การเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ด้วยเครื่องบิน มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการนำนักท่องท่องเดินทางมาประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีจะมีปริมาณเที่ยวบินจากสายกการบินต่างๆเข้า-ออก เป็นจำนวนมาก
ซึ่งทำให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศมีภารกิจที่หนักมากยิ่งขึ้น!!!
ล่าสุด “มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้บริหาร “บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)” เดินทางไปยังสนามบินฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาการบริหาร และจัดการบริการสนามบินฟุกุโอกะ เพื่อนำมาพัฒนาสนามบินในภูมิภาคของประเทศไทย กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ บวท. เร่งขยายความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย ศึกษาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของสนามบินภูเก็ต ซึ่งเป็นสนามบินที่มีเที่ยวบินหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง โดยมีความสามารถในการรองรับของทางวิ่ง 25 เที่ยวบิน/ชั่วโมง
ทั้งนี้ บวท.ได้เลือกสนามบินฟุกุโอกะ ซึ่งเป็นสนามบินหลักของภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นคู่เทียบและแบบอย่างสําหรับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Benchmark เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับสนามบินภูเก็ตและสนามบินหลักของภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งสนามบินฟุกุโอกะ เดิมเป็นสนามบินที่มีทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นเดียว (Single Runway) ที่มีความสามารถในการรองรับเที่ยวบินได้สูงที่สุดของญี่ปุ่น โดยรองรับได้ถึง 38 เที่ยวบิน/ชั่วโมง
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ประธานคณะกรรมการ บวท. กล่าวว่า ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 – มกราคม 2568 (4 เดือน) มีเที่ยวบินรวม 165,474 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเที่ยวบินระหว่างประเทศไทย-ญี่ปุ่น มีปริมาณรวม 7,588 เที่ยวบิน คิดเป็น 5 % ของเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด โดยประเทศญี่ปุ่น อยู่อันดับที่ 7 ที่ทำการบินเข้า/ออกประเทศไทยสูงสุด ณ ปัจจุบัน ทำการบินเฉลี่ยประมาณวันละ 62 เที่ยวบิน
ขณะที่สถิติการให้บริการจราจรทางอากาศของสนามบินภูมิภาคในประเทศ ที่มีปริมาณเที่ยวบินพาณิชย์เฉลี่ยต่อวันสูงสุด 5 อันดับแรก รอบ 4 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2568 ได้แก่ สนามบินภูเก็ต มีปริมาณเที่ยวบินสูงสุด 379 เที่ยวบิน รองลงมาเป็น สนามบินเชียงใหม่ 208 เที่ยวบิน สนามบินสมุย 123 เที่ยวบิน สนามบินหาดใหญ่ 68 เที่ยวบิน และสนามบินกระบี่ 66 เที่ยวบิน ตามลำดับ นอกจากนั้น ยังมีสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินฝึกนักบินของโรงเรียนการบินอีก ได้แก่ สนามบินนครราชสีมา ให้บริการเฉลี่ย 100 เที่ยวบินต่อวัน และสนามบินหัวหิน 70 เที่ยวบินต่อวัน
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า บวท. ได้เตรียมพร้อมรองรับการให้บริการการเดินอากาศ ตามแผนพัฒนาสนามบินภูมิภาค โดยดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพการให้บริการจราจรทางอากาศสนามบินส่วนภูมิภาค และร่วมให้การสนับสนุน วางแผน ประสานการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด ร่วมกับหน่วยงานผู้ดำเนินงานสนามบิน ทั้งกรมท่าอากาศยาน และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ตามโครงการการพัฒนาและขยายท่าอากาศยาน เพื่อยกระดับขีดความสามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เติบโตขึ้น โดย บวท. มุ่งมั่นในการบริหารจัดการจราจรทางอากาศอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกเที่ยวบินที่ใช้บริการบนน่านฟ้าไทยให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
ในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล จะมีการสร้างเส้นทางบินควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มความปลอดภัย และ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศ และประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการและเป็นไปตามมาตรฐานของICAO ในการสร้างเส้นทางบินที่สำคัญ มีการประสานกับนานาชาติเป็นการสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคอขวด เช่น เส้นทางการบินเข้า-ออกระหว่างประเทศไทยกับจีนทำให้เพิ่ม จาก 1 แสนเที่ยวต่อปีเป็น 2 แสนเที่ยวต่อปี อีกเส้นทางบินคือผ่านทางอินเดียเพื่อไปยุโรป มีการขยายจาก 1.3 แสนเที่ยวต่อปี เป็น 2 แสนเที่ยวต่อปี และที่ยังดำเนินการอยู่คือเส้นทางที่ผ่านไปทางเวียดนาม เลือกไปทางฮ่องกงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาในระดับนานาชาติ
นอกจาก สร้างเส้นทางบินใหม่ บวท.จะต้องมีการลงทุน เพื่อรองรับการให้บริการจราจรทางอากาศ 3 ศูนย์ ได้แก่ 1. สนามบินอู่ตะเภา โดยมีโครงการจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการเดินอากาศ วงเงินลงทุน 1,256 ล้านบาท ขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว โดยใช้เงินกู้มาดำเนินการ มีเป้าหมายแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2572 ,2.ศูนย์ให้บริการเดินอากาศจ.พังงา เพื่อรองรับสนามบินใหม่คือ สนามบินอันดามัน บริหารการจราจรทางอากาศ ร่วมกับ สนามบินภูเก็ต กระบี่ อันดามัน วงเงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2573
และ 3. ศูนย์ให้บริการเดินอากาศบ้านธิ จ.ลำพูน เพื่อรองรับสนามบินใหม่คือสนามบินล้านนา บริหารการจราจรทางอากาศ ร่วมกับ สนามบินเชียงใหม่ เชียงราย และล้านนาวงเงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท แล้วเสร็จปี 2573โดยทั้ง 3 ฮับมีสนามบิน ขนาด 2 รันเวย์ รองรับ 1 แสนเที่ยวบิน/ปี
ปัจจุบัน บวท.มีศูนย์ควบคุมการบินหลัก ที่ ทุ่งมหาเมฆ ,สุวรรณภูมิ , ดอนเมือง และส่วนภูมิภาค 9 แห่ง ซึ่งดูแลเขตการบิน (Aerodrome Control) 27 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ ดูแลสนามบินเชียงใหม่,เชียงราย ,ลำปาง ,แม่ฮ่องสอน ,2.ศูนย์ควบคุมการบินพิษณุโลกดูแลสนามบินพิษณุโลก เพชรบูรณ์ น่าน แพร่ สุโขทัย ตาก แม่สอด ,3.ศูนย์ควบคุมการบินหัวหินดูแลสนามบินหัวหิน ,ตราด ,4.ศูนย์ควบคุมการบินอุดรธานี ดูแลสนามบินอุดรธานี เลย ,5.ศูนย์ควบคุมการบินอุบลราชธานี ดูแลสนามบินอุบลราชธานี ,ร้อยเอ็ด ,6.ศูนย์ควบคุมการบินนครราชสีมา ดูแลสนามบินนครราชสีมา,บุรีรัมย์ ,7.ศูนย์ควบคุมการบินหาดใหญ่ ดูแลสนามบินหาดใหญ่,ตรัง ,นราธิวาส ,เบตง ,8.ศูนย์ควบคุมการบินสุราษฎร์ธานี ดูแลสนามบินสุราษฎร์ธานี และ9.ศูนย์ควบคุมการบินภูเก็ต ดูแลสนามบินภูเก็ต,ระนอง ,กระบี่
การเตรียมความพร้อมในการรองรับเที่ยวบินที่กำลังเพิ่มขึ้น!!
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป!!!