ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “เด็กและเยาวชนไทยในยุคดิจิทัล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7 – 9 มกราคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,270 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไทยในยุคดิจิทัล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงอาชีพในฝันที่เด็กและเยาวชนไทยอยากเป็น ในยุคดิจิทัล (5 อันดับแรก) พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 15.83 ระบุว่าเป็น อาชีพส่วนตัว (ค้าขาย เสริมสวย ฯลฯ) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 12.40 ระบุว่าเป็น อาชีพครู/อาจารย์ อันดับ 3 ร้อยละ 11.87 ระบุว่าเป็น อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) อันดับ 4 ร้อยละ 11.61 ระบุว่าเป็น อาชีพแพทย์/พยาบาล และอันดับ 5 ร้อยละ 6.86 ระบุว่าเป็น อาชีพวิศวะ/สถาปนิก/นักออกแบบดีไซน์
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับ อาชีพที่ผู้ปกครองอยากให้บุตรหลานเป็น ในยุคดิจิทัล (5 อันดับแรก) พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 30.08 ระบุว่าเป็น อาชีพรับราชการ (ไม่ระบุสาขา) รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 15.82 ระบุว่าเป็น อาชีพแพทย์/พยาบาล อันดับ 3 ร้อยละ 13.36 ระบุว่าเป็น อาชีพอาชีพส่วนตัว (ค้าขาย เสริมสวย ฯลฯ) อันดับ 4 ร้อยละ 7.30 ระบุว่าเป็น อาชีพครู/อาจารย์ และอันดับ 5 ร้อยละ 7.18 ระบุว่าเป็น อาชีพนักธุรกิจ
สำหรับ คุณสมบัติที่ดีของเด็กไทยในยุคดิจิทัล ตามความคิดเห็นของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.69 ระบุว่า มีระเบียบวินัย เคารพกฎระเบียบ รองลงมา ร้อยละ 38.03 ระบุว่า มีคุณธรรมจริยธรรม ช่วยเหลือสังคม ไม่เห็นแก่ตัว ร้อยละ 36.38 ระบุว่า มีความอดทน อดกลั้น ร้อยละ 27.17 ระบุว่า รู้จักการคิดวิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลที่ได้รับ ร้อยละ 26.69 ระบุว่า มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ร้อยละ 19.21 ระบุว่า หมั่นศึกษาหาข้อมูลหรือนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการเรียน ร้อยละ 16.61 ระบุว่า มีทักษะในการใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี และร้อยละ 12.83 ระบุว่า ไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโลกอินเทอร์เน็ต
เมื่อถามถึง ของขวัญวันเด็กด้านการศึกษาที่ประชาชนต้องการจากรัฐบาลชุดใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.00 ระบุว่า กระจายโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รองลงมา ร้อยละ 29.76 ระบุว่า โครงการเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรี ร้อยละ 19.69 ระบุว่า ส่งเสริม พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ร้อยละ 6.85 ระบุว่า พัฒนาหลักสูตรการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 3.23 ระบุว่า การพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ต (จัดหา High Speed Internet ในโรงเรียน) ร้อยละ 2.99 ระบุว่า แก้ปัญหาระบบแอดมิชชั่น ร้อยละ 2.83 ระบุว่า กำจัดค่าแป๊ะเจี๊ยะ และร้อยละ 4.65 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์กีฬา สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่ต้องการของขวัญอะไรจากรัฐบาลชุดใหม่
ส่วน ปัจจัย/เหตุผล ของผู้ปกครองในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตรหลาน พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.13 ระบุว่า การเดินทาง รองลงมา ร้อยละ 27.83 ระบุว่า บุคลากรในโรงเรียน (ครู และ ผู้บริหาร) ร้อยละ 24.69 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายการเรียน ร้อยละ 21.66 ระบุว่า สถานที่และสภาพแวดล้อมดี ร้อยละ 20.20 ระบุว่า ความปลอดภัย ร้อยละ 14.93 ระบุว่า ชื่อเสียงโรงเรียน ร้อยละ 12.46 ระบุว่า หลักสูตรมีการสอนภาษาต่างประเทศ ร้อยละ 12.23 ระบุว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของบุตรหลานเอง ร้อยละ 11.67 ระบุว่า โรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชน ร้อยละ 10.77 ระบุว่า สิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการ ร้อยละ 1.12 ระบุว่า เครื่องแบบนักเรียน และร้อยละ 1.01 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของผู้ปกครองเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้มีการสอบคัดเลือกเข้าประถมศึกษาปีที่ 1 หากฝ่าฝืนจะถูกปรับไม่เกิน 5 แสนบาท เข้ากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.41 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 25.25 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 18.86 ระบุว่า เห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 2.58 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และร้อยละ 0.90 ระบุว่า ไม่แน่ใจ