หมายเหตุ : “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “รายการสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2568 ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น
-การเมืองวันนี้ดูเหมือนว่าต่างฝ่าย ต่างเอามีดปักหลังกันคนละเล่ม ระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูใจไทย ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องที่คนสองคนทะเลาะกัน
เราอย่าไปหลงประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการที่คนมองว่าเอามีดปักหลังกัน ทั้งผู้นำจิตวิญญาณฝ่ายสีน้ำเงิน และผู้นำจิตวิญญาณของสีแดง แต่ยังยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คือผู้แสดงหลักเท่านั้น แต่ไม่ใช่ ผู้กำกับการแสดงด้วยตัวเอง เพราะผู้กำกับการแสดงรัฐพันลึกยังคงอยู่ ส่วนสองคนนั้นแค่แสดงไปตามบทบาท ซึ่งการแสดงนั้นก็ไม่ถึงกับจำกัดเสรีภาพ แต่บางครั้งก็ออกนอกบทไปบ้าง เพื่อเช็คเรทติ้งของแต่ละฝ่าย
แต่จากการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) พิจารณาการฮั้ว การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาปี 2567 เมื่อวันที่ 25 ก.พ.68 ที่ผ่านมา ผมยังยืนว่า ยังมีผู้กำกับอยู่ แล้วคนนั้นคือผู้ที่จะชี้ทิศทางว่า การประชุมวันนั้น ต้องเลื่อนออกไป
แน่นอนว่าผู้นำจิตวิญญาณของสีแดงเอง ทั้งที่เป็นผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งเราจะเห็นว่าคณะกรรมการ มีทั้งสิ้น 22คน ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนที่เหลืออีก 13 คนจะเป็นโดยตำแหน่ง และถ้าเราดูกรรมการที่เป็นโดยตำแหน่ง จะพบว่าก็อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถส่งสัญญาณได้ ไม่ว่าจะเป็นผบ.ตร. หรือปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรืออัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ก็น่าจะแปลกที่กรรมการเหล่านี้ กลับส่งตัวแทนมาร่วมประชุม เป็นข้อสังเกต
ส่วนกรรมการที่เป็นโดยตำแหน่ง แม้ไม่มาแล้วส่งตัวแทนมา คนเหล่านี้ก็มีสิทธิโหวต แต่ในกรรมการทั้งหมด 22 คน ต้องการ 15 เสียงที่โหวตเห็นชอบให้รับคดีฮั้วเลือกสว.เอาไว้เป็นคดีพิเศษ แต่ในส่วนที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ หากไม่มา จะถือว่าไม่ได้เลย ไม่สามารถส่งคนมาแทนได้ แต่เมื่อวันที่ 25 ก.พ.มีข้อสังเกตว่า คนที่ลา กลายเป็นฝ่ายตำรวจหมด
และยิ่งแปลกไปกว่านั้นอีกผบ.ตร.ซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ไม่มาประชุมแต่มอบผู้ช่วยผบ.ตร.มาแทน พบว่าผู้ช่วยผบ.ตร.ก็ยังไม่มา ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิสายตำรวจซึ่งเป็นสายสืบสวนคดีอาญา และสายสืบสวนคดีฟอกเงินด้วย ถือว่าเป็นคีย์ของประเด็นเลย ในการสอบฮั้วเลือกสว. ในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร ฟอกเงิน ถึงจะเข้าเกณฑ์คดีพิเศษของดีเอสไอ กลับไม่มาอีก ซึ่งในทางปกติ ผู้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร.คือนายกรัฐมนตรี และยังมอบหมายให้คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ตำรวจกลับไม่มา
จุดนี้เป็นข้อที่น่าสังเกตว่าการที่ไม่มาในครั้งนี้ ต้องมีสัญญาณ ไม่ได้เกิดจากดุลยพินิจของผบ.ตร.เอง แต่คนที่เขียนบทและส่งสัญญาณ ไม่จำเป็นต้องไปส่งทั้งหมด แต่ส่งแค่ระดับคีย์เพอร์ซั่น 3-4 คนนี้เท่านั้น เมื่อปฏิกิริยา3-4 คนแสดงออกเช่นนี้ แล้วในที่ประชุมรู้แล้วว่ามันผิดปกติ ประเด็นแบบนี้หากคนที่มีประสบการณ์ในทางราชการเมื่อเห็นผู้เข้าร่วมประชุมตัวหลักๆ ไม่เข้าบ้าง ลาบ้าง ถือว่าผิดปกติแล้ว
ประเด็นต่อมา คือการประชุมกคพ.เมื่อวันที่ 25 ก.พ.68 นั้นไม่ควรจะยาวถึง 3ชั่วโมง ซึ่งต้องมีประเด็นกฎหมาย และประเด็นข้อเท็จจริงชัด รับรองว่าไม่เกิน 1ชั่วโมงครึ่งต้องได้ข้อยุติ แต่กลายเป็นว่า ในการประชุม3ชั่วโมง แล้วบุคคลสำคัญๆไม่มาร่วม ในทรรศนะ ของผมประเมินสิ่งบอกเหตุได้เลยว่าจะมี 2ทางคือ 1.เลื่อนการประชุม และ2. มติพลิก ไม่ตรงใจกับพรรคสีแดง
ก็ปรากฏว่าผลในวันนั้น มีมติให้เลื่อนการประชุมออกไป ซึ่งมีบางฝ่ายมองว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดู หรือมีการเกี๊ยะเซียะ หรือไม่ แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องของการส่งสัญญาณ ให้เป็นเช่นนี้ เป็นการทำให้เห็นว่าฝั่งรัฐบาลเสียหน้า เสียเครดิต เพราะการแสดงเกิดขึ้นโดยตัวละครหลักๆ ยิ่งทำให้ภาพการนำของรัฐบาล เสียหาย
-คนที่ส่งสัญญาณ จะเป็นผู้นำจิตวิญญาณจากสีไหน
ผู้กำกับรัฐพันลึก คือผู้กำกับการแสดง ที่บังคับวิถีของผู้นำจิตวิญญาณของทั้งสีแดงและสีน้ำเงิน แสดงว่าไม่พึงพอใจการแสดงของฝ่ายสีแดง ฉะนั้นเล่นนอกบทก็ไม่ผ่าน จะมาเติมนอกบทก็ไม่ผ่าน จุดนี้ก็มองว่าหรือจะต้องเปลี่ยนผู้นำกันอีก เปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้วหรือไม่ ให้ฝ่ายสีน้ำเงินมาแสดงแทนดีไหม เพราะฝ่ายสีแดง ให้โอกาสแล้ว ให้อำนาจเต็มแล้ว แต่ยังแสดงไม่ผ่านเลยสักเรื่อง เรื่องการบริหารประเทศก็มีปัญหา การบริหารความมั่นคงก็มีปัญหา นโยบายทางเศรษฐกิจก็มีปัญหา กลับไปเสนอเรื่องของร่างพ.ร.บ.กาสิโน มาเป็นนโยบายเศรษฐกิจ
ดังนั้นผู้กำกับก็มองแล้วว่า อาจจะเป็นปัญหา และจะพาผู้กำกับพังไปด้วย ดังนั้นผู้กำกับกำลังชั่งใจอยู่ ดังนั้นเดือนมี.ค.นี้ ต้องติดตามให้ดี เพราะเหตุการณ์อาจจะมีสะสม ทับถมกันหลายประเด็น
-การที่จะสลายขั้วสีน้ำเงิน จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ หรือแทนที่จะสลายขั้วสีน้ำเงิน ก็อาจจะกลับมาสลายพรรคแกนนำ พรรคร่วมรัฐบาลแทน คือพรรคเพื่อไทย
ถือเป็นความยากลำบากมาก ที่คิดว่าจะไปจัดการกับพรรคสีน้ำเงิน ด้วยเหตุผลที่ว่า มันเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ จากการที่มีผู้กำกับปัจจุบัน ที่ผนวก 3พรรคเอาไว้ด้วยกัน คือพรรคสีน้ำเงิน พรรคสีแดง พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งพรรคพวกนี้จะเกาะกันหมด ฉะนั้นถ้าพรรคพวกนี้ถอยออก รัฐบาลก็พังทันที
ส่วนที่คิดว่าจะไปสกัดเฉพาะพรรคสีน้ำเงิน แล้วให้เหลือแต่พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคชาติไทยพัฒนา ผมเชื่อว่าไม่มีทาง ซึ่งเขาจะต้องผนึกกำลังเพื่อต่อรอง ฉะนั้นการที่จะจัดการกับพรรคสีน้ำเงินถือเป็นเรื่องยากมากที่สุด
จริงๆแล้ว โดยส่วนตัวมองว่าประเด็นเรื่องการสอบคดีฮั้วเลือกสว.2567 นั้นคงไม่ถึงกับจะไปล้ม วุฒิสมาชิก แต่แค่ต้องการให้เปลี่ยนค่าย เพราะวุฒิสมาชิกมีบทบาท ต้องไปหาข้อยุติในการเลือกองค์กรอิสระ แต่ยังยืนยันว่าไม่ง่าย เพราะมีการออกแบบและมีความเป็นเนื้อเดียวกันมาอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องของเงินทอง แต่เป็นเรื่องของการเป็นพวก เป็นพ้องกัน
ถ้าถามกลับว่า หากตอนนี้สว.เป็นคนของพรรคสีแดง เหตุการณ์นี้จะเกิดหรือไม่ จะเกิดคดีอั้งยี่ ซ่องโจรหรือไม่ จะเกิดข้อหาฟอกเงินหรือไม่
วันนี้พี่น้องประชาชน มองว่า เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องการเมือง ทั้งที่รู้กันดีว่าการเลือกสว.ครั้งนี้เป็นเรื่องของกติกา จะไปตำหนิไม่ได้ เพราะกติกาเปิดช่อง ให้เลือกกันเองได้ และยังเปิดให้มีการตกลงกันได้ ให้ฮั้วกันได้ เพื่อที่จะมาเลือกกัน เพียงแต่ผลที่ออกมา มันย้อนแย้งกับความรู้สึกของประชาชนที่ผิดหวัง เช่นทำไมบางจังหวัดมีสว.ตั้ง 10 กว่าคนได้ ขณะที่บางจังหวัดไม่มีสว.เลยสักคน แต่เรื่องนี้ต้องไปโทษกติกา คือรัฐธรรมนูญ
แต่ที่ประชาชนมองวันนี้คือเรื่องของการเมือง มองว่ามาตรฐานมีปัญหาทั้งคนที่เป็นสว. และคนที่มาเป็นสส. ไม่เข้าหลักสากลทั้งคู่ และที่สำคัญยังกลายเป็นว่าองค์กรอิสระ ยังไม่เข้ามาตรฐานระดับสากล ประชาชนก็ส่ายหัว แต่บทสรุป ก็เป็นเพราะไม่มีประชาชนอยู่ในสมการเลย
-มีผลกระทบตามมา เมื่อมีการไปแตะสว.สีน้ำเงิน ก็มีการไปยื่นตรวจสอบมาตรฐานจริยธรรมของนายกฯแพทองธาร
จุดนี้ถึงได้บอกไงว่า ไม่มีความง่ายเลย เพราะตัวนายกฯแพทองธาร เองถูกยื่นคำร้องให้ตรวจสอบไม่รู้กี่ประเด็นเลย โดยเฉพาะเรื่องที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เท่ากับว่าความผิดได้เกิดขึ้นสมบูรณ์แบบแล้ว ซึ่งในจุดนี้สว.สามารถดำเนินการง่ายเลย แค่ใช้ 20 สว.เข้าชื่อ แล้วยื่นศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นไม่เกินสามเดือน จะได้คำตอบเลย ซึ่งเราสามารถพยากรณ์คำตอบได้เลยว่านายกฯเรียบร้อยแน่ กรณีความซื่อสัตย์สุจริต เรื่องของจริยธรรม จะเป็นประเด็นเดียวกับที่อดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่ง
และกรณีเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับอดีตสส. อดีตรัฐมนตรีมาแล้ว เพียงแต่ที่ดินส่วนนั้นเป็นที่ดินสปก. ซึ่งแค่เปลี่ยนจากที่สปก.มาเป็นกรณีที่วัด แต่จริงๆแล้วก็ถือว่าได้มาโดยมิชอบในทางกฎหมาย ฉะนั้นก็จะมีปัญหา ในแง่ความซื่อสัตย์สุจริต ถือว่ารู้อยู่แก่ใจว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ ส่วนคนที่ออกคำสั่งมาเอื้อกัน ก็ต้องติดคุก นอกจากนี้กฤษฎีกาได้ตีความมาแล้วว่าที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นที่ธรณีสงฆ์ แล้วคุณก็ยังครอบครองมาเป็นเวลาเป็น 10 ปี