กาลเวลาเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลง

ไม่เว้นกระทั่งความรัก ความชัง ความชอบ ไม่ชอบ ระหว่างผู้คนของประเทศต่างๆ

อย่างความชอบ ไม่ชอบ ระหว่าง “ประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา” หรือ “อเมริกันชน” กับ “รัสเซีย” ประเทศซึ่งได้ชื่อว่า เป็นคู่ปรปักษ์ ไม้เบื่อ ไม้เมา กันมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่รัสเซีย ยังเป็น “สหภาพโซเวียตรัสเซีย” จากการที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำของโลกเสรีประชาธิปไตย คือ กลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ส่วนสหภาพโซเวียตรัสเซีย เป็นพี่เบิ้มสหายใหญ่ของโลกค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ คือ กลุ่มประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

แม้เมื่อสหภาพโซเวียตรัสเซีย ล่มสลายจนกลายเป็นรัสเซีย เฉกเช่นในปัจจุบัน ซึ่งมีระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่ทว่า ความปฏิปักษ์ระหว่างกัน ก็ยังมิได้ห่างหายไปไหน ยังคงเผชิญหน้าในฐานะชาติคู่ปรับระหว่างกันอยู่

แถมมิหนำซ้ำ ในบางเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้น ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์การประจันหน้าระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย เลวร้ายหนักขึ้น ชนิดถึงขั้นสะบั้นสัมพันธ์ พร้อมกับดำเนินมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงกชัน เข้าใส่กันเลยก็มี

อาทิเช่น เหตุ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย” มีคำสั่งใช้ปฏิบัติการพิเศษทางการทหารต่อยูเครน พูดง่ายๆ ก็คือ การประกาศสงครามทางทหารกับยูเครน นั่นเอง ด้วยการกรีธาทัพยกข้ามพรมแดนเข้าไปรุกรานยูเครน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) ซึ่งการสู้รบยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

ปรากฏว่า สหรัฐฯ ทั้งในระดับทางการ คือ รัฐบาลในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และระดับประชาชน คือ คนอเมริกัน ก็ล้วนแสดงออกถึงการยืนเคียงข้างสนับสนุนยูเครน พร้อมกันนั้น ก็แสดงออกถึงการต่อต้านรัสเซีย ด้วยมาตรการ และปฏิบัติการต่างๆ สารพัด

กลุ่มผู้ชุมนุมในสหรัฐฯ แสดงพลังสนับสนุนยูเครน ทำสงครามต่อต้านรัสเซีย ในช่วงที่ผ่านมา (Photo : AFP)

โดยในระดับทางการ หรือรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีไบเดนนั้น ก็ดำเนินมาตรการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน ต่อรัสเซียเป็นประการต่างๆ และในขณะเดียวกันนั้น รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดน ก็ให้ความสนับสนุนต่อยูเครน ทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และเงินทุนอุดหนุน เบ็ดเสร็จรวมแล้วหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สหรัฐฯ กับการสนับสนุนยูเครน ในสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งในภาพเขาได้ให้การต้อนรับการมาเยือนทำเนียบขาวของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน (Photo : AFP)

ส่วนการแสดงออกของประชาชนชาวสหรัฐฯ ก็มีทั้งการรวมตัวชุมนุมเพื่อต่อต้านรัสเซีย และลากเลยไปถึงประธานาธิบดีปูติน พร้อมทั้งแสดงพลังการสนับสนุนต่อยูเครน ในการยืนหยัดต้านทานการรุกรานจากรัสเซีย

อาวุธจากสหรัฐฯ ที่เตรียมส่งไปให้ความช่วยเหลือยูเครน ในการสู้รบกับรัสเซีย (Photo : AFP)

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลล์ ของประชาชนชาวอเมริกันโดยสถาบันสำนักโพลล์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ล้วนได้ความคิดเห็นไปในทางต่อต้านรัสเซีย เห็นรัสเซียเป็นศัตรูมากยิ่งขึ้นแทบทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างเช่นการสำรวจโดยสำนักวิจัยพิว ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ก็มีผลสำรวจออกมาว่า ประชาชนชาวอเมริกันกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม จำนวนรวมแล้วถึงร้อยละ 91 ระบุว่า ไม่ชื่นชอบรัสเซีย มองรัสเซียเป็นลบ ซึ่งในจำนวนนี้ ก็แบ่งเป็นไม่ชอบบ้าง มีจำนวนร้อยละ 29 ส่วนผู้ที่ไม่ชอบรัสเซียอย่างหนักมีจำนวนมากถึงร้อยละ 62 ด้วยกัน ส่วนตัวเลขของผู้ที่ชื่นชอบรัสเซียมีจำนวนเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น แถมมิหนำซ้ำที่ชื่นชอบก็เป็นเพียงระดับชอบบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ชื่นชอบอะไรมากมายเป็นพิเศษ

ทว่า หลังหมดรัฐบาลสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดีไบเดน ที่เห็นต่างยืนคนละฝั่งกับรัสเซีย เข้าสู่ยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งสัญญาณท่าทีจะกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงกันมาในยุคของประธานาธิบดีไบเดน ให้กลับมาคืนดีกัน เพื่อจะส่งผลต่อการเจรจาหยุดยิงในสงครามรัสเซีย-ยูเครน อันจะทำให้สันติภาพได้บังเกิด

ถึงขนาดตัวแทนทางการของทั้งสองฝ่าย ระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และรัสเซีย นั่งโต๊ะประชุมหารือกันแล้วก่อนหน้า ก่อนที่โลกจะได้ฉากวิวาทะปะทะคารมอย่างดุเดือดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน แถมยังมีรองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ แห่งสหรัฐฯ และผู้สื่อข่าวของสหรัฐฯ สายอนุรักษ์นิยมมาร่วมวงไพบูลย์ปะทะฝีปาก ก็ปรากฏว่า ท่าทีของประชาชนคนอเมริกันที่มีต่อรัสเซีย ก็มีสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งได้แสดงออกผ่านการสำรวจโพลล์ หรือความคิดเห็น ของประชาชนชาวอเมริกัน ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการสำรวจโพลล์ครั้งล่าสุด โดย “สถานีโทรทัศน์ซีบีเอส” ในประเทศสหรัฐฯ ร่วมกับ “ยูกอฟ” ในประเทศอังกฤษ

ผลปรากฏว่า ชาวอเมริกันเริ่มมีท่าทีหันมาเป็นมิตรกับรัสเซียเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวอเมริกันที่สนับสนุนต่อพรรครีพับลิกัน อันเป็นพรรคการเมืองเดียวกับประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งมีจำนวนถึงกว่าร้อยละ 40 ทีเดียว ที่มีความคิดเห็นว่า รัสเซีย เป็นเพื่อน อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างเหล่านั้น ก็ไม่ถึงขั้นว่าจะเห็นรัสเซียเป็นพันธมิตร แต่ก็ต้องถือว่า เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยที่เห็นถึงขั้นว่า รัสเซียเป็นพันธมิตร คือ ยิ่งกว่าเป็นเพื่อนนั้น ยังมีจำนวนน้อยอยู่ คือ ร้อยละ 4 เท่านั้น

ส่วนชาวอเมริกันที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามประธานาธิบดีทรัมป์ จำนวนร้อยละ 26 ที่เห็นว่า รัสเซียเป็นเพื่อน

โดยตัวเลขของชาวอเมริกันพลพรรคเดโมแครตนี้ ก็ถือว่า น้อยกว่าชาวอเมริกันอิสระ คือ ไม่เลือกเข้าข้างพรรคไหน ซึ่งปรากฏว่า มีจำนวนที่ร้อยละ 29 ที่เห็นว่า รัสเซียเป็นเพื่อน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ปะทะคารมอย่างดุเดือดกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ในห้องทำงานรูปไข่ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า (Photo : AFP)

นอกจากนี้ หากถามถึงการสนับสนุนต่อยูเครนในการทำสงครามสู้รบกับรัสเซีย ปรากฏว่า ชาวอเมริกันก็มีแนวโน้มว่าจะสนับสนุนน้อยลงกว่าแต่ก่อนเช่นกัน จากเดิมที่เคยขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 60 – 70 ก็ลดลงมาเหลือร้อยละ 52 แถมมิหนำซ้ำในการสำรวจโพลล์ ยังพบด้วยว่า ชาวอเมริกันจำนวนกว่าร้อยละ 70 ต้องการให้ยูเครนเจรจาหยุดยิงกับรัสเซีย เพื่อนำไปสู่สันติภาพ จบสิ้นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 3 ปีเสียที