ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

...จินตภาพแห่งจิตวิญญาณของชีวิต ตั้งอยู่เหนือเหตุุและผลของความทุกข์สุขใดๆในบริบทของการมีชีวิตอยู่...ภาพสะท้อนของภาวะดังกล่าวจึงเป็นนัยแห่งความเบิกบานแจ่มใส..และ อึดอัดขัดข้องระคนกัน..

"อดีตเบาบาง..ขณะปัจุบันความกลัวถ้าโถม..ความหิวพองตัวกลืนกินตัวเรา..เราไม่รู้จักอิ่ม..เราเป็นไปด้วยความปรารถนา..มากมาย"

..นี่คือปฐมบทอันชวนสนใจจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดล่าสุดของนักเขียนและกวีหญิง “ชาวเหนือ” .. “ปันนารีย์”..

“บนดวงจันทร์อันบรมสุข”

“เหมือนว่า..จะมีแสงจรัสแจ่มอันบรมสุขอยู่บนดวงจันทร์นั้น..แต่คงไม่เหมือนกันหมดทุกคนหรอก..นั่นไง..รองเท้าของเราตอนที่ยังเป็นเด็ก..วิ่งไปบนท้องทุ่งที่มีแต่ความฝัน..ท่ามกลางพระจันทร์กลมโต..งดงาม และไกลแสนไกล” ความรู้ของ “ปันนารีย์” ทอดยาวออกไปไกล..มันคือส่วนผสมของจินตนาการกับรสชาติของความเป็นจริงอันไม่สิ้นสุด..เหตุนี้ภาวะเกี่ยวร้อยในเชิงถ้อยคำแห่งความคิดของเธอ..จึงบังเกิดภาพแสดงที่เป็นความหมายแห่งปริศนาอันแหลมคม ที่จักต้องตีความกันออกมาให้กระจ่าง  ชัดแจ้ง และมีน้ำหนัก..ในสังคมที่เต็มไปด้วยความวกวนในกลไกแห่งการมีชีวิตอยู่เหมือนเช่นในทุกวันนี้..

“พวกเรา..ไม่มีใครโผล่หน้าออกไปข้างนอกกระจก เพราะพากันถอดหน้ากากอนามัยกันฝุ่นออกหมดแล้ว สายคล้องใบหูรัดแน่นจนใบหน้ามีริ้วรอยบิดริ้วบนเนื้อผิว มองคล้ายรอยเล็บปีศาจขยุ้มลงไป..ผู้คนแบกใบหน้าแปลกประหลาดเอาไว้..”

ยุคสมัยแห่งรูปลักษณ์ที่แปลกประหลาดของผู้คน..ถูกนำมาเปิดเรื่องแห่งการเปิดเล่มของเธอในครานี้ “จอห์นวิคในถ้วยกาแฟ” งานข้ามฝันและจริงในความจริงใจแห่งการสร้างสรรค์ในเชิงวิพากษ์ของเธอต่อปรากฏการณ์ของจักรวาลยุคใหม่..ที่ถูกครอบงำไว้ด้วยการกลายร่างและแฝงเร้น..

“..ต่างกลายร่างแฝงเร้นเข้าไปในอากาศ..สีขาวขุ่นจนฝ้าเหลืองที่ลอยอยู่ในอากาศเป็นกลิ่นเหม็นไหม้..พัดรำเพยปะปนอยู่ใกล้ปลายจมูก ไม่รู้ว่าจะทะลุทะลวงออกมาเป็นเลือดทางจมูก” ชีวิตที่กลายร่างคือ..สัญญะแหล่งปัจจุบันที่แสดงถึงตัวตนอันไม่เคยคงที่ ..มันล้วนต่่างถูกบ่อนแซะ..ด้วยปีศาจศัตรูที่อุบัติขึ้นตามยุคสมัยนานา..เป็นเงื่อนงำจำเพาะที่ยากจะควบคุม..แม้เมื่อใด..

“หรือไม่..เราต่างเป็นปีศาจกำลังเคลื่อนไหวตะคุ่มๆอยู่ในหมอกควัน ท่ามกลางแสงแดดอ่อนโยนทาบลงไปตรงนั้นตรงนี้ ผนึกแน่นเป็นหนึ่งเดียว..แล้วเราก็เริ่มหวาดกลัวใบหน้าของตัวเอง..ปีศาจความกลัวเล่นงานอยู่ทุกที่ ตามติดตลอดเวลา...”

เรื่องสั้น..เชิงปฏิกิริยาเรื่องนี้..วกสลับเข้าหาความจริงผ่านความความคิดหวังของชีวิต โลกในตัวตนต้องการการเติบใหญ่..มันขยายขนาดให้เติบโตขึ้นโดยไม่อาจควบคุม แต่สุดท้ายก็ถูกรานรุกจากศัตรูปีกแข็งที่มีอายุยืนยาวที่สุดนั่นคือ "แมลงสาบ"ที่คอยกัดกินและบั่นเซาะ..ความหวังแห่งความฝันลงจนพังทลาย..

ภาพเปรียบเทียบนี้ไขว้สลับไปถึง “จอห์น วิค” ตัวละครสมมติผู้โด่งดังจากการสรรค์สร้างของ “ดีเรค โคลสตาด” ..เขาคือตัวละครในภาพยนตร์แอ็กชันแนว “นีโอ นัวร์” ซึ่งรับบทโดยซูปเปอร์สตาร์ “คีอานู รีฟ”  หายนะแห่งเรื่องสั้น “จอห์น วิคในถ้วยกาแฟ” จึงจบลงอย่างไร้สาระ(absurd) ในถ้วยกาแฟ..เหมือนจะบอกกล่าวภาพแสดงของอะไรบางอย่างแต่กลับปิดฉากลงอย่างหม่นมัว..

“..  เจ้า “จอห์น วิค” มันดิ้นกระเเด่วๆ กระเสือกกระสนอยู่ในน้ำสีน้ำตาลขุ่น..มันอาจตายทันทีที่สำลักความกลมกล่อม..ความตายเสมอภาคเวลานี้เอง นอกนั้นเป็นความปลิ้นปล้อนของความคิด  มนุษย์ ความปรารถนาอันหลากไหล..ราวน้ำท่วมทุ่งไม่รู้สิ้นสุด..จึงไม่รู้จะสงสารใครดีระหว่างถ้วย กาแฟ ตัวเอง หรือ แมลงสาบ”

ภาวะปริศนาอันเลือกไม่ได้ จากบทเปิดเรื่องโยงใยมาถึงบทปิดท้ายในเรื่องสั้นแห่งมโนสำนึกต่อเหตุการณ์อันเป็นเหมือนวิกฤตการณ์ของโลกแห่งยุคสมัย..เป็นยาพิษที่เข่นฆ่ากาลเวลาอย่างเลือดเย็น..

“ปี 2567..เกิดเหตุภัยธรรมชาตขึ้นบ่อย..ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ เหตุการณ์สุดคาดเดาต่างๆไม่เกิดขึ้นมาก่อน..อากาศแปรปรวนเครื่องบินตกหลุมอากาศ..อย่างง่ายดาย..ภูเขาถล่มทับหมู่บ้านจมอยู่ใต้ดิน”

หายนะในความวิบัติจากโลกธรรมชาติที่ไม่คาดคิด..ทำลายความหวังของตัวละคร “ในนามของมนุษย์” ลงจนหมดสิ้น..มันคือวิกฤตแห่งวิกฤตที่ยอกย้อน..ชีวิต..เอาเป็นเอาตายกับธรรมชาติของการดำรงอยู่อย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึง

“หมู่บ้านเล็กๆของเรา..ถูกลมม้วนพัด สายไฟถูกสายไฟร้อยดึงล้มตึงไปทั้งแถบ..หลังคาบ้านปลิวร่อนเบาได้เหมือนกระดาษ คลื่นแม่น้ำสูงเท่าภูเขา..ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแทบไม่ทันกะพริบตา..” จังหวะในเชิงประพันธกรรมของเรื่องสั้น “สะพานที่ฝนตกตลอดเวลา..” กระทบความรู้สึกในลึกล้ำ เห็นภาพพจน์ และ คว้านลึกความรู้สึกกระทั่งก่อเกิดภาวะแห่งความกลุ้มกังวล ดูเหมือนชะตากรรมของโลก..จะถูกตีแผ่และขึงพืดในเรื่องสั้นเรื่องนี้อย่างจริงจังและสุดนัยแห่งอารมณ์

“..ในโลกเดือด ณ ขณะนี้..ความรู้กลายเป็นเรื่องสำคัญมาก..มนุษยชาติเฉลียวฉลาดในการปรับตัวให้เข้ากับโลก..มีวิวัฒนาการไปสู่ความสมบูรณ์..โดยพึ่งพิงความรู้ได้อย่างไร?..ต่อเมื่อ ณ เวลาที่เราจะแยกปัญญาประดิษฐ์กับความรู้สึกออกจากกัน..นี่จึงเป็นเหตุผลว่า..ลูกของฉันควรออกเดินทางไปสู่แห่งหนอื่นเพื่อ..แสวงหาความรู้”

บริบทของโลก ณ วันนี้..คือเมฆหมอกที่กำบังไม่ให้ผู้คนได้มองเห็น..ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า หรือสายน้ำที่เชี่ยวกราก..!

"ฉันหวังว่าวันหนึ่งภาพที่ตั้งใจวาดขึ้นในวันที่ท้องฟ้า ยังมีเมฆขาวเป็นละอองฟองงดงาม ณ ปัจจุบัน..ฉันลองถาม “แอปฯChatGPT “ว่า..ภาพของวาดฉันจะดำรงอยู่หรือจางหายไป..?”

ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย..ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ ..รวมไปถึงเทคนิคการวาดและสภาพแวดล้อมในการเก็บรักษา..

“..หากว่าไม่มีข้อใดที่ตอบว่า ฉันจะดำรงอยู่ในความคิดถึงและความรักของใคร ..นานกว่านี้..ภาพของฉันจะจางหายไปจากอดีต..ฉันไม่เข้าใจอดีตและอนาคตเอาเสียเลย..แล้วฉันก็เผลอเอามือปัดแก้วน้ำหกเลอะเทอะ..ภาพเหมือนสีน้ำที่ชื่อ ..”

“ปันนารีย์” ได้จัดวางตำแหน่งของเรื่องสั้นที่เป็นชื่อเล่มเอาไว้ตรงกลาง..มันคือประเด็นทางความคิดที่ซ่อนเจตจำนงด้านลึกเอาไว้..ผ่านความมีความเป็น ความทุกข์ความสุข ตลอดจน ความเสื่อมสลายและคงอยู่..ผ่านวิถีชีวิตของเพื่อนสาวสามคน ..ที่ชีวิตผ่านความเติบใหญ่ขึ้นมาสู่จุดหมายปลายทาง ดั่งการตกอยู่ในวงรอบแห่งการโคจรของโชคชะตา “บนดวงจันทร์อันอบรมสุข” เรื่องสั้นที่เปิดเปลือยถึงเงาร่างของจิตวิญญาณที่ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมรสุมของโชคชะตาโดยมิอาจขัดขืน..ชีวิตกับการทำลายตัวเองจนต้องจบชีวิต..ชีวิตที่ต้องพิกลพิการด้วยกายลักษณะที่ไม่เท่ากัน..และชีวิตที่เหมือนจะสุขสมหวังแต่ก็ต้องผ่านกระบวนการเลือกสรรเพื่อการมีชีวิตอยู่อย่างมุ่งมั่นจริงจัง..

“ปันนารีย์” สื่อภาวะเปรียบเทียบจากโครงสร้างชีวิตสู่เนื้อในของชีวิต..ได้อย่างเน้นลึก..มันมีปริศนาแฝงอยู่..ขณะที่คำตอบที่ปรารถนาก็สลับซับซ้อนอยู่ในวังวนของการรับรู้..

 “..ใบหน้าของเขาเรียบเฉยเหมือนคนเดินทางผ่านชีวิตมายาวนาน..นานเหมือนโลกเคลื่อนไหวอย่างไม่เต็มใจและปรารถนาอยากมีชีวิตธรรมดาสามัญ..ริมทะเลสาบมีแค่ลมใบไม้พัดไปมา ฉันอยู่ที่นี่ สวยงามและ..ฉันรักที่นี่  เมื่อสงครามเกิดขึ้นหนีไม่พ้นที่ฉันจะเกลียดที่นี่..ไฟคุกรุ่นในใจฉันจะมอดดับวันใดฉันยังไม่รู้..

ฉันรู้เพียงว่า..ฉันยังอยู่ที่นี่ รักที่นี่ และ “สุดแสนจะชอกช้ำ”...”

เรื่องสั้น “ริมทะเลสาบมีแค่เป็นฉากแสดงของลมใบไม้” ..ทั้งงดงาม ทั้งบาดหัวใจสงครามชีวิตที่กัดกินและกลืนกินความดีงามของมนุษย์ไปอย่างยากจะป้องกันและเยี่ยวยา..เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นประหนึ่ง..รอยบาดเจ็บของสิ่งที่เลวร้าย ณ ปัจจุบัน ที่ทวีอัตราความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ..!

..สำนึกเชิงอุดมการณ์ในเรื่องสั้น.. “ซ้ำรอย” ที่เกาะกินใจ..การสูญเสียซ้อนการสูญเสีย..การต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่อย่างมีความหมาย..ที่ปรากฏผ่านนัยแห่งผัสสะอันตราตรึงของชีวิตระหว่างพ่อแม่..ลูกและลูก “ภานุกับภานุ” ในวังวนของความรักของความทรงจำ.. “การสูญเสียอันทบซ้อน” ทำให้ความเศร้าแสนเศร้าเกิดขึ้นแม้จะเข้มแข็งปลดปลง..แต่ชีวิตก็ย่อมจะเปราะบางและสั่นสะท้านได้เสมอ..!

“เมื่อไม่มีอดีตย่อมมีอนาคต..เมื่อไม่มีอนาคตย่อมไร้อดีต..มันเป็นถ้อยคำอ่อนโยนที่พยายามจะใจดีกับตัวเอง พยายามโอบกอดตัวเองเอาไว้..ไม่ให้ร่วงหล่นไปที่ไหนสักแห่ง..ท่ามกลางทุกอย่างที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง..”

..เรื่องสั้น “คุณไม่ได้รับเชิญให้ไปงานศพของฝูงอีกา” คลาคล่ำไปด้วยเรื่องราวแห่งความตายอันน่าสังเวชของฝูงสัตว์ ..ชะตากรรมของพวกเขาเป็นไปอย่างบาดเจ็บหม่นไหม้..แต่กลับกลายเป็นเรื่องดาษดื่นสามัญในวิสัยสำนึกแห่งชีวิตมนุษย์..

“ถ้าฝูงอีกาผู้เคยเป็นนักล่าและนักกำจัดซากสัตว์ในป่า..มาบัดนี้ไม่มีซากศพให้อีแร้งอีกา อีแร้งได้สูญพันธุ์ไปก่อนหน้านี้นานแล้ว..เราหลงเหลืออีกาตาแดง อยู่ตามต้นไม้ในป่าช้า ฝูงอีกาต้องบินมากินซากศพแทน..แต่วิวัฒนาการเตาเผาไฟฟ้า..ก็ยุติบทบาทนักทำลายซากของพวกมันอีกรอบ”

ท่ามกลางภาษาสื่อสารที่งดงาม..ความอ่อนโยนนั้นคล้ายมีคมมีดกรีดเฉือนเนื้อแท้ของความจริง สาระแห่งเรืองสั้นทั้งหมดแม้จะสะพรั่งบานด้วยความงดงาม..และเหมือนจะมีกลิ่นอันหอมหวล..แต่ก็ซ่อนไว้ด้วยคมหนามแห่งชะตากรรมอันบาดลึก..ดั่งฉากประหารของคุณธรรมในโลกมืด..คำเปรียบเปลือยทางภาษาเมื่อคละเคล้ากับฉากแสดงนานาอันเต็มไปด้วยความทบซ้อน..เป็นผลให้ถ้อยคำและเรื่องราวเปี่ยมเต็มไปด้วยภาวะแห่งโศกนาฏกรรมสำนึก “รหัสลับของชีวิต” นับเป็นทุกของผู้บริโภคโดยไม่จำเป็นอุทาหรณ์สอนจริตอันกราดเกรี้ยวจริงจังและถึงเลือดถึงเนื้อในการเขียน..เท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะกลั่นรหัสแห่งความเป็นภาวะแสดงทั้งหมดทั้งสิ้นแห่งชีวิตนี้ออกมา...

“แล้วคืนเดือนแจ้งได้พลิกชีวิตเขา เกลอแก้วที่เติบใหญ่มาด้วยกัน..ถูกแรงระเบิดทำงานผิดพลาด..ราวกับมนุษย์เพียงเท่าเศษเนื้อปลาเท่านั้น..แรงระเบิดจมเรือเหล็กลำใหญ่ลงใต้น้ำ..ร่างของไอ้ดำแหลกเหลว..ลงสู่ใต้น้ำ..สูญเสียมือข้างซ้ายนับแต่นั้น..!”

นี่คือ “รหัสลับของชีวิต” ที่ชะตากรรมไม่อาจควบคุม..เป็นเรื่องสั้นชั้นดีที่ “ปันนารีย์” ผูกโยงกาลแห่งยุคสมัยเข้าด้วยกัน เด็ดเดี่ยวทุกข์ยาก กระทั่งบรรลุสู่ความเป็น “อหังการ์” ในที่สุด..

....เรื่องสั้นทั้งหมดของ “ปันนารีย์” เต็มไปด้วยสาระแห่งชีวิตที่เข้มข้น ภายใต้บรรยากาศอันวิจิตรงดงามแห่งภาษาพรรณนา “ภาษารู้สึก” ของเธอตรึงใจตั้งแต่ชื่อเรื่อง..ผ่านรูปรอยเชิงสุนทรียะ..ไปสู่ขบวนการรับรู้อันประทับใจ..ข้อมูลของเนื้อหาและลีลาแห่งประพันธกรรมของเธอ ..ยกระดับคุณค่าของรวมเรื่องสั้นเชุดนี้ขึ้นมาอย่างมีน้ำหนัก..ด้วยความงามและความหมาย..อันยากจะปฏิเสธ..!

“เรือนร่างของแม่” และ.. “ความมืดของหนึ่งคืนแลการแล่นเรืออกไป” ถือเป็นบทส่งสารอันยาวไกลของ “ปันนารีย์”..ที่แฝงฝังความคิดแห่งศรัทธา..สู่หัวใจของรวมเรื่องสั้นชุดนี้.. “ภายใต้เสียงคร่ำครวญของสัตว์อีกตัวและอีกตัว ..บนเปลวเทียนเดียวกันที่สะท้อนผนังห้อง ..ความฝันมักเกิดขึ้นซ้ำซาก”