เกษตรกรเป๋าตุง“ไม้ตัดดอก” ตลาดส่งออกปี 67สดใส สร้างเม็ดเงินกว่า 2,000 ล้าน "รัฐบาล" แนะช่องทางรวยชวนเกษตรกรนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาเพิ่มคุณภาพ สร้างมูลเพิ่ม สร้างรายได้เพิ่มขึ้น
วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม 2568 เวลา 10.00 น. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด MARKETSANDMARKETS ระบุว่า ตลาดไม้ตัดดอกของโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2565 ตลาดไม้ตัดดอกของโลก มีมูลค่า 36,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าถึง 45,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับกล้วยไม้ไทยติดอันดับการส่งออก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน อิตาลี เป็นประเทศที่มีการสั่งซื้อมากที่สุด ในปี 2567 ถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกกล้วยไม้ไทยเข้าสู่ตลาดโลก เพื่อตอบสนองความต้องการในแต่ละประเทศที่ใช้ดอกไม้ไทยในงานเทศกาลและกิจกรรมระดับประเทศ
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการเลือกซื้อ คือ ในหลายประเทศนิยมกล้วยไม้ไทยและดอกไม้ชนิดอื่น ๆ เพื่อนำไปใช้ในธุรกิจบริการ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ตลอดจนงานเทศกาล หรือในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ทั้งนี้ การค้าไม้ตัดดอกของไทย ในปี 2567 ไทยส่งออกไม้ตัดดอก จำนวน 21,135 ตัน มูลค่า 71.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,503 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 2.5% โดยกล้วยไม้ เป็นสินค้าไม้ตัดดอกที่ไทยส่งออกมากที่สุด ปริมาณ 19,129 ตัน มูลค่า 62.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,181 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.4% ตลาดส่งออกกล้วยไม้ที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สหรัฐฯ สัดส่วน 24.7% ของมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ของไทย 2.เวียดนาม สัดส่วน 22.8% 3.ญี่ปุ่น สัดส่วน 17.1% 4.จีน สัดส่วน 12.3% และ 5.อิตาลี สัดส่วน 4.8%
นายอนุกูล กล่าวต่อว่า การผลิตไม้ดอกที่สำคัญของไทย พบว่า 1.กล้วยไม้ มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 196,226 ไร่ ปริมาณผลผลิต 44,080 ตัน พื้นที่ที่ปลูกมากได้แก่ จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และราชบุรี 2.บัวหลวง มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 17,360 ไร่ ปริมาณผลผลิต 22,776 ตัน ปลูกมากในจังหวัดนนทบุรี สุพรรณบุรี และอุบลราชธานี 3.ดาวเรือง มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 3,722 ไร่ ปริมาณผลผลิต 2,844 ตัน ปลูกมากในจังหวัดบุรีรัมย์ นครราชสีมา และจันทบุรี และ 4.กุหลาบ มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 1,063 ไร่ ปริมาณผลผลิต 861 ตัน ปลูกมากในจังหวัดตาก เชียงใหม่ และเชียงราย
“การส่งออกไม้ตัดดอกของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกล้วยไม้ที่สามารถครองตลาดทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถคว้าส่วนแบ่งตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าไม้ตัดดอกและกล้วยไม้ของไทย รัฐบาลพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ใหม่ และการจัดการโลจิสติกส์ ควบคุมคุณภาพการขนส่งตลอดห่วงโซ่อุปทาน พร้อมผลักดันการสร้างชื่อเสียงและความต้องการใช้ดอกไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ได้แก่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสวนดอกไม้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตลอดจนการใช้ดอกไม้ไทยในเทศกาลหรือกิจกรรมสำคัญระดับประเทศและโลก เพื่อสร้างโอกาสการส่งออกไม้ตัดดอกของไทย สร้างรายได้ให้เกษตรกรและนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น” นายอนุกูล กล่าว