การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีหลักฐานปรากฏขั้นตอนลำดับการพระราชพิธีชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ แบ่งเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่ การเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย โดยขั้นตอนและรายละเอียดของการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมตามกาลสมัยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้ การเตรียมพระราชพิธี มีการทำพิธีตักน้ำและที่ตั้งสำหรับถวายเป็นน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกร เตรียมตั้งเครื่องบรมราชาภิเษก และเตรียมสถานที่จัดพระราชพิธี การเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ขั้นตอนการเตรียมพิธีจะต้องมีการตักน้ำจากแหล่งสำคัญๆ เพื่อนำมาเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และเพื่อทำน้ำอภิเษกก่อนที่จะนำไปประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตามตำราโบราณของพราหมณ์น้ำอภิเษกจะต้องเป็นน้ำจาก “ปัญจมหานที” คือ แม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ สายในชมพูทวีป หรือในประเทศอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำมหิ แม่น้ำยมนา แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู ในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เชื่อว่าแม่น้ำทั้ง ๕ สายนี้ ไหลมาจากเขาไกรลาส ซึ่งเป็นที่สถิตของพระอิศวร จึงถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น น้ำสรงพระมุรธาภิเษก น้ำอภิเษก และน้ำพระพุทธมนต์ ในสมัยสุโขทัย – อยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการนำน้ำปัญจมหานทีมาใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ปรากฏหลักฐานว่า น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในสมัยอยุธยาใช้น้ำจากสระเกษ สระแก้ว สระคงคา สระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี นอกจากนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๔ ยังใช้น้ำในแม่น้ำสำคัญของประเทศเพิ่มเติมอีก ๕ สาย เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” โดยอนุโลมตามปัญจมหานทีในชมพูทวีป คือ แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม และแม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี เมื่อตักแล้วจะตั้งพิธีเสก ณ เจดียสถานสำคัญแห่งแขวงนั้นๆ แล้วจึงจัดส่งเข้ามาทำพิธีที่กรุงเทพมหานคร ในรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าฯ ให้นำพิธีทางพระพุทธศาสนามาเพิ่มเติมด้วย โดยให้พระสงฆ์ซึ่งเป็นพระครูพระปริตรไทย ๔ รูปสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก จึงมีน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ต่อมาในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ได้ใช้น้ำเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ ๔ สระ แขวงเมืองสุพรรณบุรี เช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอินเดีย ทรงนำน้ำจากปัญจมหานทีตามตำราพราหมณ์กลับมาด้วย ดังนั้นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๑๖ จึงมีน้ำปัญจมหานทีเจือลงในน้ำเบญจสุทธคงคาและน้ำจากสระ ๔ สระ แขวงเมืองสุพรรณบุรีด้วย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ใช้น้ำเช่นเดียวกับครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ ๒ ครั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดให้พลีกรรมตักน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ที่ถือว่าสำคัญ และเป็นสิริมงคลมาตั้งพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานที่เป็นหลักของมหานครโบราณ ๗ แห่ง และมณฑลต่างๆ ๑๐ มณฑล รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ น้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ไดตั้ง้ พิธิทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ ๑๘ แห่ง ซึ่งสถานที่ตั้งทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้ใช้สถานที่เดียวกับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีกหนึ่งแห่งที่วัดบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการพลีกรรมตักน้ำ ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในพระราชอาณาจักร แล้วนำมาตั้งประกอบพิธีเป็นน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ทำพิธีเสกน้ำ ณ มหาเจดียสถาน และพระอารามต่างๆ ในราชอาณาจักรจำนวน ๑๘ แห่ง เท่ากับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม ๒ แห่ง คือ จากวัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ และพระธาตุช่อแฮ่ จังหวัดแพร่ เป็นบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่านแทน ส่วนน้ำจากสระสองห้อง เมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยนำมาเป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไมได้ใช้ในครั้งนี้ เนื่องจากแหล่งน้ำดังกล่าวตื้นเขินจนไม่มีน้ำ ที่มา สมุดบันทึกภาพวัฒนธรรม “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในอดีต พิมพ์ปี ๒๕๖๑, บูรพา โชติช่วง เรียบเรียง สังเขป