จากกรณี มีรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. ของวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ "โจ้ คลุมถุงดำ" อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ ผู้ต้องขังในคดีฆาตกรรมโดยการใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนเสียชีวิตในปี 2564 ได้ตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยการผูกคอ ภายในเรือนจำกลางคลองเปรม ภายในห้องขังหมายเลข 50 แดน 5 ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
จุดเริ่มต้นของคดี "คลุมถุงดำ" เริ่มขึ้นเมื่อ 5 ส.ค.64 หลังจากที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครสวรรค์ จับกุมผู้ต้องหา 2 สามีภรรยา พร้อมด้วยยาเสพติด 1 แสนเม็ด ก่อนควบคุมตัวมายังโรงพัก เบื้องต้นของการสืบสวน มีการเรียกรับเงินจากผู้ต้องหา 2 ล้านบาท แต่ผู้ต้องหาจะจ่ายเพียง 1 ล้านบาท เมื่อต่อรองสินบนไม่ได้ ผู้กำกับโจ้ พร้อมพวก ได้นำถุงดำมาคลุมหัว "มาวิน" หรือนายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนเสียชีวิต
ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ส.ค.64 โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ระบุการเสียชีวิตของนายมาวิน เกิดจากพิษสารแอมเฟตามีน หลังเกิดเหตุ มีตำรวจชั้นผู้น้อยร้องเรียนต่อ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ จนมีการออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ นำไปสู่การสอบสวนตำรวจชุดดังกล่าว และสั่งย้ายผู้กำกับโจ้ ไปปฏิบัติราชการที่อื่น
จากนั้น เมื่อวันที่ 24 ส.ค.64 ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด โพสต์คลิปวิดีโอผ่านเฟซบุ๊ก "วินาทีผู้กำกับโจ้ ใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหา จนเสียชีวิต" จนมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ผู้กำกับโจ้ พร้อมพวก นำมาสู่การจับกุมดำเนินคดี ผู้กำกับโจ้ ในวันที่ 26 ส.ค. 2564 และมี ผบ.ตร.ในขณะนั้น แถลงการจับกุมที่กองปราบปราม และผู้กำกับโจ้ ให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรกผ่านโทรศัพท์ "ยอมรับผิด ยันไม่มีเจตนาฆ่าผู้ต้องหา"
ทั้งนี้ ผู้กำกับโจ้ โดนข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ผู้อื่นเสียหาย ร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือกระทำทารุณโหดร้าย
หลังจากนั้นได้มีการพิจารณาคดีในชั้นศาลหลายครั้ง จนสุดท้าย เมื่อ 8 มิ.ย. 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินประหารชีวิต ผู้กำกับโจ้ แต่ให้การเป็นประโยชน์ ช่วยเหลือค่าบำรุงศพและช่วยเหลือบิดามารดาของผู้เสียชีวิต จึงลดโทษเหลือ 1 ใน 3 เป็นจำคุกตลอดชีวิต
กระทั่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 20.50 น. เจ้าพนักงานเรือนจำปฏิบัติหน้าที่เวรพยาบาลได้แจ้งเหตุผู้ต้องขังเสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อ ข.ช.ธิติสรรค์หรือโจ้ อุทธนผล คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อเสรีภาพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2564 ตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ต้องจำมาแล้วในเรือนจำ 3 ปี 6 เดือน 13 วัน โดยรับตัวผู้ต้องขังเข้าคุมขังเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ปัจจุบันถูกคุมขังที่ห้องแยกการควบคุม แดน 5
ต่อมา เรือนจำฯ ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาพบว่า ข.ช.ธิติสรรค์ฯ มีโรคประจำตัว คือ ภาวะหัวใจสั่น (Essential tremor) มีไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) และมีอาการป่วยด้วยโรคทางจิตเวชวิตกกังวล (Anxiety disorder) ซึ่งได้รับการรักษาและรับยาต่อเนื่อง โดยพบจิตแพทย์ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีนัดพบจิตแพทย์ในเดือนเมษายน 2568 ขณะควบคุมในเรือนจำฯ ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมหวาดระแวงกลัวผู้ต้องขังอื่นทำร้าย เนื่องจาก เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ เรือนจำฯ จึงได้รับคำร้องของผู้ต้องขังและพิจารณาอนุญาตให้แยกการควบคุมจากผู้ต้องขังอื่น และยังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในเรือนจำได้เป็นปกติ
โดยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ช่วงเที่ยงผู้ต้องขังได้รับการเยี่ยมเยียนจากภรรยา ซึ่งเจ้าพนักงานเรือนจำไม่พบเหตุผิดปกติแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อเวลา 20.25 น. เจ้าพนักงานเวรรักษาการณ์ ขณะกำลังเดินไปจ่ายยาประจำตัวให้กับ ข.ช.ธิติสรรค์ฯ พบว่า ผู้ต้องขังนั่งหลังพิงกับประตูห้องขัง จึงได้พยายามเรียกแต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงได้แจ้งพัศดีเวรฯ และพยาบาลเวรฯ เข้าเปิดห้องขังเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนตามหลักวิชาชีพ แต่พบว่า ผู้ต้องขังใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กผูกคอกับประตูห้องขัง ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก ไม่รู้สึกตัว ปลายนิ้วมือซีดเขียวคล้ำ ไม่พบชีพจรบริเวณหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ จึงได้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับ ในเบื้องต้น เรือนจำฯ ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าทางเดินของห้องขังผู้ต้องขังดังกล่าว ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ใดเข้าออกห้องดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมทั้งแจ้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ แพทย์ เจ้าพนักงานปกครอง เพื่อดำเนินการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต พร้อมทั้งจะได้เชิญญาติเพื่อรับทราบต่อไป
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ อยู่ระหว่างรอผลการชันสูตรถึงสาเหตุการเสียชีวิต และขอยืนยันว่า ไม่มีเจ้าพนักงานเรือนจำหรือผู้ต้องขังรายใดทำร้าย ข.ช.ธิติสรรค์ฯ และขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้ต้องขัง ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่ปรากฏโดยทันที และขอเรียนว่า เรือนจำฯ ได้ยึดถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัดโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) และการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนด แมนเดลา) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ต้องขังทุกคน