล้วแต่ขนาดความยาว รวมถึงคีย์ ดนตรี ที่จะนำไปใช้งาน โดยเฉพาะการทำคู่แคน ก่อนที่จะนำมาประกอบเป็นแคน จะต้องถูกเทียบเสียง คีย์ดนตรี จากการเป่า และฟังเสียงด้วยความชำนาญ เท่านั้น ไม่มีอุปกรณ์ช่วยเทียบเสียง เพราะลองผิดลองถูกมานานหลาย 10 ปี จนเกิดความชำนาญเฉพาะด้าน กลายเป็นเสน่ห์ของแคน บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม

ขณะที่ นายเกษชัย มิ่งวงศ์ธรรม อายุ 66 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน ท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มผลิตเครื่องดนตรีอีสาน เปิดเผยว่า บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือว่าเป็นหนึ่งเดียวในไทย สืบสานอาชีพ ทำเครื่องดนตรีอีสาน พิณ แคนโหวต มานาน กว่า 50 ปี  มีเงินหมุนเวียนสะพัด ปีละกว่า 10 ล้านบาท บางครอบครัวมีรายได้เดือนละครึ่งแสน จนถึง 1 แสนบาท โดยเฉพาะแคน ถือเป็นหมู่บ้านแห่งเดียวที่ทำแคน เสียงไพเราะ เป็นที่ต้องการของนักดนตรีอีสาน หมอลำคณะใหญ่ มีราคาตั้งแต่ 2,000 – 5,000 บาท ราคาจะขึ้นอยู่กับคุณภาพความชำนาญในการผลิต สำคัญที่สุดคือลิ้นแคน เพราะเป็นที่มาของเสียงในเต้าแคน มีลิ้นเงินแพงสุด และรองลงมาคือลิ้นทองแดง นอกจากผลิตเครื่องดนตรีอีสาน นอกยังมีการประดิษฐ์ พิณ และโหวด ครบวงจร พิณราคาประมาณ 1,500 – 2,000 บาท โหวด มีราคา ประมาณ 200 -500 บาท ตามขนาด ถือว่าสร้างรายได้เป็นอย่างดี ยิ่งปัจจุบัน มีช่องทางการตลาดขายทางออนไลน์ ยิ่งสร้างรายได้เพิ่ม ส่งขายทั่วประเทศ

ส่วนปัญหาสำคัญของหมู่บ้านดนตรีอีสานที่พยายามหาทางออกมานานกว่า 20 ปี คือ วัตถุดิบ ไม้คู่แคน ไม้ลำแคน ต้องนำเข้าจาก สปป.ลาว พยายามนำสายพันธุ์มาปลูกเกือบ 20 ปี แต่ไม่สำเร็จ มีขนาดไม่เหมาะกับการนำมาผลิตแคน เชื่อว่ามาจากสภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศ ไม่เอื้ออำนวย ทำให้แบกภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าไม้คู่แคน เกือบตันละ 20,000 บาท ถือว่าสูงเท่ากับราคาสินค้า หากรัฐบาลมีแนวทางช่วยเหลือผ่อนผันเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ ต่อชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้มากขึ้น

พร้อมกันนี้ นายอนุชิต หงษาดี นายก อบจ.นครพนม ในฐานะแกนนำครอบครัวเพื่อไทย เปิดเผยว่า บ้านท่าเรือ ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านผลิตเครื่องดนตรีอีสาน ครบวงจรที่เดียวในไทย ที่สร้างรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดปีละนับ 10 ล้านบาท ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนตลอดปี ตนมองว่าอนาคต หาก มีการเสนอรัฐบาล รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ นครพนม สนับสนุนส่งเสริมด้านการตลาด รวมถึงพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ศึกษาอาชีพภูมิปัญญาผลิตเครื่องดนตรีอีสาน  ไปจนถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงเสนอรัฐบาลหาแนวทางการช่วยเหลือผ่อนผันลดหย่อนภาษีนำเข้าไม่ทำแคน จาก สปป.ลาว จะเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และส่งเสริมสินค้าซอฟต์พาวเวอร์ของนครพนม พร้อมผลักดันให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ประจำปี เชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ของ จ.นครพนม สร้างรายได้ให้ชุมชน เพิ่มมากขึ้น อย่างแน่นอน