กรมศิลป์ร่อนหนังสือถึงกทม.แก้ปัญหาตำหนักปลายเนินรับผลกระทบคอนโดหรูสร้างชิด กลับนิ่ง! เน้นย้ำสำคัญคุณค่าโบราณสถานขึ้นทะเบียนให้แล้วเสร็จปี62 ตามกันต่อ จากกรณีทายาทของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศนานุวัดติวงศ์ “สมเด็จครู” ของศิลปินด้านศิลปะไทย ช่างเอกแห่งกรุงสยาม ทำหนังสือร้องเรียนมายังกรมศิลปากรเข้าไปตรวจสอบข้อมูลการก่อสร้างของบริษัทเอกชนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียมสูง 36 ชั้น และ 7 ชั้นในบางส่วนก่อสร้างเต็มพื้นที่ ซึ่งประชิดกับเขตที่ดินของตำหนักปลายเนิน เนื่องจากภายในพื้นที่มีโบราณแม้จะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานกับกรมศิลปากรก็ตาม แต่อาคารเกือบทั้งหมดถือว่ามีความสำคัญอายุนับ 100 ปี หากมีการอนุญาตให้ก่อสร้างจริงจะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานสำคัญในตำหนักระหว่างการก่อสร้างนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 62 นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กองโบราณคดีทำหนังสือส่งไปถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขอทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับการก่อสร้างอย่างละเอียดทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับโบราณสถานที่อยู่ภายในตำหนักปลายเนิน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติภายในปีนี้ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่สำคัญของชาติ แต่ยังไม่มีการตอบรับคำตอบหรือข้อคิดเห็นจากทาง กทม.แต่อย่างใด ด้านนายสถาพร เที่ยงธรรม ผอ.กองโบราณคดี กล่าวว่า จากการหารือกับทางราชสกุลจิตรพงศ์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อตัวโบราณสถานภายในตำหนักปลายเนินแล้ว โดยในส่วนของกรมศิลปากรคงไม่ทำอะไรได้ไม่มาก อีกทั้งทำหนังสือแจ้งไปยังกทม.ตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค.61 แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ซึ่งข้อความในหนังสือ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของตัวโบราณสถาน และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ กทม.ช่วยวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะโครงการศึกษาผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งกรณีการตอกเสาเข็มที่ อาจกระทบกระเทือนตัวโบราณสถาน ฝุ่นละออง และเศษวัสดุที่อาจตกลงมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะดำเนินการก่อสร้างร่วมกับกทม. ทางกรมศิลปากรคงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้เอง อีกทั้ง ทางกทม.ก็ยังไม่ได้ประสานงานให้เข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ในเรื่องของฝุ่นละอองนั้นได้ให้ทางกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้รับทราบถึงผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาแล้ว “สำหรับกรณีที่จะมีการขึ้นทะเบียนตำหนักปลายเนินนั้น ได้กำหนดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 62 นี้ ล่าสุด ได้ประสานงานกับทางราชสกุลจิตรพงศ์แล้ว อยู่ระหว่างการรอให้ทางราชสกุลฯ แจ้งกลับมาให้เจ้าหน้าที่กองโบราณคดีเข้าไปดูพื้นที่เพื่อกำหนดขอบเขตที่จะมีการขึ้นทะเบียนภายในตำหนัก เมื่อกำหนดพื้นที่ได้แล้วจะเข้าไปทำผังรายละเอียดของพื้นที่นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการจากนั้นจะแจ้งกลับไปยังผู้ครอบครองใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หากไม่มีการคัดค้านก็จะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนต่อไป” นายสถาพร ผอ.กองโบราณคดี กล่าว ด้าน ผศ.ดร. ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่น 4 ราชสกุลจิตรพงศ์ กล่าวว่า ทางกรมศิลปากรได้มาสำรวจบ้านปลายเนินและยืนยันเป็นโบราณสถาน เพียงแต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเท่านั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการขึ้นทะเบียน ซึ่งในรายละเอียดการดำเนินงานซับซ้อน ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการรังวัดตำหนักตึก สถานที่สุดท้ายในพระชนม์ชีพสมเด็จครู ปัจจุบันเก็บรักษาศิลปวัตถุทรงสะสมจำนวนมาก ต้องหาวิธีการรังวัดที่เหมาะสม เตรียมเจรจาทำข้อตกลงร่วมกับกรมศิลปากร ไม่ใช่เปิดเข้าไปวัดด้านในได้เลย ซึ่งขณะนี้กรมศิลปากรทำงานร่วมกับทายาทแล้วในเรื่องแผนส่งเสริมการอนุรักษ์บ้านปลายเนิน “ทางราชสกุลจิตรพงศ์กำลังพิจารณาขอบเขตโบราณสถาน เห็นว่าควรเป็นอาณาบริเวณบ้านปลายเนิน อาคารอนุรักษ์หลังต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณ งานอนุรักษ์ไม่ได้อยู่ที่ตัวอาคาร สถาปัตยกรรม แต่รวมต้นไม้ คลอง หินอับเฉา สวน ทุกอย่างเต็มไปด้วยความหมาย ต้องรักษาประวัติศาสตร์ไม่ให้เลือนหายไป” ผศ.ดร.ม.ล.จิตตวดี ทายาทรุ่น 4 ราชสกุลจิตรพงศ์ กล่าว ขอบคุณภาพประกอบ