เมื่อวันที่ 7 มี.ค.68 พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) อาวุโสสูงสุด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาโทษที่มี รอง ผบ.ตร.ทุกคนเป็นกรรมการ เพื่อพิจารณาโทษวินัยร้ายแรงของ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.

โดยมีรายงานว่า ที่ประชุมมติเอกฉันท์ "ไล่ออก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก่อนเสนอให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. เพื่อพิจารณาลงนามในคำสั่งต่อไป

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มาตรา 125 บัญญัติไว้ว่า ข้าราชการตำรวจที่กระทำผิดวินัยร้ายแรง เมื่อผู้มีอำนาจในที่นี้คือ ผบ.ตร. จะสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรง ซึ่งมี 2 สถาน คือ ปลดออก ไล่ออก

ซึ่งตามขั้นตอน ผบ.ตร.จะสั่งเลยไม่ได้ แต่ต้องตั้งคณะกรรมการ เพื่อเสนอแนะว่าต้องลงโทษสถานใด ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ประกอบด้วย รองผบ.ตร.ทั้งหมด ประกอบด้วย พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง, พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์, พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข, พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี, พล.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง ร่วมกันพิจารณาความผิดวินัยร้ายแรงในเรื่องดังกล่าวว่าควรจะลงโทษในสถานใด ระหว่างปลดออก ไล่ออก เมื่อพิจารณาแล้วได้ความว่าอย่างไรแล้ว จะต้องเสนอแนะ ผบ.ตร.ในฐานะผู้มีคำสั่งแต่งตั้ง จากนั้น ผบ.ตร.จะต้องออกคำสั่ง ตามที่คณะกรรมการพิจารณาได้เสนอแนะไป

อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้ หาก ก.พ.ค.ตร.ยืนตามคณะกรรมการวินัย พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ยังสามารถใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดยืนตาม ก.พ.ค.ตร. ก็จะทำให้คดีวินัยถึงที่สุด และจะเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาถอดยศตำรวจต่อไป